
สรุปไอเดียการลงทุน 4 ข้อ จากหนังสือ “เซียนหุ้นกระป๋องกาแฟ”
6 พ.ค. 2025
หนังสือด้านการลงทุนแบบเน้นคุณค่าดี ๆ ในโลกนี้ มีอยู่มากมาย ซึ่งเล่มที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย ก็คงจะหนีไม่พ้นหนังสืออย่าง
- The Intelligent Investor ของคุณ Benjamin Graham
- One Up On Wall Street ของคุณ Peter Lynch
- Common Stocks and Uncommon Profits ของคุณ Philip Fisher
หากเราลองสังเกตดู ก็จะพบว่า หนังสือการลงทุนดัง ๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะเขียนโดยกูรูด้านการลงทุนจากทางฝั่งตะวันตก
แต่รู้หรือไม่ว่า ในประเทศแถบฝั่งตะวันออกอย่างอินเดียเอง ก็มีนักลงทุนเก่ง ๆ ซ่อนอยู่ไม่น้อย และก็ยังมีหนังสือการลงทุนดี ๆ ที่เขียนโดยคนอินเดีย อยู่หลายเล่มด้วย
หนึ่งในเล่มที่น่าสนใจมากก็คือ
“หนังสือ Coffee Can Investing”
หรือชื่อหนังสือแบบแปลไทยก็คือ “เซียนหุ้นกระป๋องกาแฟ”
หรือชื่อหนังสือแบบแปลไทยก็คือ “เซียนหุ้นกระป๋องกาแฟ”
หากสงสัยว่า แล้วไอเดียการลงทุนจากหนังสือเล่มนี้ มีอะไรดี ๆ ที่น่าสนใจบ้าง
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
หนังสือเล่มนี้ พูดถึงเรื่องแนวทางการลงทุนแบบเรียบง่ายชนิดหนึ่ง คือการจัดพอร์ตการลงทุน “สไตล์กระป๋องกาแฟ”
แนวคิดพอร์ตกระป๋องกาแฟ เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1984 โดยคุณ Robert Kirby
คุณ Kirby ได้พบจากประสบการณ์ตรงของตัวเองว่า สมัยที่ยังทำงานเป็นที่ปรึกษาการลงทุน เขาได้แนะนำลูกค้าของเขารายหนึ่ง ให้ซื้อและขายหุ้นพื้นฐานดีตามคำแนะนำของเขา
แต่สิ่งที่ลูกค้าทำ กลับแตกต่างออกไป เพราะลูกค้าได้ซื้อหุ้นตามคำแนะนำของเขาก็จริง แต่กลับไม่เคยขายหุ้นออกมาเลย
แม้ว่าลูกค้าจะไม่ได้ทำตามคำแนะนำแบบเป๊ะ ๆ แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลูกค้าทำได้ กลับสูงมาก
ที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะว่า ในพอร์ตการลงทุนนี้ เต็มไปด้วยหุ้นของบริษัทพื้นฐานดี ที่ได้ผ่านการคัดเลือกมาอย่างรอบคอบแล้ว
ถึงแม้ในพอร์ต อาจจะมีหุ้นที่เลือกผิด จนขาดทุนไปเยอะบ้าง แต่หุ้นที่เลือกได้ถูกตัว กลับมีราคาเพิ่มขึ้นไปสูงมาก
จนทำให้ นอกจากจะชดเชยตัวที่ขาดทุนได้แล้ว ยังทำให้มูลค่าพอร์ตเพิ่มขึ้นไปสูงมากได้อีกด้วย
คุณ Kirby ประทับใจกับแนวทางการลงทุนแบบนี้มาก จึงตั้งชื่อพอร์ตนี้ว่า “พอร์ตกระป๋องกาแฟ (Coffee Can Portfolio)”
โดยที่มาของชื่อนี้ มาจากการที่คนอเมริกันสมัยยุคคาวบอย นิยมเก็บเงินไว้ในกระป๋องกาแฟใต้ที่นอน โดยแทบไม่เคยเอาออกมาใช้ เพราะสมัยนั้น การฝากเงินไว้กับธนาคาร ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก
และแล้ว กาลเวลาก็ผ่านมาถึง 41 ปี แนวคิดพอร์ตกระป๋องกาแฟ ก็ได้แพร่หลายไปทั่วโลก
โดยเมื่อไม่นานมานี้ นักวิเคราะห์ที่อินเดีย ได้ลองทดสอบดูว่า หากนำแนวคิดพอร์ตกระป๋องกาแฟ มาใช้ที่ตลาดหุ้นอินเดียบ้าง จะทำผลตอบแทนได้สูงเหมือนกันไหม ?
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ พอร์ตกระป๋องกาแฟ ยังคงทำผลตอบแทนได้สูงมาก โดยสามารถเอาชนะดัชนี SENSEX ของอินเดีย ได้ในทุกช่วงเวลาที่ทดสอบ..
สำหรับไอเดียการลงทุนดี ๆ ไว้ใช้คัดหุ้นคุณภาพสูง เข้ามาอยู่ในพอร์ตกระป๋องกาแฟของเรา
จากหนังสือเล่มนี้ ก็สรุปออกมาได้เป็น 4 ข้อ..
1. มี ROCE สูงกว่า 15%
ขั้นแรกของการเลือกหุ้นเข้ามาอยู่ในพอร์ตกระป๋องกาแฟ เราจะมองหาบริษัทที่คุณภาพดี มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
ซึ่งตัวชี้วัดหนึ่ง ที่จะช่วยบอกเราได้ว่า บริษัทนี้มีพื้นฐานดี หรือไม่ ก็คือ Return On Capital Employed หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ROCE
ROCE ไว้ใช้ดูว่า บริษัทสามารถนำเงินลงทุนระยะยาว ไปสร้างเป็นผลตอบแทนจากการดำเนินงาน ออกมาได้คุ้มค่า มากแค่ไหน
คำนวณหาโดย
ROCE = [กำไรจากการดำเนินงาน / (ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินระยะยาว)] x 100
ซึ่งในขั้นแรกนี้ เราจะเริ่มจากการกรองหาแต่บริษัทที่มี ROCE สูงกว่า 15% ขึ้นไปเท่านั้น เพราะบริษัทที่ทำ ROCE ได้ในระดับนี้ จะถือว่ามีคุณภาพที่ดีใช้ได้
2. รายได้เติบโต ปีละ 10%
หลังจากผ่านขั้นตอนแรก คือการกรองหาบริษัทคุณภาพดี ที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ออกมาได้แล้ว
ต่อมาก็คือ การกรองต่ออีกชั้นหนึ่ง โดยจะเลือกเฉพาะบริษัทที่สามารถสร้างรายได้ ให้เติบโตอย่างน้อยปีละ 10% ในหลายปีข้างหน้า
เพราะต่อให้บริษัทจะมีความสามารถในการแข่งขัน จนทำ ROCE ได้สูงก็จริง แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ
เพราะถ้าเราเผลอไปลงทุนในบริษัทที่แทบจะไม่เติบโตแล้ว โอกาสที่เราจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูง ๆ ก็จะมีน้อยลง
ดังนั้น ในขั้นตอนนี้ เราก็ยังจะต้องตัดตัวเลือกต่อไป โดยให้เหลือแค่บริษัท ที่เราเชื่อว่า รายได้จะเติบโต ปีละ 10% ขึ้นไป
3. เข้าใจความแตกต่าง ของธุรกิจแต่ละประเภท
ถึงแม้ ROCE จะเป็นเครื่องมือในการช่วยกรองหุ้นของบริษัทคุณภาพดี ให้กับเราได้ก็จริง แต่เราก็ควรต้องเข้าใจถึงที่มาของตัวเลข ROCE กันด้วย
เพราะ ROCE ที่เราเห็น จริง ๆ แล้วมีที่มา และหากเราเจาะลึกลงไปจนเข้าใจ ก็จะช่วยให้เราเห็นความเป็นจริงของโลกธุรกิจ ได้ลึกซึ้งขึ้นด้วย
โดยคุณปู่ Warren Buffett ตำนานนักลงทุนของโลก ได้เคยอธิบายไว้ว่า แต่ละบริษัทในโลกนี้ จะมีธรรมชาติของธุรกิจไม่เหมือนกัน
โดยสามารถแบ่งออกมาได้เป็น 3 ประเภท
- ธุรกิจใช้เงินลงทุนต่ำ แต่ทำ ROCE ได้สูง
บริษัทประเภทนี้ มักจะเป็นบริษัทที่มีความโดดเด่นมาก เช่น มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ทำให้มีอำนาจในการกำหนดราคาได้
รวมถึงมีอำนาจในการต่อรองสูง โดยสามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าได้เร็ว หรือสามารถดึงเงินจ่ายเจ้าหนี้การค้า ได้ช้าลง
บริษัทที่เข้าประเภทนี้ นับเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสดชั้นดี ให้กับผู้ถือหุ้น เพราะใช้เงินลงทุนไม่มากเพื่อสร้างการเติบโต เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดที่บริษัททำได้
- ธุรกิจใช้เงินลงทุนสูง แต่ก็ทำ ROCE ได้สูง
บริษัทประเภทนี้ อาจจะไม่ได้โดดเด่นเท่าประเภทแรก เพราะบริษัทยังต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เป็นระยะ ๆ เพื่อให้ยังมีความสามารถในการแข่งขันต่อไป
แต่ก็ยังถือว่าลงทุนได้ ตราบเท่าที่ การลงทุนของบริษัท ยังสร้างการเติบโต และทำ ROCE ได้สูงไปเรื่อย ๆ
- ธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง แต่กลับทำ ROCE ได้ต่ำ
บริษัทประเภทสุดท้ายนี้ เป็นบริษัทที่ต้องหลีกเลี่ยง เพราะมักจะทำลายความมั่งคั่งของเจ้าของกิจการ
ธรรมชาติของบริษัทแบบนี้ ต่อให้จะอัดเงินลงทุนในธุรกิจไปมากมายแค่ไหน ก็จะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาได้คุ้มค่าเลย
บริษัทแบบนี้ จะไม่มีวันแข็งแกร่งพอจะไปแข่งขันกับใครได้ และแถมเงินลงทุนที่ใช้ไป ก็มักจะมากกว่าเงินสดที่บริษัทได้รับกลับมา
นั่นจึงจะส่งผลให้ เป็นการบั่นทอนความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นไปเรื่อย ๆ นั่นเอง
4. อยู่เฉย ๆ ดีที่สุด
หลังจากที่เราได้รู้จักแนวทางการเลือกหุ้นพื้นฐานดี เพื่อเอาเข้าพอร์ตกระป๋องกาแฟ เรียบร้อยแล้ว
ขั้นตอนที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การถือหุ้นเหล่านี้ ในสัดส่วนที่เท่ากัน เป็นเวลาอย่างน้อยอีก 10 ปี โดยไม่ต้องไปทำอะไรอีกเลย
เพื่อไม่ให้เป็นการขัดขวาง พลังของการทบต้น..
เพราะหากเราเข้าไปซื้อขายบ่อยจนเกินไป ก็อาจจะทำให้เราพลาด จนเผลอขายหุ้นดี ๆ ที่มีโอกาสจะเติบโตได้หลายเท่า ออกไปจากพอร์ตได้
ซ้ำร้าย ถ้าเราเลือกเก็บหุ้นไว้ผิดตัว นอกจากจะขายหมูหุ้นเติบโตแล้ว ยังต้องพบการขาดทุน จากหุ้นแย่ที่เก็บไว้ ให้ชอกช้ำใจอีกด้วย
และนอกจากนี้เอง การซื้อขายหุ้นบ่อย ๆ จะทำให้เราต้องเจอกับค่าธรรมเนียม ที่จะมาแอบกัดกินผลตอบแทนของเราไปเรื่อย ๆ
แม้ว่าในระยะสั้น ค่าธรรมเนียมเหล่านี้ อาจจะดูไม่มากสักเท่าไร แต่เมื่อสะสมไปในระยะยาว กลับจะลดทอนพลังของการทบต้น ไปมากเลย
ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุด สำหรับแนวทางการลงทุนแบบนี้ ก็คือ การอดทนถือหุ้นคุณภาพดีเหล่านี้ ต่อไปอีกยาวนาน โดยไม่กลับไปแตะต้องพอร์ตกระป๋องกาแฟอีก
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า บทความนี้ก็น่าจะมอบไอเดียการลงทุนดี ๆ ให้กับเราได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
ภายในหนังสือ “เซียนหุ้นกระป๋องกาแฟ” เล่มนี้ ยังมีเรื่องราวน่าสนใจอีกมากมาย ที่เป็นประโยชน์ รอให้มีคนไปหยิบมาพลิกอ่านทีละหน้า ๆ
หากเราสนใจ ก็สามารถไปลองซื้อหามาอ่านกันดูได้ เพราะหนังสือดี ๆ สักเล่ม สามารถเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนความคิด และสุดท้ายอาจจะเปลี่ยนชีวิตของผู้อ่านได้
เฉกเช่นเดียวกับ หุ้นดี ที่เติบโตต่อเนื่อง ก็สามารถเปลี่ยนสถานะทางการเงินของนักลงทุน ไปตลอดกาลได้เช่นกัน..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#เซียนหุ้นกระป๋องกาแฟ
Reference
- Coffee Can Investing: The Low Risk Road to Stupendous Wealth (2018) โดย Saurabh Mukherjea