ทำไมหุ้น Google ถึงมีให้ซื้อได้ 2 ตัว ?

ทำไมหุ้น Google ถึงมีให้ซื้อได้ 2 ตัว ?

27 มิ.ย. 2025
ถ้าเราเป็นคนที่สนใจในธุรกิจของ Google และอยากจะเข้าไปหาซื้อหุ้นของบริษัทมาประดับพอร์ตของตัวเองสักหน่อย 
เราอาจจะแปลกใจเมื่อพิมพ์คำว่า Google เพื่อหาหุ้นลงไป แล้วเจอหุ้น 2 ตัวที่มีตัวย่อว่า GOOG และ GOOGL 
แม้หุ้นทั้ง 2 ตัวนี้จะเป็นหุ้นของบริษัท Alphabet เจ้าของ Google และแพลตฟอร์มวิดีโอ YouTube เหมือนกันก็ตาม 
แต่ถึงตรงนี้หลายคนก็อาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า เพราะอะไรบริษัทที่มีแค่แห่งเดียว ถึงต้องมีหุ้นของบริษัทตัวเองให้นักลงทุนซื้อถึง 2 ตัวแบบนี้ด้วย 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ปกติแล้วเวลาที่เราถือหุ้น 1 หุ้น สิ่งที่เราจะได้รับมาด้วยก็คือสิทธิในการโหวตในที่ประชุม เกี่ยวกับการตัดสินใจต่าง ๆ ของบริษัท 1 เสียง
เช่น การจ่ายปันผล, การควบรวมบริษัท, แต่งตั้งผู้สอบบัญชี หรือ โหวตเลือกกรรมการบริษัท เป็นต้น 
นั่นหมายความว่ายิ่งใครมีหุ้นมาก อำนาจในการกำหนดความเป็นไปของบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่ ก็จะมีมากตามไปด้วย 
จนบางครั้ง ถ้าหากมีหุ้นในสัดส่วนที่มากพอ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของบริษัท ให้ต่างจากที่ผู้ก่อตั้งบริษัทตั้งใจไว้ได้เลย 
นั่นจึงทำให้เวลาที่บริษัทต้องการเงินทุน มักจะเลือกกู้เงินก่อน แล้วค่อยวางตัวเลือกในการเพิ่มทุนจากนักลงทุนไว้ท้าย ๆ 
เพราะไม่เพียงแต่ต้นทุนทางการเงินจะถูกกว่า แต่ผู้ก่อตั้งยังรักษาอำนาจควบคุมของบริษัท จากนักลงทุนรายใหม่ด้วย 
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่อยากจะเติบโต ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำบริษัทเข้าไประดมทุนในตลาดหุ้น หรือ IPO ซึ่งจะทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ ๆ เข้ามาถือหุ้นบริษัทอีกมากมาย
ซึ่งวิธีที่จะทำให้บริษัทยังสามารถระดมทุนจากตลาดหุ้นได้อยู่ แต่ไม่ต้องเสียอำนาจควบคุมไป ก็คือการออกหุ้นหลายคลาส อย่างที่บริษัท Alphabet กำลังทำอยู่นั่นเอง
โดยตั้งแต่ตอนที่ IPO ในปี 2004 ทางบริษัท Alphabet ซึ่งตอนนั้นยังชื่อว่า Google อยู่ ก็มีนโยบายตั้งแต่แรกว่าจะแบ่งหุ้นของตัวเองเป็น 2 คลาส 
- คลาส A เป็นหุ้นที่ออกขายให้กับนักลงทุนทั่วไปในตลาด ใต้ตัวย่อหุ้นชื่อ GOOG มีสิทธิโหวต 1 เสียงต่อ 1 หุ้น 
- คลาส B เป็นหุ้นที่ออกให้กับเหล่าผู้ก่อตั้งเดิม ซึ่งจะมีสิทธิโหวตมากกว่า อยู่ที่ 10 เสียงต่อ 1 หุ้น แต่ไม่สามารถซื้อขายในตลาดได้ 
เพื่อที่ 2 ผู้ก่อตั้งอย่างคุณ Larry Page และคุณ Sergey Brin จะได้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางบริษัท ให้ตรงกับวิสัยทัศน์ของตัวเองไปได้ยาว ๆ 
จนกระทั่งในปี 2014 ทางบริษัทที่มีการให้หุ้นเป็นโบนัสกับพนักงานมาตลอด ก็เริ่มมีการออกหุ้นคลาสใหม่ เพื่อให้โบนัสกับพนักงานแทน นั่นก็คือ หุ้นคลาส C ขึ้นมา 
โดยหุ้นคลาส C นั้น จะไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น แต่ก็จะยังคงได้รับปันผลปกติเหมือนหุ้นทั่วไป 
เพื่อไม่ให้อำนาจการโหวตของผู้ถือหุ้นทั้ง คลาส A และคลาส B ลดลง จากการที่ต้องออกหุ้นใหม่เป็นโบนัสให้พนักงาน
และมีการเปลี่ยนตัวย่อหุ้นของ คลาส A เป็น GOOGL และคลาส C เป็น GOOG แทน 
ทำให้สรุปแล้วปัจจุบันนี้ บริษัท Alphabet เจ้าของ Google และ YouTube จะมีหุ้นอยู่ 3 คลาส นั่นก็คือ 
- คลาส A มีสิทธิโหวต 1 เสียงต่อ 1 หุ้น ซื้อขายในตลาดด้วยราคาต่อหุ้นที่แพงกว่าคลาส C ภายใต้ตัวย่อ GOOGL 
- คลาส B มีสิทธิโหวต 10 เสียงต่อ 1 หุ้น ไม่มีให้ซื้อขายในตลาด ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ก่อตั้ง 
- คลาส C ไม่มีสิทธิโหวต มีให้ซื้อขายในตลาดในราคาต่อหุ้นที่ถูกกว่าคลาส A ภายใต้ตัวย่อ GOOG 
ซึ่งการออกหุ้นหลายคลาสแบบนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่ Alphabet เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ใช้วิธีมีหุ้นหลายคลาสเช่นกัน เพื่อรักษาอำนาจของผู้ก่อตั้งบริษัทไว้ 
เช่น META เจ้าของ Facebook และ Instagram หรือ Berkshire Hathaway อาณาจักรการลงทุนของปู่ Warren Buffett 
โดยในตลาดหุ้นไทยของเรานั้น ก็มี DR ให้ซื้อหุ้นของบริษัท Alphabet ได้ทั้งคลาส A และคลาส C ผ่าน DR ชื่อ GOOGL01 โดย บล.บัวหลวง และ GOOG80 โดย บล.กรุงไทย 
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะทราบแล้วว่าหุ้นคลาส A และคลาส C ของ Alphabet นั้น แตกต่างกันในเรื่องสิทธิออกเสียงโหวตในที่ประชุมผู้ถือหุ้น
แต่สำหรับ DR แล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็น DR ของ GOOGL หรือ GOOG จะไม่มีสิทธิโหวตเหมือนกัน แต่ก็ยังได้รับปันผลเหมือนการถือหุ้นทั่วไป 
ทำให้ก่อนจะซื้อ เราอาจจะต้องเปรียบเทียบความแตกต่างในเรื่องของสภาพคล่องของ DR ทั้ง 2 ตัว รวมถึงค่าธรรมเนียม และมูลค่าขั้นต่ำของการไถ่ถอน ในกรณีที่เราอยากจะแปลง DR เป็นหุ้นจริง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ 
ถ้าหากสงสัยว่า ทำไมบริษัทในตลาดหุ้นไทย ไม่มีการแบ่งหุ้นเป็นหลายคลาส เหมือนกับในต่างประเทศบ้าง 
ก็เนื่องมาจากกฎหมายอย่าง พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 102 ประกอบมาตรา 33
ได้ระบุไว้ว่า ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น หุ้นสามัญ 1 หุ้น มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน 1 เสียง เพื่อให้ผู้ถือหุ้นแต่ละคนมีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนเท่าเทียมกัน ตามหลัก 1 หุ้น 1 เสียง 
เพราะฉะนั้นการจะแยกคลาสหุ้น ให้ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมีสิทธิโหวตมากกว่า 1 เสียง ทั้งที่ถือ 1 หุ้น ก็จะเป็นการขัดกับกฎหมายนี้ นั่นเอง..
หมายเหตุ : บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#DR
#DRวันละตัว 
References 
-เอกสารสรุปข้อมูลสำคัญของตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ของ GOOGL01 และ GOOG80
-ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.