แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มหกรรมภาครัฐ แย่งเงินทุนเอกชน | MONEY LAB
ประเด็นร้อนทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงนี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาล ที่จะต้องใช้วงเงินสูงถึง 560,000 ล้านบาท
แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มหกรรมภาครัฐ แย่งเงินทุนเอกชน
5 ต.ค. 2023
แล้ววงเงิน 560,000 ล้านบาทนี้ สูงขนาดไหน ?
พูดแบบให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ คิดเป็นครึ่งหนึ่งของหนี้ 1 ล้านล้านบาท ที่ประเทศไทยเคยกู้เมื่อ 26 ปีก่อน เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้ง
โดยตอนนี้ ก็มีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนว่า
-รัฐบาลจะเอาเงินก้อนมหึมานี้จากที่ไหนมาแจก ?
-หรือรัฐบาลจะต้องไปกู้เงินเพิ่มอีก ?
-แล้วนโยบายนี้ทำแล้วจะเกิดประโยชน์อะไร ?
และถ้ารัฐบาลเลือกไปกู้เงิน เพื่อนำมาแจกจ่ายจริง ๆ
ต้นทุนในการทำนโยบายแจกเงินของรัฐบาล มีอะไรบ้าง
ต้นทุนในการทำนโยบายแจกเงินของรัฐบาล มีอะไรบ้าง
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
สิ่งที่เราสังเกตเห็นได้ในตอนนี้ก็คือ ทางรัฐบาลยังคงไม่มีความชัดเจนว่า เงินจำนวน 560,000 ล้านบาท ที่จะนำมาแจกเป็นเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประชาชน คนละ 10,000 บาทนั้น จะเอาเงินมาจากไหนกันแน่
ซึ่งโดยปกติแล้ว แหล่งที่มาของรายได้ภาครัฐ ก็คือการจัดเก็บภาษี
แต่จากข้อมูลรายได้การจัดเก็บภาษี ในปีงบประมาณ 2566 นี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่า เงินภาษีที่รัฐบาลเก็บได้ในปีนี้ ไม่น่าจะเพียงพอต่อการใช้ทำนโยบายแจกเงินเป็นแน่
ผลที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ เมื่อตลาดการเงินรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ ก็ได้คาดการณ์กันเอาไว้แล้วว่า คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่การแจกเงินครั้งนี้ รัฐบาลคงจะต้องกู้เงินแน่ ๆ
แล้วต้นทุนในการกู้เงินครั้งนี้ มีอะไรบ้าง ?
วิธีการที่รัฐบาลจะกู้เงินเพื่อนำเงินมาแจกนั้น มีการคาดการณ์กันเอาไว้ว่า ทางภาครัฐจะออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อมาขอกู้เงินจากประชาชน
เมื่อรัฐบาลออกพันธบัตรมาแล้ว มีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “Crowding Out Effect” ขึ้น
โดย Crowding Out Effect จะส่งผลต่อเนื่อง มาเป็น 2 กรณี
1.ภาครัฐจะมาแย่งเงินทุนจากภาคเอกชน
ในกรณีที่ตลาดทุนมีขนาดเล็ก หรือมีสภาพคล่องต่ำ การที่ทางภาครัฐออกพันธบัตรรัฐบาลมา เพื่อกู้เงินในจำนวนมากเกินไป จะเปรียบเสมือนว่า ทางภาครัฐกำลังไปแย่งเงินทุนจากฝั่งเอกชนอยู่
ทำให้เงินทุนที่เอกชนควรจะได้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง, นำไปใช้ขยายธุรกิจ, เพิ่มการจ้างงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว กลับถูกทางรัฐบาลนำไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นแทน
2.อัตราดอกเบี้ยของตลาดพันธบัตร จะปรับตัวสูงขึ้น และทำให้อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้เอกชน ปรับตัวสูงขึ้นตาม
เมื่อต้องการเงินสูงขึ้น
ราคาของเงิน ซึ่งในที่นี้ก็คือดอกเบี้ย ก็จะสูงขึ้นไปด้วย
ตามหลัก Demand และ Supply
ราคาของเงิน ซึ่งในที่นี้ก็คือดอกเบี้ย ก็จะสูงขึ้นไปด้วย
ตามหลัก Demand และ Supply
และเนื่องจาก พันธบัตรรัฐบาล นับเป็นตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เพราะรัฐบาลถือเป็นลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด และมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้น้อย
ดังนั้น ถ้าเอกชนซึ่งปกติมีความเสี่ยงสูงกว่า จะออกหุ้นกู้ ก็จะต้องให้ผลตอบแทนที่มากกว่า เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูงกว่า จึงทำให้ อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ สูงกว่าของพันธบัตรรัฐบาลเสมอ
เพราะฉะนั้นการที่รัฐบาลออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกู้เงิน และทำให้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้น ก็จะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของเอกชน สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น นั่นเอง
ซึ่งในบางครั้ง อัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่สูงขึ้น อาจไม่จำเป็นต้องรอให้มีการออกพันธบัตรรัฐบาลชุดใหม่
เพราะแค่ตลาดการเงินได้รับรู้ข่าว ก็มีปฏิกิริยาตอบสนองไปก่อนแล้ว ด้วยการเทขายพันธบัตรรัฐบาลออกมา
ส่งผลให้ราคาพันธบัตรร่วงลง
ส่งผลให้ราคาพันธบัตรร่วงลง
เพราะนักลงทุนคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิม
พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ปัญหา Crowding Out Effect ได้เกิดขึ้นแล้ว แม้ทางรัฐบาลจะยังไม่ได้เริ่มทำอะไรเลยก็ตาม
นอกจากนี้หากทางรัฐบาลเลือกกู้เงิน เพื่อนำมาทำนโยบายต่อไป ก็จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทย เพิ่มสูงขึ้น
จะเห็นได้ว่า ในบางครั้งการที่รัฐบาลเลือกกู้เงิน เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ก็อาจจะสร้างความเสียหายโดยรวมต่อประเทศ ในระยะยาวได้ มากกว่าที่เราคิด..
References
ต้นทุนที่ต้องจ่ายจากนโยบายเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาลเศรษฐา 1 โดย วิมุต วานิชเจริญธรรม
KKP Research หนี้สาธารณะไทย โจทย์ใหญ่ภายใต้ความเสี่ยงรุมเร้า