กรณีศึกษา เด็กมัธยมต้น เลือกหุ้นได้ดีกว่า ผู้จัดการกองทุน - BillionMoney
ในตลาดหุ้นนั้น การจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้สูง จนสามารถเอาชนะดัชนีของตลาดหุ้นได้นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย
กรณีศึกษา เด็กมัธยมต้น เลือกหุ้นได้ดีกว่า ผู้จัดการกองทุน
1 มิ.ย. 2023
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่หลายคนจะนำเงินไปฝากให้ผู้จัดการกองทุน ที่เป็นมืออาชีพ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ เป็นผู้ดูแลให้
เพราะผู้จัดการกองทุน ก็น่าจะมีข้อมูลมากกว่านักลงทุนทั่วไป จึงทำให้น่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า นักลงทุนทั่วไป
แต่รู้หรือไม่ว่า ระหว่างปี 1990-1991 มีกลุ่มเด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้นจากโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่สามารถสร้างผลตอบแทนในตลาดหุ้น ได้สูงถึง 70% จนเอาชนะผู้จัดการกองทุนกว่า 90% ของทั้งประเทศได้
ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกัน ดัชนี S&P 500 ทำผลตอบแทนได้ 26%
ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกัน ดัชนี S&P 500 ทำผลตอบแทนได้ 26%
โรงเรียนแห่งนี้ มีวิธีการลงทุนอย่างไร ถึงสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน ได้สูงขนาดนี้
BillionMoney จะมาอธิบายให้เข้าใจ แบบง่าย ๆ
โรงเรียนที่ว่าก็คือ “โรงเรียนเซนต์แอ็กเนส”
โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เริ่มมาจาก คุณโจแอน มอร์ริสซีย์ คุณครูของโรงเรียนเซนต์แอ็กเนส ที่อยากพิสูจน์ว่า คนธรรมดาทั่วไป ก็สามารถลงทุนในหุ้น แล้วสร้างผลตอบแทนที่ดีได้
ดังนั้นคุณโจแอน จึงได้เริ่มทำการทดสอบกับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้น ในชั้นเรียนที่คุณโจแอนกำลังสอนอยู่
วิธีการก็คือ คุณโจแอนจะแบ่งนักเรียนทุกชั้นปี ออกเป็น 4 ทีม แล้วจำลองสถานการณ์ ให้แต่ละทีม นำเงินประมาณ 8,000,000 บาท ไปลงทุนหุ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา แล้วสุดท้าย ค่อยมาวัดผล ว่าทีมไหนได้ผลตอบแทนสูงสุด
แต่ก่อนที่เด็กนักเรียนเหล่านี้จะเริ่มลงทุนกันนั้น คุณโจแอนก็ได้ให้คำแนะนำแก่นักเรียนว่า
-ให้เริ่มอ่านหนังสือพิมพ์ด้านการเงิน
-สอนการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท และให้นักเรียนตรวจสอบความสามารถในการทำกำไร และจุดแข็งของแต่ละบริษัท
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้สมาชิกของแต่ละกลุ่มพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสม่ำเสมอ ก่อนจะเลือกซื้อหุ้นด้วย
สำหรับการบริหารพอร์ตนั้น คุณโจแอนแนะนำว่า ควรจะมีหุ้นอย่างน้อย 10 บริษัท และจะต้องมีสัก 2 บริษัทที่จ่ายเงินปันผลได้ค่อนข้างดี
โดยเราสามารถสรุปหลักการลงทุนของโรงเรียนเซนต์แอ็กเนส ออกมาง่าย ๆ ได้ดังนี้
1.ลงทุนในสิ่งที่เข้าใจ และต้องสามารถอธิบายออกมาให้คนอื่นเข้าใจได้เหมือนกัน
คุณโจแอน แนะนำนักเรียนในขั้นแรกว่า ก่อนที่จะเลือกซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง เข้าไปอยู่ในพอร์ตนั้น
นักเรียนจะต้องเข้าใจในตัวธุรกิจที่บริษัททำ อย่างถ่องแท้ และต้องสามารถอธิบายรูปแบบธุรกิจของบริษัทนั้น ให้เพื่อน ๆ เข้าใจได้ด้วยเช่นกัน
แต่ถ้าหากไม่เข้าใจและไม่สามารถอธิบายรูปแบบธุรกิจของบริษัท ให้เพื่อนเข้าใจได้ ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อหุ้นตัวนั้น
ตัวอย่างหุ้นของบริษัทที่เด็กนักเรียนเข้าใจ และเลือกลงทุน ก็มีตัวอย่างเช่น
-Nike เพราะรองเท้าของ Nike เป็นที่นิยมของเด็กวัยรุ่น
-Walt Disney เพราะนักเรียนชอบดูการ์ตูนของ Disney
-Pentech เพราะนักเรียนใช้ปากกาที่ผลิตโดยบริษัทนี้
2.มีการกระจายความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ
ในพอร์ตการลงทุนของนักเรียนโรงเรียนเซนต์แอ็กเนส มีการกระจายหุ้นที่จะลงทุนไปในหลากหลายบริษัท ที่ทำธุรกิจที่แตกต่างกัน
เพื่อช่วยลดความเสี่ยง จากการลงทุนแบบกระจุกตัวในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
นอกจากนี้ในพอร์ตก็จะประกอบไปด้วย หุ้นของบริษัทที่จ่ายเงินปันผลค่อนข้างสูง อยู่สัก 2 บริษัท เพื่อช่วยสร้างรายได้แบบ Passive Income ให้กับนักลงทุน
3.ลงทุนหุ้นในระยะยาว ในธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
คุณเบนจามิน เกรแฮม ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า เคยกล่าวไว้ว่า
ในระยะสั้น ตลาดหุ้นคือเครื่องลงคะแนนเสียง แต่ในระยะยาว ตลาดหุ้นคือเครื่องชั่งน้ำหนัก
ในระยะสั้น ตลาดหุ้นคือเครื่องลงคะแนนเสียง แต่ในระยะยาว ตลาดหุ้นคือเครื่องชั่งน้ำหนัก
หรือก็คือ ในระยะสั้น หุ้นจะมีความผันผวนมาก แต่ในระยะยาวแล้ว มูลค่าที่แท้จริงของบริษัท จะสะท้อนมาจากผลประกอบการที่บริษัททำได้ในระยะยาว
ดังนั้น การลงทุนที่ดีเพื่อสร้างความมั่งคั่ง จึงควรเลือกลงทุนแบบระยะยาว ในหุ้นของบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน มีหนี้สินที่น้อย และมีศักยภาพในการเติบโตทั้งรายได้และกำไรสูง
โดยสรุปแล้ว หลักการลงทุน ที่เด็กนักเรียนโรงเรียนเซนต์แอ็กเนส ได้เรียนรู้นี้ก็คือ การเน้นลงทุนในบริษัท ที่เราเข้าใจและสามารถอธิบายรูปแบบธุรกิจ ให้เพื่อน ๆ ฟังแล้วเข้าใจได้เหมือนกันกับเรา
ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงการเน้นลงทุนแบบระยะยาว ในธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน และยังมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอย่างเหมาะสมด้วย
ซึ่งเราก็สามารถเรียนรู้ และนำหลักการลงทุนเหล่านี้ ไปปรับใช้กับแนวทางการลงทุนของตัวเองได้เช่นกัน..
References
หนังสือ Beating the Street (1993) โดย Peter Lynch และ John Rothchild
หนังสือ Stay the Course: The Story of Vanguard and the Index Revolution (2018) โดย John C. Bogle
หนังสือ Common Sense on Mutual Funds: New Imperatives for the Intelligent Investor (1999) โดย John C. Bogle
หนังสือ The Little Book of Common Sense Investing: The Only Way to Guarantee Your Fair Share of Stock Market Returns (2007) โดย John C. Bogle
หนังสือ The Psychology of Money: Timeless Lessons on Wealth, Greed, and Happiness (2020) โดย Morgan Housel
หนังสือ The Simple Path to Wealth: Your road map to financial independence and a rich, free life (2016) โดย J. L. Collins
หนังสือ Stay the Course: The Story of Vanguard and the Index Revolution (2018) โดย John C. Bogle
หนังสือ Common Sense on Mutual Funds: New Imperatives for the Intelligent Investor (1999) โดย John C. Bogle
หนังสือ The Little Book of Common Sense Investing: The Only Way to Guarantee Your Fair Share of Stock Market Returns (2007) โดย John C. Bogle
หนังสือ The Psychology of Money: Timeless Lessons on Wealth, Greed, and Happiness (2020) โดย Morgan Housel
หนังสือ The Simple Path to Wealth: Your road map to financial independence and a rich, free life (2016) โดย J. L. Collins