
พระ วัด มีรายได้ ต้องเสียภาษีไหม ? โอกาสทุจริตเงียบ ๆ ใต้ร่มเงาความศรัทธา
17 ก.ค. 2025
ช่วงนี้มีหลายข่าวโยงมาที่วงการสงฆ์ ทั้งเรื่องสีกา ที่พัวพันกับพระชั้นผู้ใหญ่ ไปจนถึงเจ้าอาวาสวัดดัง ที่ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินไปเล่นพนันหลายร้อยล้านบาท
แม้อาจดูต่างกรรมต่างวาระ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ แบบนี้ ก็กำลังทำให้ “ความศรัทธา” นั้นสั่นคลอน และถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อย ๆ
แม้เบื้องหน้าคือ ความเชื่อและความศรัทธา
แต่เบื้องหลังคือ เรื่องเงินและการบริหารจัดการเงิน
เพราะทุกวันนี้วัดไม่ได้เป็นเพียงศูนย์รวมจิตใจของคนเพียงอย่างเดียว หลายวัดยังกลายเป็น “ศูนย์รวมรายได้ที่มีมูลค่ามหาศาล”
โดยมีการประมาณการว่าตลาดการกุศลของไทยในปีนี้ อาจมีมูลค่าทะลุ 150,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
และเมื่อมีเงินจำนวนมหาศาลไหลเข้าวัด
คำถามสำคัญที่ตามมาทุกครั้งที่เกิดเรื่อง คือ
พระ หรือวัดที่มีรายได้ต้องเสียภาษีหรือไม่ ?
และหากอยากรู้ว่าคำตอบคืออะไร
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
เราจะแบ่งเรื่องนี้ออกเป็น 2 ส่วน
เพราะ “พระ” และ “วัด” เกี่ยวข้องกับภาษีที่ต่างกัน
เริ่มจากส่วนของ “พระ”
ในความเข้าใจของหลายคน
พระคือผู้ละทางโลก ไม่มีรายได้ ไม่มีทรัพย์สิน
แต่ถ้ามองลึกลงไป จะเห็นว่าพระจำนวนไม่น้อย ต่างก็มีรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด
พระที่มียศหรือดำรงตำแหน่งทางสงฆ์ และตำแหน่งอื่น ๆ จะได้เงินประจำเดือน ตั้งแต่หลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่นบาทต่อเดือน
นี่คือรายได้ประจำที่มีลักษณะคล้ายเงินเดือน ซึ่งยังไม่รวมกับเงินที่ญาติโยมนำมาถวายให้อีก
แต่ถึงตรงนี้หลายคนก็อาจจะแย้งว่า มีแค่พระชั้นผู้ใหญ่เท่านั้นแหละที่มีรายได้
พระทุกรูปไม่ได้มีเงินเดือนแบบนั้น
แต่ความจริงแล้ว พระที่ไม่มีตำแหน่งก็สามารถมีรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน ได้จากกิจนิมนต์ตามวิถีสังคมที่เกิดขึ้นแทบทุกวันในสังคมไทย
ลองคิดตามเพื่อให้เห็นภาพ
- งานศพ ได้ค่านิมนต์ 2,000-3,000 บาทต่อคืน
- งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานเทศน์ งานบุญ ได้ค่านิมนต์ 1,000 บาทต่อครั้ง
ยังไม่รวมบิณฑบาตและเงินที่ญาติโยมนำมาถวายให้อีกต่างหาก
ซึ่งพระส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายไม่มาก เพราะทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าจีวร ล้วนได้รับการสนับสนุนจากวัด และศรัทธาจากญาติโยมอย่างเต็มที่
ทำให้รายได้เกือบทั้งหมดกลายเป็นเงินเก็บ
หลายครั้งเราจึงเห็นพระที่ตกเป็นข่าวนั้น มักจะถูกตรวจสอบพบเงินจำนวนมาก
และทั้งหมดนี้ กำลังพาเราไปสู่คำถามสำคัญ
นั่นคือ พระต้องเสียภาษีหรือไม่ ?
ตามกฎหมายภาษีแล้ว พระถือเป็นบุคคลธรรมดาเหมือนเราทั่ว ๆ ไป หากมีรายได้เกินเกณฑ์ ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเช่นกัน
แต่เหตุผลที่พระส่วนใหญ่ไม่ต้องเสียภาษีนั้น เพราะรายได้หลักอย่างนิตยภัต และเงินที่ญาติโยมถวายตามศรัทธา ล้วนเป็นเงินที่ได้จากเจตนาเพื่อศาสนา ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นภาษี
พูดง่าย ๆ คือ พระไม่ใช่อาชีพที่ได้รับอภิสิทธิ์ ไม่ต้องเสียภาษี แต่เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของพระ อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี
อย่างไรก็ตาม ถ้าพระมีรายได้อื่นนอกเหนือจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นจากการสอนหนังสือ หรือดอกเบี้ย
พระก็มีหน้าที่ต้องนำมายื่นเสียภาษีเหมือนคนทั่วไป
มาต่อกันที่ “วัด”
แม้ภาพจำของวัดจะถูกมองว่า เป็นสถานที่ทางศาสนา แต่ในเชิงกฎหมายแล้ว วัดไม่ใช่แค่สถานที่
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 31
วัดมีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยมีเจ้าอาวาส
ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของวัด
หากจะเปรียบให้เห็นภาพชัดขึ้น
วัดก็เหมือนองค์กร ที่มีทรัพย์สินและมีรายได้ โดยมีเจ้าอาวาสทำหน้าที่คล้ายผู้บริหาร ที่ดูแลกิจการในนามขององค์กรนั้น
แต่รู้หรือไม่ว่า แม้วัดจะมีสถานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ แต่กฎหมายภาษี วัดกลับไม่ถูกจัดเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษี
ดังนั้น ต่อให้วัดจะมีรายได้หลักแสน หรือหลายล้านบาท วัดก็ไม่ต้องเสียภาษีเลยสักบาท
และแม้จะมีกฎกระทรวงกำหนดให้วัดจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
แต่ในทางปฏิบัติ กลับพบปัญหามากมาย
เพราะหลายวัดไม่มีระบบบัญชีที่ดีพอ
เจ้าอาวาสหลายรูปไม่ได้มีความรู้ด้านการเงินจึงต้องมอบอำนาจให้คณะกรรมการวัดหรือไวยาวัจกร เป็นคนทำบัญชีและเบิกจ่ายเงินของวัดแทน
และนั่นแหละ คือจุดอ่อนที่กลายเป็น “ช่องโหว่” ขนาดใหญ่
เพราะในหลายวัดแทบไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า เงินเข้ามาเท่าไร และถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง
ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตอย่างเงียบ ๆ
ภายใต้ร่มเงาของความศรัทธา
จริงอยู่ว่าวัดอาจไม่ใช่ธุรกิจ แต่ในตลาดการกุศลของไทย ที่มีการประมาณการมูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วัดคือหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อย
อย่างวัดชื่อดัง ย่านนครปฐมที่ตกเป็นข่าว คาดว่ามีรายได้เฉลี่ยสูงถึงปีละ 100 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าบางบริษัทในตลาดหุ้นด้วยซ้ำ
แต่กลับไม่มีระบบบัญชี จากผู้ทำบัญชีมืออาชีพ หรือกลไกการตรวจสอบที่ชัดเจน จากผู้สอบบัญชี
นอกจากนั้น การที่วัดไม่เสียภาษี หมายความว่าจะไม่มีหน่วยงานอย่างกรมสรรพากรเข้าไปตรวจ ก็อาจทำให้มีโอกาสการทุจริตก่อตัวได้มากกว่าองค์กรทั่วไป
นี่จึงเป็นจุดที่สังคมเริ่มตั้งคำถามมากขึ้น
ไม่ใช่แค่ วัดเสียภาษีไหม ?
แต่เป็นคำถามที่ลึกกว่านั้น
เกี่ยวกับระบบที่โปร่งใสและตรวจสอบได้
เพราะเมื่อความศรัทธาสามารถสร้างเงินได้ระดับหมื่นล้าน แสนล้านบาท ระบบตรวจสอบก็ควรมีพลังมากพอ ที่จะปกป้องความศรัทธานั้นไว้ให้ได้เช่นกัน..
#วางแผนการเงิน
#หลักการวางแผนการเงิน
#พระสงฆ์ไทย
References