ตำนานนักเทรด Jesse Livermore มองเห็นอะไร ถึงทำกำไรได้ จากวิกฤติ Great Depression

ตำนานนักเทรด Jesse Livermore มองเห็นอะไร ถึงทำกำไรได้ จากวิกฤติ Great Depression

7 ก.ค. 2025
ในโลกของการลงทุน คุณ Benjamin Graham เป็นที่รู้จักในฐานะบิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า 
แต่อีกฝั่งสายเทรด นักลงทุนระดับตำนานที่เทียบชั้นกันได้ นั่นคือ คุณ Jesse Livermore ผู้เป็นต้นแบบแนวคิด และบทเรียนให้กับเทรดเดอร์รุ่นหลังมานับไม่ถ้วน
ไม่ว่าจะเป็น คุณ Richard Donchian เจ้าของฉายาบิดาแห่ง Trend Following, คุณ William O'Neil เจ้าของแนวคิด CANSLIM รวมถึงคุณ Mark Minervini แชมป์เทรดเดอร์ระดับโลก
ช่วงเวลาที่ชื่อเสียงของเขาโด่งดังไปทั่ววอลล์สตรีต คือในปี 1929 ที่เขากล้าขายชอร์ตหุ้นกว่าล้านหุ้น ในขณะที่ตลาดยังดูดีและคนส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาหุ้นยังจะขึ้นต่อ
เมื่อฟองสบู่แตก นักลงทุนจำนวนมากหมดตัวจนล้มละลาย แต่เขากลับทำกำไรได้กว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นมูลค่าราว 60,000 ล้านบาทในปัจจุบัน 
แล้วตอนนั้นคุณ Jesse Livermore มองเห็นอะไร ทำไมถึงกล้าทำแบบนั้นได้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ 
คุณ Jesse Livermore เริ่มเข้าสู่โลกการลงทุนตั้งแต่อายุ 14 ปี จากการทำงานเป็นเด็กเคาะกระดานซื้อขายหุ้น ในโบรกเกอร์ 
เขาชอบสังเกตพฤติกรรมราคาหุ้น และจดใส่สมุดบันทึกทุกวันหลังเลิกงาน เพื่อหารูปแบบราคาหุ้นที่มักจะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ
เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในปี 1907 จากการขายชอร์ต ที่ทำกำไรถึง 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในวันเดียว จนสถาบันการเงินอย่าง J.P. Morgan ต้องขอให้เขาหยุดขาย เพราะกลัวว่าจะเกิดวิกฤติสภาพคล่องของสถาบันการเงิน
แต่นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น เพราะในปี 1929 เขาก็สร้างประวัติศาสตร์ และโด่งดังขึ้นอีกครั้ง
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายปี 1928 ที่เขาเริ่มมองเห็นสัญญาณของการเปลี่ยนแนวโน้มตลาด
เขาจึงทยอยขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด และทยอยกระจายคำสั่งขายชอร์ตหุ้นขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม ผ่านโบรกเกอร์กว่า 100 แห่ง เพื่อไม่ให้มีใครรู้ว่า เป็นการสะสมสถานะชอร์ตของเขาคนเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้จะคิดการใหญ่แบบนี้ แต่เขาก็ไม่ได้ทุ่มหมดหน้าตักทีเดียว ตรงกันข้าม เขาหยั่งเชิงตลาด ด้วยการทยอยเข้าไม้เล็ก ๆ เพื่อดูว่าตลาดจะตอบสนองอย่างไร
ถ้าตลาดยังขึ้นต่อ เขาจะรีบตัดขาดทุนอย่างรวดเร็ว โดยมีกฎเหล็กคือ จะไม่ยอมขาดทุนเกิน 10% ของเงินทุนที่ลงทุนไปในแต่ละครั้ง 
การทำแบบนี้เป็นการยอมเสียเงินจำนวนเล็กน้อย เพื่อแลกกับข้อมูลที่บอกว่าตลาดยังไม่กลับตัวจริง ๆ 
เขาเปรียบเทียบว่า เหมือนกับการตกปลาที่ต้องอดทนรอ จนกว่าปลาจะกินเบ็ด และเมื่อมั่นใจว่าปลาติดเบ็ด แล้วค่อยดึงเต็มแรง
เขาทำแบบนี้ซ้ำ ๆ อยู่หลายครั้ง จนถึงช่วงกลางปีการขายชอร์ตของเขาถึงเริ่มมีกำไร ซึ่งนั่นคือสัญญาณที่ยืนยันว่าเขาคิดถูก และบอกว่าตลาดกำลังจะเปลี่ยนทิศ เหมือนกับปลาเข้ามางับเบ็ดที่เขาวางไว้ 
และตอนนี้คุณ Jesse Livermore ก็พร้อมที่จะดึงอย่างเต็มแรง..
วันที่ 29 ตุลาคม 1929 ตลาดหุ้นก็ดิ่งลงอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ที่เรารู้จักกันในชื่อ Black Tuesday 
ตอนนั้นดัชนี Dow Jones ร่วงลงเกือบ 30% ภายในไม่กี่วัน ทำให้นักลงทุนจำนวนมากล้มละลาย 
และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก้าวเข้าสู่ยุคมืด เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression
แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น กลับทำให้คุณ Jesse Livermore ได้กำไรกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นมูลค่าราว 60,000 ล้านบาทในปัจจุบัน ภายในระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียว
แล้วเขามองเห็นสัญญาณอะไรบ้าง ถึงกล้าเดิมพันสวนกระแสตลาดขนาดนั้น ?
1. ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นมาอย่างยาวนาน และหุ้นถูกเก็งกำไรจนราคาสูงเกินพื้นฐาน
ในช่วงก่อนปี 1929 นั้น ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะกระทิงที่บ้าคลั่ง ดัชนี Dow Jones เป็นขาขึ้นยาวนานต่อเนื่องถึง 8 ปี และปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่า โดยที่แทบไม่มีการย่อตัวแรงระหว่างทาง
หุ้นจำนวนมากถูกเก็งกำไรจนราคาสูงเกินพื้นฐาน มีการซื้อขายกันที่ P/E สูงถึง 30-60 เท่า ทั้งที่ปกติแล้วหุ้นเหล่านี้เคยซื้อขายกันเพียง 8-12 เท่า เท่านั้น
2. คนธรรมดาทั่วไปต่างก็พูดถึงตลาดหุ้น และคนส่วนใหญ่ซื้อหุ้นด้วยบัญชีมาร์จิน
กระแสการลงทุนแพร่กระจายไปถึงคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นช่างตัดผม พ่อค้าแม่ค้า แม่บ้าน ไปจนถึงเกษตรกร ทุกคนต่างเชื่อว่าหุ้นมีแต่ขึ้น ขึ้น และขึ้นเท่านั้น
อีกทั้งคนส่วนใหญ่ยังเข้ามาลงทุนโดยซื้อหุ้นด้วยบัญชีมาร์จิน ด้วยการวางเงินสดเพียง 10% 
นั่นหมายความว่า แค่มีเงินเพียง 10 บาท ก็สามารถกู้เพิ่มอีก 90 บาท เพื่อซื้อหุ้นมูลค่า 100 บาทได้
คุณ Jesse Livermore มองว่า นั่นคือระเบิดเวลา และเป็นลักษณะคลาสสิกของปลายวงจรฟองสบู่ เพราะสะท้อนว่ามีความคาดหวังเชิงบวกต่อตลาดอย่างสุดขีด
3. หุ้นนำตลาดเริ่มมีแรงขาย
หุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นหุ้นนำตลาด เริ่มมีพฤติกรรมราคาแปลก ๆ ทุกครั้งที่ราคาพยายามขึ้นไปใกล้จุดสูงสุด มักจะเจอแรงขายกดลงทันที เหมือนมีใครรอเทขายอยู่
คุณ Jesse Livermore สังเกตพฤติกรรมนี้อย่างละเอียด และตีความว่า รายใหญ่กำลังทยอยขายหุ้นออกมา ในขณะที่คนทั่วไปยังคิดว่าเป็นแค่การพักฐาน ก่อนจะกลับไปขึ้นต่อ
ซึ่งแนวคิดนี้ก็ตรงกับคำว่า Distribution Phase ที่เรานิยามกันในปัจจุบันว่าเป็นช่วงของการกระจายหุ้นของรายใหญ่นั่นเอง
4. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะยังคงขยายตัว เงินเฟ้อต่ำ และภาคธุรกิจก็ยังมีสภาพคล่องดี
แต่คุณ Jesse Livermore สังเกตเห็นราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักหลายอย่างกำลังปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรและวัตถุดิบต่าง ๆ ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก
เขามองว่านี่คือ สัญญาณของภาวะเงินฝืดอย่างรุนแรง ซึ่งมักจะเกิดก่อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจจริง ซึ่งสะท้อนว่าความร้อนแรงในตลาดหุ้นไม่ได้สอดคล้องกับเศรษฐกิจจริงที่กำลังอ่อนแอ
5. ตลาดเริ่มผันผวนผิดปกติ และการขายชอร์ตของเขาเริ่มมีกำไร
ตลาดที่เป็นขาขึ้นชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา เริ่มเหวี่ยงผันผวนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บางวันตลาดบวกแรง แต่วันต่อมากลับร่วงแรงกว่าโดยไม่มีข่าวอะไร
คุณ Jesse Livermore มองว่าเมื่อแรงซื้อเริ่มอ่อนแรง และแรงขายเริ่มกดตลาดได้มากขึ้น มักแสดงถึงความลังเลของตลาด และอาจเป็นสัญญาณว่า ตลาดกำลังเปลี่ยนทิศทาง
และในช่วงนี้เองการขายชอร์ตที่เขาทยอยเปิดไว้ตั้งแต่ก่อนหน้า ก็เริ่มมีกำไร ซึ่งสัญญาณยืนยันว่าเขาคิดถูกและตลาดกำลังจะเปลี่ยนกลับทิศเป็นขาลง
แม้เรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนี้ จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเกือบ 100 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของคุณ Jesse Livermore ไม่ได้มาจากโชคช่วย แต่มาจากการสังเกต และเข้าใจธรรมชาติของตลาดอย่างลึกซึ้ง 
อันเป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่ยังคงใช้ได้จริง ไม่ว่าตลาดจะผ่านมากี่ทศวรรษแล้วก็ตาม
และเขาได้พิสูจน์ให้เห็นด้วยว่า การลงทุนที่แท้จริงคือ การเข้าใจพฤติกรรมตลาดและจิตวิทยามวลชน ไม่ใช่การพึ่งข่าวลือหรือข่าววงใน..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#JesseLivermore
References
-หนังสือ Jesse Livermore : World's Greatest Stock Trader (2001) โดย Richard Smitten
-หนังสือ Reminiscences of a Stock Operator (1923) โดย Edwin Lefèvre
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.