
สรุป 5 บทเรียนการลงทุน จากยุค Great Depression ที่วันนี้ ผ่านมาเกือบร้อยปี ก็ยังใช้ได้
2 พ.ค. 2025
“ประวัติศาสตร์มิได้เกิดซ้ำ แต่มันมักจะเกิดอย่างคล้ายคลึงกันเสมอ”
คำพูดนี้ มาจากตำนานนักเขียนชาวอเมริกันอย่างคุณ Mark Twain ที่แสดงให้เราเห็นว่า สิ่งใดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ มักจะมีสิ่งที่คล้าย ๆ กันเกิดขึ้นซ้ำเดิมเสมอ
อย่างเช่น นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า ต่อนานาประเทศของประธานาธิบดี Donald Trump ที่ช่างคล้ายคลึงกันกับ นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ในปี 1930 อย่าง Smoot-Hawley Tariff Act
ซึ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจของนานาประเทศทั่วโลก ให้จมดิ่งลงไปสู่มหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เรียกว่า “Great Depression”
จนทำให้หลายคนกังวลว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน จะกลับไปวนซ้ำ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตหรือไม่
แต่ในช่วงเวลาอันมืดมิดนั้น นอกจากจะสร้างความมั่งคั่งให้กับเหล่าผู้กล้าที่ลงทุนในช่วงเวลาแห่งวิกฤติแล้ว
ยังมอบบทเรียนสำคัญในเรื่องการเงิน การลงทุน ที่แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 100 ปีแล้ว แต่นักลงทุนในปัจจุบันก็ยังควรที่จะศึกษา
แล้วบทเรียนการลงทุนเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
แม้จะไม่มีไทม์มาชีนเพื่อนั่งไปดูว่า ระหว่างช่วงเวลาอันแสนยากลำบากนั้น เหล่านักลงทุนเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ทำตัวกันอย่างไร
แต่เราก็สามารถเดินทางข้ามเวลาได้ ผ่านการอ่านหนังสือ The Great Depression: A Diary ซึ่งเป็นบันทึกของคุณ Benjamin Roth
ทนายหนุ่มผู้จดบันทึกสิ่งที่เขาเห็น ตลอดช่วง 10 ปีของวิกฤติ Great Depression อันทำให้เขาได้ตกผลึกแนวคิดด้านการเงิน การลงทุน ทั้งจากการสังเกตพฤติกรรมและการพูดคุยกับผู้คน คนในแวดวงธุรกิจ
โดยบทเรียนที่เขาได้ตกผลึก จากการจดบันทึกตลอดช่วงของมหาวิกฤตินั้น สามารถสรุปได้หลัก ๆ อยู่ 5 ข้อ
1. หลีกเลี่ยงการเก็งกำไร
การลงทุน คือ การนำเงินของเราไปเป็นทุนเพื่อประกอบธุรกิจ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจผ่านการซื้อหุ้น และรอผลตอบแทนที่งอกเงยในระยะยาว
ในขณะที่การเก็งกำไร คือ การคาดหวังว่า ราคาของสิ่งที่เราซื้อไปจะเพิ่มขึ้นมาได้ และกลายเป็นกำไรให้เราในตอนท้าย
จะเห็นได้ว่า 2 คำนี้ มีความหมายแตกต่างกันค่อนข้างมาก แต่ผู้คนมากมายกลับเข้าใจความแตกต่างของ 2 คำนี้ไม่ได้อย่างน่าประหลาด
ทั้งที่การเก็งกำไรนั้น แทบจะไม่มีพื้นฐานอย่าง ผลประกอบการของกิจการ หรือการประเมินมูลค่า มารองรับ จะมีก็เพียงแค่ความคาดหวังว่า ราคาสินทรัพย์จะขึ้นไปเรื่อย ๆ
ก็คงจะดีถ้าโลกนี้ใครคิดอะไรก็ได้สมดังหวัง แต่การเก็งกำไรในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษ 1920 ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเฟื่องฟูนี่เอง ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิกฤติเศรษฐกิจ Great Depression
เพราะในตอนนั้น ผู้คนมองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะมีแต่ขึ้นและขึ้นต่อไปเท่านั้น จนถึงขั้นกู้เงินจากธนาคารมาซื้อหุ้น หรือที่เรียกว่า Margin เพื่อเร่งผลตอบแทน
แต่เมื่อตลาดหุ้นถล่มลงมาในปี 1929 ทุกอย่างก็พังครืนลงมา นักลงทุนเหล่านั้นก็ไม่มีเงินจ่ายคืนให้กับธนาคาร
แถมผู้คนมากมายที่ความมั่งคั่งหายไปกับตลาดหุ้นก็ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย จนฉุดเศรษฐกิจโดยรวมให้ตกต่ำลง
2. ปกป้องเงินต้นไว้เป็นสำคัญ
“ก่อนที่คนคนหนึ่งจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์สักแห่งได้ ก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้ ดูทำเล ค่าเช่าที่จะได้ รวมทั้งจ้างทนายมาตรวจสอบเอกสารสิทธิต่าง ๆ อย่างละเอียด
และเมื่อทำผลตอบแทนได้ประมาณ 6% ตลอด 10 ปี บวกกับกำไรจากการขายบ้านประมาณหนึ่ง เขาก็มองว่าเป็นผลตอบแทนที่น่าพอใจมาก ๆ แล้ว
แต่คนคนเดียวกันนี้เอง เมื่อเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น เขากลับไม่เสียเวลาสืบเสาะ ค้นหาข้อมูล ว่าบริษัทเหล่านั้นทำธุรกิจอะไร และจะไม่พอใจถ้าหุ้นที่ตัวเองถือไว้ ไม่ทำให้เงินโตขึ้นเป็น 2 เท่า ในช่วงเวลาสั้น ๆ”
ข้อความข้างต้น คือหนึ่งในสิ่งที่คุณ Roth จดบันทึกไว้เกี่ยวกับพฤติกรรมของนักลงทุนในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ
ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้การซื้อหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นการลงทุน ที่เราควรจะต้องกลัวพบเจอกับการขาดทุน จนต้องตั้งใจศึกษาและทำความเข้าใจอย่างเต็มที่
แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ กลับไม่เสียเวลานั่งศึกษาการลงทุนในหุ้น เหมือนกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่ใช้เงินลงทุนมาก ๆ อย่างอสังหาริมทรัพย์เสียอย่างนั้น จนโดนความโลภบังตาอย่างเต็มที่
คุณ Roth จึงเน้นย้ำมาก ๆ ว่า เวลาที่เราลงทุนกับอะไร เราควรจะต้องคำนึงถึงการรักษาเงินต้น และหลีกเลี่ยงการขาดทุนก่อนเป็นอันดับแรก
เพื่อที่เราจะได้ศึกษาสิ่งที่จะลงทุนอย่างละเอียด ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และไม่คาดหวังผลตอบแทนมากเกินไปจนความโลภบังตาให้ทำอะไรเสี่ยง ๆ
3. อดทนรอให้เป็น และกล้าเมื่อเห็นโอกาส
ในบันทึกของคุณ Roth นั้น เขาได้ให้ข้อสรุปไว้ว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนสักคนหนึ่งประสบความสำเร็จได้ หนึ่งในนั้นก็คือ “ความอดทน”
ทั้งในการอดทนรอซื้อตอนหุ้นตกลงมาต่ำกว่ามูลค่า
ไม่กระโดดเข้าไปร่วมวงการเก็งกำไร ในตลาดหุ้นที่แพงลิบลิ่วไปแล้วในช่วงก่อนวิกฤติ
และการอดทนรอที่จะขายหุ้น ซึ่งช้อนซื้อมาในช่วงวิกฤติ เมื่อถึงเวลาที่ตัวหุ้นสะท้อนมูลค่าไปมากมายแล้วจริง ๆ หลังเศรษฐกิจฟื้นกลับมา
อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถอดทนรอให้หุ้นตกลงมาหนัก ๆ แต่ถ้าถึงเวลาจริงกลับไม่กล้าเข้าซื้อ ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร นั่นจึงทำให้คุณ Roth มองว่า นักลงทุนควรมีอีกสิ่งควบคู่ไปด้วย นั่นก็คือ “ความกล้า”
เพื่อให้ตัวเองตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าใช้อารมณ์ อย่างการเข้าซื้อหุ้นพื้นฐานดี ที่ผู้คนพากันเทขายด้วยความแตกตื่น
คล้ายกับประโยคคลาสสิกที่ว่า “จงกลัวในวันที่คนอื่นกล้า และจงกล้าในวันที่คนอื่นกลัว” ของปู่ Warren Buffett นักลงทุนระดับตำนาน ผู้ที่ในช่วงมหาวิกฤตินี้ เขาเพิ่งลืมตามาดูโลก
แต่อย่างไรก็ตาม นอกจาก ความอดทน และความกล้าแล้ว องค์ประกอบของการเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ในมุมมองของคุณ Roth ก็คือ
4. มีสภาพคล่องเตรียมพร้อมเสมอ
แม้จะได้ตกผลึกความคิดมามากมาย ทั้งจากการคุยกับคนที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลวจากวิกฤติ Great Depression
จนเขารู้ว่าสภาพตลาดหุ้นตอนนี้ คือโอกาสทองที่นาน ๆ ทีจะมีสักหน เพราะผู้คนพากันถอดใจ ทิ้งให้หุ้นดีราคาถูก มีอยู่เกลื่อนตลาด
แต่สิ่งที่คุณ Roth เจ็บใจก็คือ เขา “มีเงินไม่พอ” ที่จะแบ่งมาลงทุนในตลาดหุ้น เพราะในช่วงเวลานั้น คุณ Roth ก็น่าจะมีภาระมากมายให้รับผิดชอบ
สิ่งนี้เองสะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนและการวางแผนการเงินนั้น ควรจะเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป
เพราะการวางแผนการเงินที่ดี เช่น การมีเงินสำรองฉุกเฉินเพียงพอ รวมถึงการแบ่งเงินไว้ในสินทรัพย์สภาพคล่อง ที่ขายออกมาเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วนั้น
นอกจากจะช่วยให้การลงทุนของเราไม่มีสะดุด จากการต้องจำใจตัดขายหุ้นมาใช้จ่ายในยามลำบากแล้ว
ยังช่วยให้จิตใจของเราสงบนิ่งขึ้น เพราะถึงเราจะขาดทุนหนัก แต่ก็จะไม่กระทบกับชีวิตประจำวันมาก เนื่องจากมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ใช้จ่าย
และที่สำคัญก็คือ เราจะไม่พลาดโอกาสลงทุนในช่วงวิกฤติ แบบคุณ Roth เพราะมีสภาพคล่องเพียงพอ ไว้รอช้อนซื้อหุ้นดีราคาถูกที่หมายตาไว้
5. มีอิสระทางความคิด
ตลอดช่วง 10 ปีของวิกฤติ Great Depression มีอยู่หลายครั้งที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงเป็นพัก ๆ
เช่น ในช่วงกลางปี 1932 ที่ตลาดหุ้นเริ่มฟื้นตัวอย่างรุนแรง เหล่านักวิเคราะห์ก็ออกมาตีฆ้องร้องป่าวว่า นี่แหละคือเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการซื้อหุ้นแล้ว จนเพื่อน ๆ ของคุณ Roth หลายคนก็เข้าไปซื้อหุ้น
แต่สุดท้ายอีก 6 เดือนให้หลัง ตลาดหุ้นก็ปรับตัวลงอีกครั้ง และทำให้เพื่อน ๆ ของคุณ Roth ต้องเจ็บซ้ำสอง หลังเจอกับตลาดหุ้นพังทลายในปี 1929
รวมถึงในช่วงปี 1935 ที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ออกดอกออกผล จนทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เหล่านักเศรษฐศาสตร์ ก็ออกมาทำนายกันอีกครั้ง ว่าวิกฤติครั้งนี้ถึงคราวสิ้นสุดแล้ว
แต่สุดท้ายในปี 1937 ตลาดหุ้นก็ปรับตัวลงหนักอีกครั้ง ซึ่งคุณ Roth ที่จดบันทึกคำทำนายเหล่านี้มาตลอด ก็เขียนในบันทึกของตัวเองด้วยความขบขันว่า ไม่เห็นมีผู้รู้หน้าไหน ทายถูกว่าตลาดหุ้นจะตกเลยสักคน
จนเขาก็ได้ข้อสรุปว่า ในเรื่องการลงทุนนั้น จงใช้วิจารณญาณ และความคิดของตนเอง แทนการเชื่อผู้รู้จะดีกว่า
จะเห็นได้ว่า แม้บทเรียนเรื่องการลงทุนเหล่านี้ที่คุณ Roth ได้มา มีอายุใกล้จะครบ 100 ปีแล้ว
แต่ถ้าเราสังเกตดูจะเห็นได้ว่า แม้ตลาดหุ้นในทุกวันนี้ จะพัฒนาขึ้นมามาก พฤติกรรม ความคิด และการกระทำ ของนักลงทุนในตอนนั้น กลับแทบไม่ต่างกันกับในตอนนี้เลย
เพราะฉะนั้น การพบเจอกับวิกฤติถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่สิ่งที่สำคัญคือ แม้ว่าจะเจอวิกฤติเข้ามา เราก็ควรจะลงทุนต่อไปอย่างมีแบบแผน
เพราะแม้แต่ในวันที่มืดมิดที่สุดของตลาดหุ้น อย่างท่ามกลางมหาวิกฤติ Great Depression ที่ลบมูลค่าของตลาดหุ้นหายไปถึง 79% ในเวลาไม่กี่ปี
แต่คนที่สามารถอดทนรอจังหวะ และมีเงินเก็บเพียงพอ บวกกับความกล้า ในการเข้ามาลงทุน ในตอนท้าย แทบทุกคนต่างก็ได้รับผลตอบแทนที่งดงามเป็นรางวัล..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#GreatDepression
References
-หนังสือ The Great Depression: A Diary (2009) โดย Benjamin Roth