
อธิบาย 4 กลยุทธ์สร้างแบรนด์ ที่นักลงทุนควรรู้ ผ่านเคส MK สุกี้
15 ก.ค. 2025
การออกแบรนด์ Bonus Suki ของทาง MK ซึ่งเป็นร้านบุฟเฟต์สุกี้ ที่มีราคาและเวลาเปิดปิดใกล้เคียงกับคู่แข่ง เป็นสัญญาณว่าสงครามสุกี้ยังคงดำเนินอย่างดุเดือดต่อไป
ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ ไม่ได้มีเพียงลูกค้าที่กำลังจะได้ประโยชน์จากการมีแบรนด์สุกี้ให้เลือกสรรมากขึ้น
แต่ยังรวมถึงนักลงทุนที่กำลังจับจ้อง ว่ากลยุทธ์นี้จะทำให้ MK สุกี้ รักษาระยะห่างในตลาด ไม่ให้คู่แข่งมาตีตื้นไปมากกว่านี้ และกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้หรือไม่
การจะวิเคราะห์เรื่องนี้ได้ เราจึงต้องเข้าใจเกี่ยวกับกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ของธุรกิจต่าง ๆ เสียก่อน
ซึ่งตัวอย่างชั้นดี ก็คือ MK สุกี้ ที่มีการใช้กลยุทธ์สร้างแบรนด์อย่างหลากหลาย ในช่วงที่ผ่านมานั่นเอง
แล้ว MK สุกี้ มีการใช้กลยุทธ์สร้างแบรนด์อะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
1. แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ (Line Extension)
นี่คือกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวันบ่อยที่สุด อย่างเช่น มันฝรั่งทอดกรอบ หรือชาเขียว ในร้านสะดวกซื้อ ที่มีหลายรสชาติ
ซึ่งเป็นการใช้แบรนด์เดิม ออกสินค้าประเภทเดิม เพียงแต่เป็นรูปแบบใหม่ หรือรสชาติใหม่
หัวใจหลักของกลยุทธ์นี้คือ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ และทำให้ธุรกิจโตต่อไปได้ เพราะแม้แบรนด์จะมีสินค้าเดิมที่ติดตลาด แต่ถึงจุดหนึ่งก็จะอิ่มตัว และหาคนมาซื้อเพิ่มเพื่อให้เติบโตได้ยาก
โดยในเคสของ MK สุกี้นั้น อาจจะไม่ได้เป็นการออกรสชาติใหม่อย่างตรงไปตรงมา แต่จะเป็นการที่ MK สุกี้ ได้ทำการออกแบรนด์ย่อย
อย่างเช่น MK Gold ร้านสุกี้ระดับพรีเมียม และ MK Live ร้านสุกี้สายสุขภาพ ที่ยังมีแบรนด์ MK แปะอยู่อย่างชัดเจนเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือประสบการณ์ใหม่ของร้านเหล่านี้ ที่แตกต่างจากร้าน MK สุกี้ แบบเดิม
รวมไปถึงในช่วงนี้ ที่ร้าน MK สุกี้ ค่อย ๆ ขยายสาขาที่ให้บริการบุฟเฟต์ ราคา 299 บาท ก็ถือว่าเป็นกลยุทธ์แตกไลน์ผลิตภัณฑ์เช่นกัน เพราะเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า ด้วยการใช้แบรนด์เดิม
2. ขยายแบรนด์ (Brand Extension)
เมื่อผู้บริโภคไว้วางใจในแบรนด์แล้ว การจะขยายเข้าสู่สินค้าอื่น ๆ โดยใช้แบรนด์เป็นตัวนำ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
เช่น การทำน้ำจิ้มแบรนด์ MK ออกมาขายทั้งที่หน้าร้าน และส่งไปขายในร้านค้าปลีก เช่น 7-Eleven และ Big C
หรือการจับมือกับ CPALL เพื่อผลิตบะหมี่เกี๊ยวกุ้ง โดยใช้แบรนด์ MK เข้าไปขายในร้าน 7-Eleven ที่บริษัท CPALL เป็นเจ้าของอยู่
จะเห็นได้ว่าสินค้าทั้ง 2 อย่างนี้ ไม่ได้อยู่ในตลาดสุกี้เลย ซึ่งนี่เองก็คือหัวใจหลักของกลยุทธ์ Brand Extension
นั่นก็คือการใช้แบรนด์เดิม ไปออกสินค้าประเภทใหม่ ที่ไม่ใช่สินค้าเดิม ๆ ที่ธุรกิจทำอยู่ เพื่อแสวงหาการเติบโตให้กับธุรกิจในตลาดใหม่
และเป็นการกระจายความเสี่ยงไม่ให้ตัวธุรกิจต้องพึ่งพาแค่ตลาดสินค้าไม่กี่อย่างด้วย
3. สร้างแบรนด์ใหม่ (New Brand)
การขยายไปตลาดใหม่ แม้จะมีชื่อเสียงของแบรนด์เดิมหนุนหลัง แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าทำแล้วจะสำเร็จ
และถ้าล้มเหลวไม่เป็นท่าขึ้นมา ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์โดยรวมได้
อีกกลยุทธ์ที่ทำให้แบรนด์สามารถบุกตลาดใหม่ โดยไม่ต้องเสี่ยงเจ็บตัวมากนักก็คือ การสร้างแบรนด์ใหม่ไปเลย
โดย MK สุกี้เอง ก็มีการสร้างแบรนด์ของตัวเอง เพื่อกระจายไปยังตลาดร้านอาหารประเภทอื่น
อย่างเช่น ร้านอาหารญี่ปุ่นก็มี แบรนด์ Hakata และ Miyazaki, ร้านอาหารไทยก็มี แบรนด์ ณ สยาม และ เลอ สยาม
ส่วนแบรนด์ร้านอาหารอื่น ๆ เช่น Yayoi, Hikiniku To Come และ แหลมเจริญซีฟู้ด ที่เป็นการซื้อสิทธิแฟรนไชส์ และซื้อกิจการมานั้น
แม้จะไม่ได้ถูกนับว่าเป็นกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ใหม่ เพราะทาง MK สุกี้ ไม่ได้ปั้นแบรนด์เหล่านี้ขึ้นมาเอง แต่ก็เป็นอีกวิธีในการกระจายความเสี่ยง ไปยังตลาดใหม่ของธุรกิจ เช่นเดียวกัน
4. ออกแบรนด์สู้ (Fighting Brand)
ธุรกิจและการแข่งขันอยู่คู่กันเหมือนแสงและเงา จึงเลี่ยงไม่ได้ที่วันหนึ่งธุรกิจหลัก อาจจะเจอกับคู่แข่งใหม่ที่แม้จะเล็กกว่า แต่สามารถเติบโตได้เร็วกว่า พร้อมทั้งเริ่มกินส่วนแบ่งได้เรื่อย ๆ
การออกแบรนด์ลูกมาสู้ จึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจใหญ่ทำ เพื่อยันการบุกของคู่แข่ง โดยไม่จำเป็นต้องนำภาพลักษณ์ของแบรนด์ และทรัพยากรจำนวนมากลงไปสู้
ส่วนใหญ่แล้ว การออกแบรนด์ลูกแบบนี้ มักจะเป็นการออกแบรนด์ใหม่ ที่ทำธุรกิจแบบเดิม แต่เป็นคนละตลาด ทำให้ไม่ต้องกังวลมากนัก ว่าแบรนด์ลูก จะมากินส่วนแบ่งของธุรกิจหลักไปด้วย
เหมือนอย่างที่ MK สุกี้ ออกแบรนด์ Bonus Suki ที่ราคาและเวลาเปิดปิดใกล้เคียงกับสุกี้ตี๋น้อย และร้านสุกี้อื่น ๆ ที่คล้ายกัน
แทนการเอาร้าน MK สุกี้ ออกไปตั้ง Stand-Alone พร้อมขายในราคาถูก ๆ และเปิดถึงดึกดื่น ซึ่งขัดกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่สั่งสมมา
จะเห็นได้ว่า เพียงแค่ในหนึ่งธุรกิจ ก็มีการใช้กลยุทธ์สร้างแบรนด์ได้อย่างหลากหลาย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะตัดสินว่าแต่ละกลยุทธ์ประสบความสำเร็จหรือไม่ คือตัวเลขเม็ดเงินที่ธุรกิจได้เป็นการตอบแทน ในงบกำไรขาดทุน
รวมไปถึงตัวเลขที่สำคัญอื่น ๆ ของธุรกิจร้านอาหาร อย่างเช่น Same Store Sales Growth ที่แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจสามารถกวาดลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาในสาขาเดิมได้หรือไม่
และถ้าจะให้ดีก็อาจจะรวมไปถึง อัตรากำไร ของแบรนด์ที่ถูกวางให้เป็นพรีเมียมว่าสูงกว่าคู่แข่งแค่ไหน ซึ่งจะเป็นการสะท้อนว่าลูกค้ามองสินค้าของธุรกิจพรีเมียมจริงหรือไม่
ทำให้ถ้าหากเราอยากจะเป็นนักลงทุนที่เก่งขึ้น การรู้แค่ผลลัพธ์สุดท้าย อย่างตัวเลขการเงิน คงยังไม่พอ
แต่ต้องรู้เหตุของผลลัพธ์ อย่างกลยุทธ์ในการทำธุรกิจของผู้บริหารด้วย เพื่อที่เราจะได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเติบโตของบริษัทได้แต่เนิ่น ๆ
เพราะการลงทุนในธุรกิจ ก็เหมือนการยืมมือผู้บริหารสร้างความมั่งคั่งให้กับเรา
การที่ศึกษาให้เข้าใจ ว่าผู้บริหารกำลังทำอะไรอยู่ และจะทำให้บริษัทที่เราฝากความมั่งคั่งไว้ กำลังเดินไปทางไหน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ..
#ธุรกิจ
#หุ้นไทย
#M
References
-รายงานประจำปี 2567 บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)