กรณีศึกษา AIG ประกันภัยยักษ์ใหญ่ Too Big to Fail ที่รัฐบาล ไม่ปล่อยล้ม

กรณีศึกษา AIG ประกันภัยยักษ์ใหญ่ Too Big to Fail ที่รัฐบาล ไม่ปล่อยล้ม

21 พ.ย. 2023
กรณีศึกษา AIG ประกันภัยยักษ์ใหญ่ Too Big to Fail ที่รัฐบาล ไม่ปล่อยล้ม | MONEY LAB
ในวงการธุรกิจ จะมีบางบริษัทหรือกลุ่มธุรกิจ ที่มีความสำคัญและเชื่อมโยงต่อภาคเศรษฐกิจอย่างมาก
จนทำให้ถ้าหากบริษัทเหล่านี้ล้มละลาย ก็จะเกิดปัญหาต่อภาคเศรษฐกิจอย่างมาก ดังนั้นในหลายกรณี เมื่อบริษัทเหล่านี้เกิดปัญหา รัฐบาลก็จะเข้ามาช่วยอุ้มไว้ เพื่อให้อยู่รอดต่อไป
เราเรียกบริษัทเหล่านี้ว่า “Too Big to Fail”
หนึ่งในตัวอย่างของ Too Big to Fail ที่เป็นที่พูดถึงอย่างมาก ก็คือ “AIG” บริษัทประกันภัยที่เคยใหญ่ที่สุดในโลก ณ ช่วงก่อนเกิดวิกฤติซับไพรม์ ปี 2007-2008
ก่อนหน้านั้น ไม่มีใครคิดว่า AIG บริษัทซึ่งมีมูลค่ามากถึง 5.3 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์อีกกว่า 38 ล้านล้านบาท
จะล้มละลาย ในอีกแค่ 1 ปีต่อมา
จนธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ FED ต้องนำเงินกว่า 5.3 ล้านล้านบาท มาช่วยอุ้ม เพราะบริษัท AIG มีความเชื่อมโยงกับเงินลงทุนของผู้คนจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ในสหรัฐอเมริกา แต่รวมไปถึงธนาคารใหญ่ ๆ ทั่วโลก
แล้วทำไม บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ของโลก ถึงตกต่ำจนแทบเอาตัวไม่รอด ภายในเวลาเพียงแค่ปีเดียว ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
ช่วงก่อนเกิดวิกฤติซับไพรม์ ได้มีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ล่าสุด ที่ชื่อว่า CDO หรือ Collateralized Debt Obligations
โดย CDO เป็นการมัดรวมเหล่าลูกหนี้อสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่เครดิตดี และแย่ เข้าด้วยกัน ออกมาเป็นตราสารทางการเงิน ซึ่งคล้าย ๆ กับหุ้นกู้ ให้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ซื้อขาย
ภายใต้ความเชื่อที่ว่า การผสมระหว่างลูกหนี้เครดิตดี และแย่ เข้าด้วยกัน ทำให้โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ที่เคยสูง จะถูกถัวเฉลี่ยให้ต่ำลง
ในขณะที่ดอกเบี้ยจากตราสาร CDO ก็จะสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป เพราะมีลูกหนี้เครดิตแย่ ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง ๆ รวมอยู่ด้วย
CDO จึงถูกมองว่า เป็นสินทรัพย์ผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงต่ำ จนทำให้ธนาคารทั่วโลก ต่างก็พากันหาซื้อ
และเพื่อให้การลงทุนใน CDO ปลอดภัยขึ้นไปอีก การมีประกันภัยสำหรับการลงทุน ก็ดูจะเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งบริษัทที่รับประกันการลงทุนใน CDO ให้กับธนาคารใหญ่ ๆ ทั่วโลก ก็คือบริษัท AIG นั่นเอง
การรับประกันการลงทุนที่ AIG ทำ เรียกว่า Credit Default Swap หรือ CDS
หลักการของ CDS ก็คล้ายกับประกันทั่วไป นั่นก็คือ ธนาคารผู้ซื้อ CDO จะจ่ายเบี้ยประกันให้กับ AIG ส่วน AIG ก็จะเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายให้ธนาคาร ถ้าหากลูกหนี้เหล่านั้นใน CDO เบี้ยวหนี้
ถ้าหากเรามองจากปัจจุบัน เราก็คงจะสงสัยว่า ทำไมบริษัท AIG ต้องหาเหามาใส่หัวตัวเอง
แต่ต้องเข้าใจว่าบริบทในตอนนั้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น มีผู้คนกู้ซื้อบ้านมากมาย แถมเศรษฐกิจก็กำลังเติบโต
ผู้ที่กู้ซื้อบ้าน จึงไม่น่าจะมีปัญหาในการชำระหนี้ อีกทั้งโอกาสที่ลูกหนี้ทั้งหมดของ CDO จะผิดนัดชำระหนี้ ก็น้อยมาก ๆ เพราะการผสมลูกหนี้เข้าด้วยกัน ก็เป็นการถัวเฉลี่ยความเสี่ยง ไปเรียบร้อยแล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าหากไม่มีอะไรผิดพลาด บริษัท AIG ก็คงจะนอนกินค่าเบี้ยประกัน จากเหล่าธนาคารใหญ่ ๆ ที่มาซื้อ CDS ได้อย่างสบาย ๆ
จนกระทั่งปลายปี 2008 ก็มีการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก ของลูกหนี้ด้อยคุณภาพ หรือที่เรียกว่า “ซับไพรม์” ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในชื่อเรียก ของวิกฤติทางการเงินครั้งนี้นั่นเอง
จากนั้นทุกอย่างก็ล้มตามกันเหมือนโดมิโน ธนาคารหลาย ๆ ธนาคารที่ปล่อยกู้ก็เริ่มขาดทุน ส่วนตราสาร CDO ที่ทุกคนเคยแย่งกันซื้อ ก็ถูกรุมเทขายจนไม่เหลือค่า
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ธนาคารใหญ่ ๆ หลายธนาคาร ได้ซื้อประกัน CDS กับทางบริษัท AIG ไว้ เพื่อคุ้มครองการลงทุนใน CDO
การผิดนัดชำระหนี้มหาศาลแบบนี้ ก็หมายถึงค่าสินไหมมหาศาล ที่ทาง AIG ต้องจ่ายให้กับลูกค้าเช่นกัน..
ด้วยความที่บริษัท AIG ไม่เคยคิดมาก่อนว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น ทาง AIG จึงรับทำประกัน CDS ไว้จำนวนมาก
กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็มีหนี้ที่ต้องจ่ายอยู่เต็มไปหมด
โดยมูลค่าของ CDS ที่ AIG ทำไว้กับลูกค้าต่าง ๆ นั้น มีมูลค่ามากถึง 15 ล้านล้านบาท และลูกค้าของ AIG ก็ไม่ได้มีเพียงแค่ธนาคารในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงธนาคารใหญ่ ๆ ในยุโรปอีกด้วย
เช่น ธนาคาร Société Générale จากฝรั่งเศส, ธนาคาร Deutsche Bank จากเยอรมนี และธนาคาร Barclays จากสหราชอาณาจักร
สิ้นปี 2008 บริษัท AIG จึงขาดทุนอย่างย่อยยับ ไปถึง 3.5 ล้านล้านบาท พร้อมกับมูลค่าบริษัท ที่หายไป 97% จากราคาหุ้นที่ร่วงลงอย่างหนัก
ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาต้องเข้ามาอุ้มกิจการ แลกกับการให้ทางการสหรัฐอเมริกา เข้าถือหุ้นใน AIG 80%
เพราะถ้าบริษัท AIG ล้มละลาย ธนาคารใหญ่ ๆ ในยุโรป และสหรัฐอเมริกา จะพบกับการขาดทุนอย่างหนัก และยังมีผลกระทบไปถึงลูกค้าชาวอเมริกัน ที่ทำประกันกับ AIG อีกกว่า 30 ล้านคน
ถึงจะได้เงินสนับสนุนมาแล้ว แต่ AIG ก็ยังต้องจำใจขายบริษัทลูกอีกหลายบริษัท เพื่อพยุงตัวเอง ไม่ให้ล้มละลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ AIA บริษัทประกันชีวิต ที่ชาวไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
ปัจจุบัน AIA เป็นบริษัทประกันภัย ที่มีมูลค่าตลาดสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ในขณะที่บริษัท AIG ที่เคยเป็นเบอร์ 1 ในตอนนั้น ก็หล่นลงมาอยู่ที่อันดับ 20 และไม่สามารถกลับไปที่เดิมได้อีกเลย
เรื่องนี้ทำให้นึกถึงปรัชญาการทำธุรกิจ แบบไม่ให้เจ๊ง ของคุณไกรสร จันศิริ ผู้ก่อตั้งบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ชื่อว่า “บ่วงอิก”
นั่นก็คือ สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเสียหายทั้งหมด แม้จะมีโอกาสเพียง 1 ใน 10,000 ก็ไม่ควรทำ
การเกิดวิกฤติซับไพรม์ ก็เป็นเหมือนกับ บ่วงอิก ของบริษัท AIG ที่แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ๆ แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว กลับทำให้มูลค่าบริษัทหายไปแทบทั้งหมด แถมยังขาดทุนจนแทบจะเอาตัวไม่รอด
เราจึงไม่ควรชะล่าใจ กับความเสี่ยง เพียงเพราะคิดว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้น เพียงแค่น้อยนิด
เพราะความเสี่ยงเพียงแค่ 1% ก็ยังเคยทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ ที่มีทรัพย์สินกว่าล้านล้านบาท แทบจะล้มละลายมาแล้ว..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.