
อธิบาย Altman Z-Score เครื่องมือสแกน บริษัทเสี่ยงล้มละลาย แบบเข้าใจง่าย ๆ
6 มี.ค. 2025
ในโลกของการลงทุน การวิเคราะห์สุขภาพทางการเงินของบริษัท ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม
ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถช่วยประเมินความมั่นคงทางการเงินของบริษัท และสามารถคาดการณ์ความเสี่ยงล้มละลายล่วงหน้า
แถมยังได้รับการยอมรับจากวงการบัญชี ธุรกิจ รวมถึงนักลงทุนทั่วโลก ก็คือ Altman Z-Score
Altman Z-Score คำนวณอย่างไร
และช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงล้มละลายได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
Altman Z-Score ถูกพัฒนาโดยศาสตราจารย์ Edward Altman ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ซึ่งต่อยอดมาจากแนวคิด Z-Score ทางสถิติ
โดยใช้ข้อมูลจากงบการเงินเพื่อวิเคราะห์ว่าบริษัทมีโอกาสที่จะล้มละลายมากน้อยแค่ไหน
ซึ่งจากผลการทดสอบกับบริษัทในสหรัฐฯ ช่วงปี 1970-1999 พบว่า สามารถทำนายว่าบริษัทจะล้มละลายภายในระยะเวลา 1 ปี ได้แม่นยำถึง 80-90%
โดยการที่เราจะคำนวณหา Altman Z-Score นั้น สามารถคำนวณได้จากสูตร
Altman Z-Score = 1.2A + 1.4B + 3.3C + 0.6D + 1.0E
โดยเหล่าตัวอักษรภาษาอังกฤษต่าง ๆ ในสูตร Altman Z-Score นั้น
ก็คือความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัท 5 ด้าน ที่ศาสตราจารย์ Altman ใช้ประเมินความเสี่ยงในการจะล้มละลายของบริษัทนั่นเอง ได้แก่
1. ด้านสภาพคล่องของบริษัท (A)
คำนวณจาก (สินทรัพย์หมุนเวียน - หนี้สินหมุนเวียน) / สินทรัพย์รวม
อัตราส่วนนี้ดูว่า บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ในกิจการเพียงพอหรือไม่ สำหรับการดำเนินธุรกิจ
หากค่าที่ได้สูง หมายความว่า บริษัทมีสภาพคล่องดี สามารถชำระหนี้ระยะสั้นได้ และยังมีเงินเหลือไว้ใช้หมุนเวียนในกิจการด้วย
แต่หากค่าที่ได้ต่ำ อาจหมายถึง บริษัทมีปัญหาด้านการจัดการสภาพคล่อง จนอาจต้องพึ่งพาการกู้ยืม
และอัตราส่วนนี้ยังสามารถมีค่าติดลบได้ด้วย หากสินทรัพย์หมุนเวียนมีมูลค่าน้อยกว่าหนี้สินหมุนเวียนมาก ๆ ซึ่งสะท้อนปัญหาสภาพคล่องที่รุนแรง
2. ด้านความสามารถในการทำกำไรระยะยาว (B)
คำนวณจาก กำไรสะสม / สินทรัพย์รวม
อัตราส่วนนี้จะดูว่า บริษัทมีกำไรเก็บสะสมไว้มากน้อยแค่ไหน
หากได้ค่าสูง หมายความว่า บริษัทมีกำไรสะสมเพียงพอ สามารถลงทุนขยายกิจการโดยใช้เงินทุนของตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้มากนัก
หากได้ค่าต่ำ อาจหมายถึง บริษัทต้องพึ่งพาการกู้เงินในการขยายกิจการ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงทางการเงิน
อย่างไรก็ตามบริษัทที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งมักจะมีอัตราส่วนนี้ต่ำ เนื่องจากมีระยะเวลาในการสะสมกำไรสั้นกว่า
แต่แม้บริษัทที่มีอายุยาวนาน แต่ถ้าประสบภาวะขาดทุนติดต่อกันหลายปี ก็สามารถมีค่าอัตราส่วนนี้ต่ำได้เช่นกัน
3. ด้านความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงาน (C)
คำนวณจาก กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี / สินทรัพย์รวม
อัตราส่วนนี้ดูว่า บริษัทสามารถใช้สินทรัพย์สร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี กลับคืนมาได้ดีแค่ไหน
หากได้ค่าสูง หมายความว่า บริษัทสามารถใช้สินทรัพย์สร้างกำไรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากได้ค่าต่ำ แสดงถึง ความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ที่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงทางการเงิน
ตัวชี้วัดนี้คล้ายกับ ROA (Return on Assets) แต่แตกต่างกันที่ ROA ใช้กำไรสุทธิในการคำนวณ ขณะที่ Altman Z-Score ใช้กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษีแทน
4. ด้านความมั่นคงทางการเงิน (D)
คำนวณจาก มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด / หนี้สินรวม
อัตราส่วนนี้ดูว่า บริษัทมีหนี้สินมากเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับมูลค่าบริษัทตามราคาตลาด หรือ Market Cap
หากได้ค่าสูง แสดงว่า บริษัทมีหนี้สินในสัดส่วนที่น้อย แต่ถ้าหากได้ค่าต่ำ อาจสะท้อนว่า บริษัทมีภาระหนี้สินที่สูงเกินไปแล้ว เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดของบริษัท
5. ด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน (E)
คำนวณจาก ยอดขาย / สินทรัพย์รวม
อัตราส่วนนี้ดูว่า บริษัทสามารถใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ ไปสร้างรายได้กลับมาอย่างมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน
ซึ่งอัตราส่วนนี้ก็คือ อัตราส่วนหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Assets Turnover) นั่นเอง
หากได้ค่าสูง แสดงว่า บริษัทสามารถใช้สินทรัพย์ที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริษัทไม่จำเป็นต้องใช้สินทรัพย์มากในการขยายธุรกิจ
หากได้ค่าต่ำ หมายความว่า บริษัทใช้สินทรัพย์ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สร้างรายได้กลับคืนมาได้น้อย
เมื่อรู้ว่าเราจะต้องใช้ตัวเลขอะไรบ้าง และคำนวณอย่างไรแล้ว ก็ถึงเวลาแปลความหมายของ Altman Z-Score
โดยค่า Altman Z-Score ที่เราได้นั้น จะบอกเราว่าบริษัทมีความเสี่ยงที่จะล้มละลายมากแค่ไหน
- ค่า 3 ขึ้นไป หมายถึง บริษัทมีความมั่นคงทางการเงินสูงมาก
- ค่า 1.8 ถึง 2.9 หมายถึง ความมั่นคงทางการเงินของบริษัท อยู่ในช่วงที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
- ค่าน้อยกว่า 1.8 หมายถึง บริษัทมีโอกาสในการล้มละลายหรืออาจต้องเพิ่มทุน
ถ้ายังไม่เห็นภาพ เราลองมาดูตัวอย่างการคำนวณกัน
โดยจากงบการเงินปี 2024 ที่ผ่านมา บริษัท A ซึ่งมี Market Cap 465,000 ล้านบาท มีตัวเลขการเงินดังนี้
- สินทรัพย์รวม 945,000 ล้านบาท
- สินทรัพย์หมุนเวียนรวม 230,000 ล้านบาท
- หนี้สินรวม 625,000 ล้านบาท
- หนี้สินหมุนเวียนรวม 140,000 ล้านบาท
- กำไรสะสม 105,000 ล้านบาท
- รายได้รวม 990,000 ล้านบาท
- กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี 50,000 ล้านบาท
ทำให้เราสามารถคำนวณอัตราส่วนต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการหา Altman Z-Score ได้ตามนี้
- อัตราส่วน A = (230,000 - 140,000) / 945,000 = 0.09 เท่า
- อัตราส่วน B = 105,000 / 945,000 = 0.11 เท่า
- อัตราส่วน C = 50,000 / 945,000 = 0.05 เท่า
- อัตราส่วน D = 465,000 / 625,000 = 0.74 เท่า
- อัตราส่วน E = 990,000 / 945,000 = 1.04 เท่า
Altman Z-Score บริษัท A = (1.2 x 0.09) + (1.4 x 0.11) + (3.3 x 0.05) + (0.6 x 0.74) + (1.0 x 1.04) = 1.91
หมายความว่า ณ ตอนนี้ ถ้าใครกำลังถือหุ้นบริษัท A อยู่ ก็ควรจะต้องจับตามอง ความมั่นคงทางการเงินของบริษัท A อย่างใกล้ชิดได้แล้ว
แต่ถ้าหากเราไม่อยากคำนวณเองแบบนี้ ก็สามารถดูค่า Altman Z-Score ได้ง่าย ๆ ผ่านเว็บไซต์ TradingView ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามแม้ว่า Altman Z-Score จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยประเมินความเสี่ยงล้มละลายได้อย่างแม่นยำ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้เหมาะที่จะใช้กับทุกอุตสาหกรรม
เพราะ Altman Z-Score จะใช้ได้ดีกับธุรกิจในภาคการผลิตหรืออุตสาหกรรมที่มีสินทรัพย์ถาวรสูง เช่น บริษัทที่ลงทุนในเครื่องจักร เครื่องมือ หรือเป็นบริษัทที่มีสินค้าคงคลังจำนวนมาก
แต่อาจจะไม่เหมาะกับธุรกิจที่มีสินทรัพย์ไม่มาก และธุรกิจที่เน้นการใช้ทรัพยากรมนุษย์มากกว่าเครื่องจักร เช่น เหล่าบริษัทเทคโนโลยี
รวมถึงบริษัทที่มีโมเดลธุรกิจ แบบรับเงินมาก่อน ซึ่งทำให้มีเจ้าหนี้การค้าจำนวนมาก เมื่อคำนวณออกมา เงินทุนหมุนเวียนจึงติดลบ ทั้งที่ไม่ได้ขาดสภาพคล่อง
เพราะจะทำให้เราแปลความ ความเสี่ยงที่จะล้มละลายของบริษัท ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงได้
และไม่สามารถใช้ได้กับสถาบันการเงินอย่างธนาคาร เพราะมีโครงสร้างทุนแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป
สุดท้ายแล้วในการใช้งานเราควรต้องดูโครงสร้างทางการเงินและลักษณะของธุรกิจร่วมด้วยเสมอ
เพราะไม่ว่าเครื่องมือจะแม่นยำแค่ไหน ก็ควรต้องใช้ควบคู่กับบริบทของธุรกิจ เพื่อให้การลงทุนอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านที่สุด..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#AltmanZScore
References