สรุปธุรกิจ Sumitomo บริษัทยักษ์ใหญ่ อายุ 400 ปี ของญี่ปุ่น ที่มี (อดีต) พระ เป็นผู้ก่อตั้ง

สรุปธุรกิจ Sumitomo บริษัทยักษ์ใหญ่ อายุ 400 ปี ของญี่ปุ่น ที่มี (อดีต) พระ เป็นผู้ก่อตั้ง

8 พ.ย. 2024
“พยายามทำทุกอย่างให้สุดความสามารถ ในทุกสถานการณ์ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องธุรกิจเท่านั้น และขัดเกลาให้ตัวเราสร้างบุคลิกภาพที่น่าเชื่อถือมากกว่ามุ่งเน้นรายได้ รวมทั้งมีความซื่อสัตย์สุจริตและรอบคอบ”
ประโยคนี้เป็นหนึ่งใน “หลักคำสอนของผู้ก่อตั้ง” อันเป็นปรัชญาการทำธุรกิจของ Sumitomo ตั้งแต่ยังเป็นร้านหนังสือเล็ก ๆ ในเมืองเกียวโตเมื่อ 400 ปีที่แล้ว
มาจนถึงวันนี้ที่ Sumitomo กลายเป็นหนึ่งในอาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น เหล่าผู้บริหารทุกคนในบริษัทลูกต่าง ๆ ของ Sumitomo ก็ยังคงยึดมั่นในคำสอนนี้อย่างไม่เสื่อมคลาย  
โดยปัจจุบันนี้ Sumitomo ก็ประกอบธุรกิจหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจเหล็ก ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจขนส่ง
รวมไปถึงธุรกิจธนาคารอย่าง Sumitomo Mitsui Financial Group ที่เราสามารถเป็นเจ้าของได้ในตลาดหุ้นไทย ผ่านการซื้อ DR ชื่อว่า SMFG19
และถ้าหากสงสัยว่า Sumitomo มีเส้นทางอย่างไร ถึงทำให้ธุรกิจอยู่ยั้งยืนยงมาได้นานถึง 400 ปีแบบนี้ ? 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
บริษัท Sumitomo แรกเริ่มเดิมทีเป็นแค่ร้านหนังสือและร้านขายยาเล็ก ๆ ในเมืองเกียวโต ที่ก่อตั้งโดยอดีตพระสงฆ์ชื่อว่า Masatomo Sumitomo เมื่อปี 1615 หรือก็คือตั้งแต่ประเทศไทย ยังเป็นอาณาจักรอยุธยาอยู่เลย
แต่จุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของ Sumitomo นั้น เริ่มมาจากการที่พี่เขยของคุณ Masatomo ชื่อว่าคุณ Riemon Soga พัฒนาการถลุงทองแดงแบบตะวันตก ที่สามารถสกัดเอาเงินออกมาจากทองแดงดิบได้จนสำเร็จ
จากนั้นก็ขยายกิจการถลุงทองแดงจากเมืองเกียวโต ไปยังโอซากา จากนั้นก็ตามมาด้วยการแตกธุรกิจจากการค้าทองแดง ไปเป็นการค้าเส้นด้าย น้ำตาล และยา
นอกจากนี้ แม้จะเจอกับปัญหาทางการเงินในช่วงสั้น ๆ จากราคาทองแดงที่ตกลงหนัก ในยุคสมัยเมจิ ซึ่งตรงกับช่วงยุครัชกาลที่ 5 ของประเทศไทย  
แต่ Sumitomo ก็สามารถแตกธุรกิจของตัวเองออกไปเพิ่มอีก ได้แก่ การทำป่าไม้ การทำเหมืองถ่านหิน การก่อสร้าง เครื่องจักร เคมี การผลิตสายไฟ รวมถึงธุรกิจธนาคาร และประกันภัยด้วย 
เมื่อมีธุรกิจในมือมากมายขนาดนี้ก็ทำให้ Sumitomo กลายเป็นหนึ่งใน “ไซบัตสึ” หรือกลุ่มทุนทรงอิทธิพล ที่หนุนหลังรัฐบาลญี่ปุ่น ร่วมกันกับตระกูล Mitsui, Mitsubishi และ Yasuda 
อย่างไรก็ตาม Sumitomo ก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากอีกครั้ง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง 
สหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้ชนะ ก็พยายามกำจัดอิทธิพลของกลุ่มไซบัตสึ ด้วยการยึดทรัพย์สิน ปรับโครงสร้างองค์กร และแยกธุรกิจลูกบางแห่งออกมา
ถึงอย่างนั้น Sumitomo ก็ยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มทุนใหญ่ที่เหลือรอด และรวมตัวกันกับกลุ่มทุนอื่น นอกเหนือจาก 4 ตระกูลแรกเริ่มอย่าง Fuyo, Sanwa และ Dai-Ichi Kangyo เป็นกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า “เคเรตสึ” อีกครั้ง 
พร้อมทั้งพาประเทศญี่ปุ่นฟื้นตัวจากบาดแผลของสงครามได้อย่างรวดเร็ว และสร้างปาฏิหาริย์เศรษฐกิจญี่ปุ่น หรือ Japanese Economic Miracle 
ปัจจุบันนี้ธุรกิจของ Sumitomo ก็ยังเติบโตอยู่เรื่อย ๆ โดยการเติบโตในบางครั้ง ก็อาจจะด้วยการควบรวมบริษัทของกลุ่มทุนเก่าอื่น ๆ บ้าง 
เช่น ธนาคารของ Sumitomo เอง ก็ได้ทำการควบรวมกับธนาคาร Sakura Bank ซึ่งเป็นบริษัทที่เกิดจากการควบรวมของธนาคาร Mitsui Bank กับธนาคาร Taiyo Kobe Bank
และเกิดเป็น Sumitomo Mitsui Financial Group ธนาคารที่ปัจจุบันใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น ด้วยสินทรัพย์กว่า 60,414,765 ล้านบาท แถมยังขยายสาขาไปทั่วโลกด้วย 
ปัจจุบันนี้แม้จะผ่านมาเนิ่นนานถึง 400 กว่าปีแล้วก็ตาม แต่ธุรกิจเหล็กที่ Sumitomo เชี่ยวชาญ ก็ยังคงเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของเครือบริษัทเหมือนเดิม 
เห็นได้จากสัดส่วนรายได้บริษัท Sumitomo Corporation ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ดูแลธุรกิจอุตสาหกรรมอยู่ ในงบปี 2023 (1 เมษายน 2022 ถึง 31 มีนาคม 2023) ที่ผ่านมา 
- ธุรกิจเหล็ก 25.2% 
- ธุรกิจเหมืองแร่ พลังงาน เคมี และไฟฟ้า 23%
- ธุรกิจขนส่ง และการก่อสร้าง 20%
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 17.4% 
- ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน 7.3%
- ธุรกิจสื่อและดิจิทัล 7.1% 
และด้วยการที่มีธุรกิจแกนกลางที่ชัดเจน และแข็งแกร่ง แม้จะทำธุรกิจหลายอย่างแบบนี้ ก็ทำให้ Sumitomo เป็นที่สนใจของนักลงทุนเป็นอย่างมาก 
เช่น คุณ Warren Buffett ที่เข้ามาลงทุนในบริษัท Sumitomo รวมถึงบริษัทกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2020 พร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นขึ้นไปอีก ในต้นปีที่ผ่านมา 
ตามด้วยเฮดจ์ฟันด์ชื่อดังอย่าง Elliott Investment Management ที่เคยได้กำไรจากการฟ้องร้องรัฐบาลอาร์เจนตินา และอดีตเจ้าของทีมฟุตบอล AC Milan 
ก็เข้ามาลงทุนในบริษัท Sumitomo เช่นกัน 
จากทั้งหมดนี้เองจะเห็นได้ว่า สิ่งที่ทำให้ธุรกิจของ Sumitomo ยืนหยัดผ่านวิกฤติต่าง ๆ มาได้นานมากกว่า 400 ปีแบบนี้ 
นอกจากการมีธุรกิจแกนกลางที่แข็งแกร่ง ซึ่งสร้างมาจากความถนัดที่สั่งสมมานานหลายศตวรรษแล้ว 
ก็คือหลักการบริหาร ซึ่งส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ที่ทำให้ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม ทุกบริษัทในเครือ 
Sumitomo จะยังคงทำงานอย่างสุดความสามารถต่อไป 
ไม่ต่างกันกับวันแรกที่ผู้ก่อตั้ง เริ่มสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับ Sumitomo เมื่อ 400 กว่าปีที่แล้ว..  
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#DR
#DRวันละตัว
References 
-รายงานประจำปีบริษัท Sumitomo Corporation FY2023
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.