ไขข้อสงสัย กดซื้อขายกองทุนวันนี้ จะได้ราคาของวันไหน แบบเข้าใจง่าย ๆ

ไขข้อสงสัย กดซื้อขายกองทุนวันนี้ จะได้ราคาของวันไหน แบบเข้าใจง่าย ๆ

13 ก.พ. 2025
เวลาซื้อหุ้นสักตัว เราสามารถตั้งราคาหรือเคาะซื้อได้ทันทีตามราคาที่เห็นในตลาด
เช่น ในหน้าจอขึ้นโชว์ว่าหุ้นราคา 10 บาท ถ้าหากเรากดซื้อหุ้นที่ราคา 10 บาท แล้วมีคนขาย เราก็จะได้ซื้อหุ้นที่ราคา 10 บาท
แต่เวลาที่เราซื้อกองทุนรวม ราคา NAV ที่เราเห็น กลับไม่เป็นแบบนั้น เพราะราคา NAV ที่แสดงอยู่ในหน้าจอของเรานั้น เป็นราคาในอดีต ไม่ใช่ราคาที่เราจะได้เข้าซื้อขายหลังจากกดคำสั่งไป 
ทำให้ราคาที่เราจะได้ซื้อขาย ไม่ตรงกันกับ NAV ที่แสดงอยู่บนหน้าจอ
แล้วถ้าหากสงสัยว่า เราส่งคำสั่งซื้อขายกองทุนตอนนี้ จะได้ซื้อกองทุนที่ราคาของวันไหน ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ 
ก่อนอื่นเลยมาทำความเข้าใจเรื่อง NAV กันก่อน
NAV ย่อมาจาก Net Asset Value 
หรือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
หมายถึง มูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวม รวมถึงผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่กองทุนได้รับจากการลงทุน หักด้วยค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุนรวมนั้น
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ
สมมติว่ากองทุนรวม X ถือครองสินทรัพย์ คือ
- หุ้น A 100 หุ้น ราคาหุ้นละ 50 บาท มูลค่า 5,000 บาท
- หุ้น B 200 หุ้น ราคาหุ้นละ 25 บาท มูลค่า 5,000 บาท
- เงินฝากธนาคาร มูลค่า 2,000 บาท
และมีจำนวนหน่วยลงทุน 1,000 หน่วย  
เมื่อรวมมูลค่าหุ้น A, หุ้น B และเงินฝากธนาคาร ที่กองทุน X ถืออยู่ ก็แปลว่ามูลค่าสินทรัพย์รวม เท่ากับ 12,000 บาท 
และเมื่อหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนก็จะได้ NAV เท่ากับ 12 บาทต่อหน่วยนั่นเอง 
ซึ่ง NAV เปรียบเสมือนมูลค่าทางบัญชี หรือ Book Value ของกองทุนที่สะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์สุทธิ
โดยปกติแล้ว การคำนวณ NAV จะอ้างอิงจากมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามราคาตลาดในแต่ละวัน 
เช่น ถ้าราคาหุ้นที่กองทุนถืออยู่ปรับตัวสูงขึ้น NAV ก็จะเพิ่มขึ้นตาม หรือถ้าราคาหุ้นปรับตัวลง NAV ก็จะลดลงตามไปด้วย
และจะทำการคำนวณทุกสิ้นวันเพื่อสะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงในขณะนั้น ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า Mark to Market 
แล้วเวลาซื้อกองทุน เราจะได้ราคา NAV หรือไม่ ?
คำตอบคือ ไม่เสมอไป 
เพราะ NAV เป็นเหมือนราคากลางที่ใช้เป็นราคาอ้างอิง
แต่เวลาซื้อกองทุน เราจะได้ราคา Offer หรือราคาขาย 
ซึ่งอาจจะเท่ากับหรือสูงกว่า NAV เล็กน้อย เนื่องจากรวมค่าธรรมเนียมในการซื้อไว้แล้ว
ส่วนเวลาขายกองทุนจะได้ราคา Bid หรือราคารับซื้อคืน
ซึ่งอาจจะเท่ากับหรือต่ำกว่า NAV เล็กน้อย เพราะอาจมีการหักค่าธรรมเนียม
กลับมาที่คำถามสำคัญที่หลายคนสงสัยคือ NAV ที่เราเห็นบนหน้าจอเป็นของวันไหน ? 
คำตอบก็คือ NAV เป็นราคาที่คำนวณหลังตลาดปิดในแต่ละวัน โดยปกติจะมีวันที่ระบุไว้ใกล้ ๆ อย่างชัดเจน
และเพื่อตอบคำถามที่ว่า ถ้าเรากดซื้อขายกองทุนในวันนี้ จะได้ราคาวันไหน ลองมาดูตัวอย่างกันให้เห็นภาพ
ข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของ กองทุน K-US500X-A(A)
ระบุไว้ว่า 
- วันประกาศ NAV คือ T+2 วันทำการ
- ระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน คือ T+3 วันทำการ
โดย T ย่อมาจาก Transaction Date คือวันที่เราส่งคำสั่งซื้อขายกองทุน
และตัวเลขที่ตามหลัง T (เช่น T+2 หรือ T+3) หมายถึง จำนวนวันทำการถัดไป โดยไม่นับรวมวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดของกองทุน
ทำให้เมื่อเราหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาส่งคำสั่งซื้อตอนเช้าวันจันทร์ 
- ราคา NAV บนหน้าจอที่เราเห็นในวันจันทร์ จะเป็นราคาที่คำนวณหลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดในคืนวันพฤหัสบดีที่แล้ว ตามหนังสือชี้ชวนที่บอกว่าจะประกาศราคา NAV ทุก T+2  
- พอกดส่งคำสั่งซื้อขายเสร็จ กองทุนจะนำเงินของเราไปเข้าซื้อหุ้นให้เราในคืนวันจันทร์ และคำนวณราคา NAV เมื่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิด
- แต่เราจะทราบราคา NAV ที่เราซื้อได้ใน T+2 คือวันพุธ
และหากเราส่งคำสั่งขายตอนเช้าวันพุธ 
- ราคา NAV บนหน้าจอคือราคาที่คำนวณหลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดในคืนวันจันทร์ 
- เราจะทราบราคา NAV ที่เราขายได้ใน T+2 คือวันศุกร์
- เงินค่าขายคืนจะโอนเข้าบัญชีเราในวันที่ T+3 คือวันจันทร์ เพราะติดวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
แต่ทั้งนี้ตอนที่เราส่งคำสั่งซื้อขายต้องทำก่อนเวลาปิดรับคำสั่ง (Cut-off time) ของกองทุนนั้น ๆ ถ้าเราส่งหลังเวลาที่กำหนด คำสั่งจะถูกนับเป็นของวันถัดไปแทน
อย่างไรก็ตาม กองทุนแต่ละกองทุน อาจมีระยะเวลาที่ต่างกันในแต่ละกองและแต่ละ บลจ. ดังนั้นเราควรตรวจสอบข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของกองทุนที่สนใจทุกครั้ง
อ่านถึงตรงนี้ก็จะเห็นแล้วว่าทำไมการซื้อขายกองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศถึงต้องรอนานกว่า 
นั่นก็เพราะเรากดส่งคำสั่งซื้อขายตามเวลาของไทย แต่ต้องรอให้ตลาดต่างประเทศเปิดและปิดในคืนนั้นก่อน จึงจะสามารถคำนวณราคา NAV ที่แท้จริงได้
ทำให้สรุปแล้ว ถ้าจะซื้อกองทุนต่างประเทศ ราคาที่เราได้ซื้อจึงไม่ใช่ราคา NAV บนหน้าจอ ที่คำนวณ ณ สิ้นวันก่อนหน้าที่เราซื้อขาย 
แต่ราคาที่ได้ซื้อจริง ๆ จะเป็นราคาที่คำนวณ ณ สิ้นวันในอีก 2 ถึง 3 วันข้างหน้า 
ต่างจากกองทุนที่ลงทุนในไทยหรือประเทศใกล้เคียงที่รู้ราคา NAV ได้เร็วกว่า เพราะตลาดปิดในเวลาเดียวกันนั่นเอง..
#ลงทุน
#กองทุน
#NAV
References
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.