6 ด้านมืดในจิตใจ ที่ต้องกำจัดไป เพื่อเป็นนักลงทุนเหนือชั้น แบบ Howard Marks

6 ด้านมืดในจิตใจ ที่ต้องกำจัดไป เพื่อเป็นนักลงทุนเหนือชั้น แบบ Howard Marks

24 เม.ย. 2025
ในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นผันผวน เด้งขึ้นเด้งลงเป็นลูกปิงปองแบบนี้ ก็ทำให้นักลงทุนหลายคนถึงกับเมาหมัดจนตัดสินใจไม่ถูก 
แต่สำหรับนักลงทุนที่มีจิตใจที่มั่นคงแล้ว ความผันผวนของตลาด กลับถือเป็นโอกาสสำหรับพวกเขา ที่จะทำกำไรจากเหตุการณ์ที่ไม่ปกตินี้ 
เช่นเดียวกันกับคุณ Howard Marks นักลงทุนระดับตำนาน ที่สามารถมองหาโอกาสในตลาดหุ้นได้ ทั้งในช่วงฟองสบู่ดอตคอมช่วงปี 2000, วิกฤติซับไพรม์ช่วงปี 2008 รวมถึงวิกฤติโรคระบาดในปี 2020 ด้วย 
ซึ่งหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทำให้คุณ Howard Marks สามารถมองหาโอกาสท่ามกลางวิกฤติได้เสมอ ก็คือระบบคิด และวิธีการในการควบคุมจิตใจของตัวเอง จนเขาสามารถเป็น “นักลงทุนเหนือชั้น” ได้ 
และถ้าหากเราสงสัยว่า คุณ Howard Marks มีวิธีควบคุมจิตใจของตัวเอง ในการลงทุนอย่างไร ? 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ในเรื่องการลงทุนนั้น หลายคนมักจะมุ่งเป้าไปที่การฝึกฝน วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิธีอ่านงบการเงิน วิธีการประเมินมูลค่าหุ้น หรือการวิเคราะห์โมเดลธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณ Howard Marks นั้น เขามองว่าสิ่งที่ทำให้คนเราผิดพลาดที่สุดในเรื่องการลงทุน ไม่ใช่การวิเคราะห์ผิด หรือได้ข้อมูลไม่ครบ 
ในทางกลับกัน มันคือการที่เราไม่สามารถต่อสู้กับ “ด้านมืด” ในจิตใจของเราต่างหาก เพราะไม่ว่านักลงทุนคนไหนต่างก็วิเคราะห์ข้อมูลเหมือนกันได้ 
แต่น้อยคนนักที่จะควบคุมจิตใจอันแสนว้าวุ่นของตัวเอง ให้นำข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ ไปใช้ตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง
ซึ่งด้านมืดในจิตใจของนักลงทุน ที่คุณ Howard Marks มองว่ามันเป็น “ธรรมชาติของมนุษย์” ที่ทำให้เราผิดพลาดในการลงทุนอยู่บ่อย ๆ นั่นก็คือ
1. ความโลภ
แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ก็ย่อมอยากจะทำให้เงินของตัวเองเติบโตขึ้น และสร้างความมั่งคั่งจากการลงทุน 
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะความปรารถนาในเงินทอง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ทั้งตลาดหุ้น และเศรษฐกิจ เดินหน้าต่อไปได้ แต่ความปรารถนาที่มากเกินไปนี้เอง ก็จะแปรเปลี่ยนเป็นความโลภ 
และความโลภนี้เองก็จะบดบังสามัญสำนึก ทำให้เรามองข้ามความเสี่ยง และลืมแม้แต่ความเจ็บปวดจากการขาดทุนในอดีตด้วย 
จนผลักดันให้นักลงทุนหลาย ๆ คน แห่นำเงินไปลงทุนในหุ้นยอดนิยม และถือมันต่อไปแม้มันจะแพงมากแล้ว เพราะหวังว่าราคามันจะขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็เจ็บตัว 
2. ความกลัว 
หลาย ๆ คนมักจะสับสนระหว่างความระมัดระวังกับความกลัว เพราะมันเป็นการที่เราไม่อยากจะเข้าไปเสี่ยงเหมือนกัน 
แต่สิ่งที่ทำให้ความกลัว แตกต่างจากความระมัดระวังนั่นก็คือ ความกลัว เป็นการที่เราตื่นตกใจและกังวลมากเกินไป จนทำให้เราไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยเหตุผล
เหมือนกับตอนที่เราเห็นว่า หุ้นที่เรากำลังติดตามและศึกษามาอย่างดี ราคาร่วงลงมาถึงจุดที่เราประเมินมูลค่าไว้แล้ว แต่ในใจของเรากลับบอกว่าอย่าเข้าไปซื้อ 
เพราะเห็นว่าสภาพตลาดไม่ดี จึงกลัวจะเอาตัวเองเข้าไปรับมีด จนสุดท้ายแล้ว ก็ได้แต่นั่งมองโอกาสลงทุนดี ๆ ที่นาน ๆ ทีจะได้เห็นสักหนนั้น ผ่านพ้นไป 
3. แนวโน้มที่จะละเลยความเป็นเหตุเป็นผล     
บางครั้งเราอาจจะเคยพบเจอกับ นักลงทุนสักคนที่เจ็บหนักกับหุ้นตัวหนึ่ง แต่เมื่อกลับมาได้ก็ยังมาเจ็บหนักกับหุ้นอีกตัวหนึ่งได้อีก ราวกับไม่เคยได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง
สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเมื่อความโลภบังตา เรื่องราวของบริษัทที่เหมือนจะดีจนเกินจริง ก็จะดูเป็นเหตุเป็นผลไปหมด หรือราคาหุ้นที่แพงแล้วแพงอีก ก็ดูจะถูกเกินไป เมื่อเทียบกับการเติบโตในอนาคตที่ฝันไว้
รวมไปถึงวิธีคิดในเรื่องการลงทุนของเราก็จะบิดเบี้ยวไปด้วย เพราะเราจะพยายามมองหาแต่สูตรสำเร็จ ที่เราจะหลับตาโยนเงินเข้าไปแล้วทำให้ตัวเองรวยขึ้นได้ จนสุดท้ายทั้งหมดนี้ก็จะนำไปสู่การขาดทุน 
เหมือนกับประโยคของคุณ Warren Buffett ที่ว่า “ราคาที่พุ่งขึ้นก็เหมือนของมึนเมา ที่ส่งผลกับพลังในการคิดเป็นเหตุเป็นผลอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการคิดไปข้างหน้า หรือคิดย้อนกลับ” 
4. คล้อยตามฝูงชน 
ถ้าเพื่อนในกลุ่มทุกคนยกเว้นตัวเราเอง มีหุ้นยอดนิยม ที่ใครต่อใคร ต่างก็บอกว่าเป็นสุดยอดหุ้น อยู่ในพอร์ตกัน ความคิดแรกที่แล่นเข้ามาในหัวของเราก็คือ “เรากำลังพลาดอะไรอยู่หรือเปล่า ?” 
แต่ความคิดของคนส่วนใหญ่นั้น เป็นความคิดที่ถูกต้องเสมอไป จริง ๆ หรือ ? 
เพราะอย่างที่เราได้เห็นไปในข้อที่แล้วว่า นักลงทุนทุกคนเมื่อความโลภบังตา ก็สามารถโดนภาพลวงตาอันสวยหรู เล่นงานได้เสมอ
ทำให้สุดท้ายเราก็ติดกับดักของอคติที่เรียกว่า “Lemming Effect” ที่ในหลายครั้งคนส่วนใหญ่แค่เชื่อตาม ๆ กันไป จนสุดท้ายก็ขาดทุนกันถ้วนหน้า เหมือนเจ้าเลมมิง ที่พากันเดินตามฝูงจนตกหน้าผาไปด้วยกัน 
5. ความอิจฉา 
เราจะรู้สึกหดหู่ใจทันที เมื่อหันไปเจอเพื่อนข้าง ๆ ที่ทำผลตอบแทนได้ 200% ในปีที่แล้ว ทั้งที่ในปีก่อน เราเองก็ลงทุนชนะได้ทั้งดัชนีหุ้นไทย และดัชนี S&P 500 ด้วยผลตอบแทน 25% 
ถ้าหากเราไม่รู้เท่าทันตัวเอง เราอาจจะละทิ้งหลักการลงทุนเดิม ที่ก็ทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว ไปเสาะหาวิธีลงทุนที่เสี่ยงมากขึ้นอย่างไม่จำเป็น เพียงเพราะอยากจะได้ผลตอบแทนมาก ๆ แบบนั้นบ้าง
ทั้งที่ในความเป็นจริงสิ่งที่เราควรโฟกัสในการลงทุนก็คือ ผลตอบแทนที่เราทำได้นั้น จะนำเราไปสู่เป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจไว้ได้หรือไม่ แทนที่จะไปเอาชนะคนอื่น เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี 
เหมือนกับที่คุณ Charlie Munger เคยกล่าวไว้ว่า “ความอิจฉา เป็นบาปที่โง่เง่าที่สุด เพราะคุณไม่มีทางได้สนุกกับมัน และมีแต่รั้งความเจ็บปวดไว้กับตัวเอง” 
6. ความทะนงตน
หรือที่เรียกกันว่า “อีโก” นั้น จะทำให้เรารู้สึกดีมาก ๆ เมื่อทุกสิ่งออกมาเป็นอย่างที่คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเป็นคนที่คิดถูก ในขณะที่คนอื่น ๆ คิดผิด
แต่ในอีกด้านหนึ่ง อีโก ก็จะย้อนมาทำร้ายเราอย่างสาหัส เมื่อเราเองเป็นฝ่ายที่คิดผิดบ้าง แต่ก็ยังไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดไปแล้ว 
อย่างเช่น ถ้าเราซื้อหุ้นที่ศึกษามาดีมาก ๆ และคิดว่ามันจะต้องสะท้อนมูลค่าและราคาวิ่งขึ้นไปแน่ ๆ แต่ความจริงแล้ว ราคาของมันกลับไหลลงเรื่อย ๆ แต่เราเองก็ไม่ยอมขาย เพราะคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก 
ทำให้กว่าเราจะคิดได้ว่าเราผิดและยอมแพ้ หุ้นที่เราถืออยู่นั้น ก็ราคาไหลลงมามากแล้ว จนยากที่เราจะกู้เงินที่เสียไปคืนมา 
จากทั้งหมดนี้เองจะเห็นว่า สิ่งที่จะแยกนักลงทุนเหนือชั้น ออกจากนักลงทุนทั่ว ๆ ไป กลับไม่ใช่โมเดลการประเมินมูลค่าอันแสนซับซ้อน, การเข้าถึงข้อมูลมหาศาลแบบเรียลไทม์ หรือทักษะการวิเคราะห์ธุรกิจ
แต่กลับเป็นการจัดระบบความคิดในหัว เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกทั้งของตัวเอง และตลาดอยู่เสมอ
เพราะไม่ว่าเราจะศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลข มาได้อย่างสุดยอดมากเพียงใดก็แล้วแต่ สุดท้ายสิ่งที่บังคับนิ้วของเราให้กดซื้อขาย ก็ยังอยู่ที่อารมณ์และความรู้สึกในหัวของเราอยู่ดี 
ซึ่งในช่วงเวลาที่ความไม่แน่นอนปกคลุมไปทั่วตลาดนั้น การมีจิตใจที่มั่นคงก็ยิ่งสำคัญ 
เพราะไม่มีใครรู้ และควบคุมได้ ว่าตลาดหุ้นในวันพรุ่งนี้ อีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า จะเป็นอย่างไร 
แต่สิ่งที่เราทำได้เลยทันที คือการเตรียมจิตใจของตัวเอง ไม่ให้หวั่นไหว และรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ตัดสินใจบนพื้นฐานของสิ่งที่ควรทำจริง ๆ 
เหมือนกับที่คุณ Howard Marks ได้เคยกล่าวไว้ในปี 2001 ท่ามกลางตลาดหุ้นที่ร่วงเละเทะหลังฟองสบู่ดอตคอมแตกว่า 
“อนาคตนั้นคุณไม่สามารถทำนาย แต่สิ่งที่คุณทำได้คือเตรียมตัว” 
นั่นเอง.. 
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#จิตวิทยาการลงทุน
References 
-หนังสือ The Most Important Thing (2011) โดย Howard Marks  
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.