
ขายส่วนแบ่งค่าตัว แลกเงินก้อนใหญ่ (อดีต) โมเดลรายได้ ของสโมสรฟุตบอล
17 ก.ค. 2025
ถ้ามีคนเดินมาบอกคุณว่า เขายินดีจ่ายเงินให้คุณจำนวนหนึ่ง แลกกับส่วนแบ่งรายได้ที่คุณจะทำได้ในอนาคต คุณจะเรียกเงินกี่บาท ?
เรื่องราวนี้ ดูเหมือนเป็นเรื่องเพ้อฝันที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง แต่เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นจริงมาแล้ว ในวงการฟุตบอล
จากความต้องการอยู่รอดของสโมสรฟุตบอลขนาดเล็ก และนักลงทุนที่ต้องการทำกำไรจากการเก็งว่านักฟุตบอลคนไหน จะกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ในอนาคต
คำถามที่หลายคนน่าจะสงสัยกันก็คือ ทำไมสโมสรฟุตบอล ถึงยอมให้นักลงทุนภายนอกเข้ามาหาผลประโยชน์จากนักฟุตบอลในสังกัด ?
และนักลงทุนมีวิธีการลงทุนในศักยภาพของนักฟุตบอล ที่ยังไม่มีใครมองเห็นได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
การที่เราจะเข้าใจเรื่องราวนี้ได้ ต้องเข้าใจก่อนว่าสโมสรฟุตบอลจะมีรายได้เข้ามา 3 ทางด้วยกัน
1. ค่าบัตรเข้าชมการแข่งขัน
2. ส่วนแบ่งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด
3. สปอนเซอร์และการจำหน่ายของที่ระลึก
ขณะเดียวกันสโมสรฟุตบอล ก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายตามมามากมาย เช่น ค่าเหนื่อยนักเตะ โคช ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ รวมไปถึง ค่าอาหาร และค่าที่พัก หากต้องไปแข่งกันในต่างประเทศ หรือต่างเมือง
จะเห็นได้ว่า สโมสรที่จะหารายได้ให้มากกว่าค่าใช้จ่ายได้ ก็คงต้องเป็นสโมสรใหญ่ หรืออยู่ในลีกที่เป็นที่นิยม ซึ่งจะมีฐานแฟนคลับเป็นจำนวนมาก
ส่วนสโมสรเล็ก ๆ หรือทีมในลีกเล็ก ที่หารายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ก็ต้องดิ้นรนมองหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม
บางสโมสรจึงต้องกู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือบางสโมสรก็ขายสินทรัพย์ที่ตัวเองมีอยู่
แน่นอนว่าสินทรัพย์ที่ล้ำค่าที่สุดของสโมสรฟุตบอล ก็คือตัวนักเตะในทีมของตัวเอง..
วิธีการก็คือ สโมสรจะมองหานักลงทุนที่สนใจ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นกองทุน Hedge Fund
จากนั้นสโมสรจะขายสิทธิ์ในการแบ่งผลประโยชน์จากการขายนักเตะไปให้สโมสรอื่นในอนาคต แก่นักลงทุนที่สนใจ เพื่อแลกกับเงินก้อนใหญ่ที่นักลงทุนจะจ่ายในวันนี้
เช่น สโมสร A ขายสิทธิ์ส่วนแบ่งรายได้จากการขายนักเตะ X ให้แก่ Hedge Fund B ในสัดส่วน 20%
เพื่อแลกกับเงิน 2,000,000 ปอนด์ ซึ่งเป็นเงินสดที่สโมสรสามารถเอาไปหมุนเวียน จ่ายเป็นเงินเดือนให้นักเตะในทีม และเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบริหารสโมสร
หากในอนาคตสโมสร A สามารถขายนักเตะ X ให้กับสโมสรอื่นได้ด้วยค่าตัว 20,000,000 ปอนด์
Hedge Fund B ที่จ่ายเงินซื้อสิทธิ์ส่วนแบ่งรายได้ 20% ไป จะได้เงินส่วนแบ่งจากค่าตัวประมาณ 4,000,000 ปอนด์ คิดเป็นกำไร 100%
ธุรกรรมนี้มีชื่อเรียกว่า “Third-Party Ownership” หรือ TPO
วิธีการนี้เป็นที่นิยมมากในสโมสรฟุตบอลในลาตินอเมริกา เช่น บราซิล อุรุกวัย และอาร์เจนตินา ที่ลีกไม่ได้ทำเงินมหาศาลได้แบบในยุโรป
เพราะจะสามารถจ่ายค่าเหนื่อยให้กับนักเตะในทีมให้สูง ๆ เพื่อดึงนักเตะที่มีศักยภาพ เข้ามายกระดับทีม รวมถึงนำมาปลุกปั้นฝีเท้าและขายต่อให้กับสโมสรในยุโรปต่อไป
ตัวอย่างดีลที่โด่งดังก็คือ การที่ Barcelona สโมสรดังจากสเปน มาซื้อตัว Neymar นักเตะจาก Santos FC ซึ่งเป็นสโมสรในบราซิล ในปี 2013
โดยในสัญญาฉบับสุดท้าย ก่อนที่ Neymar จะย้ายออกจาก Santos FC เขาได้ค่าเหนื่อยมหาศาลถึงเดือนละ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 69 ล้านบาทในปัจจุบัน)
เนื่องจาก Santos FC ได้รับเงินจากการขายสิทธิ์ส่วนแบ่งรายได้จากการขาย Neymar ให้กับกองทุน DIS Esporte จากบราซิล คิดเป็นสัดส่วน 40%
ซึ่งมูลค่าดีลที่ Neymar ย้ายไปอยู่กับ Barcelona สูงถึง 57 ล้านยูโร (คิดเป็นเงิน 2,831 ล้านบาทในปัจจุบัน) ทำให้กองทุนนี้ น่าจะทำกำไรได้มหาศาลเลย
อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบนี้มักถูกครหาว่า เป็นการค้ามนุษย์รูปแบบหนึ่ง
อีกทั้งยังมีหลายกรณีที่นักลงทุนภายนอกเข้ามามีอิทธิพลกับการตัดสินใจขายนักเตะของสโมสร โดยเน้นไปที่การทำกำไรสูงสุด โดยไม่สนใจประโยชน์สูงสุดของสโมสรเจ้าของนักเตะ
ทำให้องค์กรกำกับดูแลกีฬาฟุตบอลระดับโลกอย่าง FIFA เข้ามาแบนการลงทุน TPO ในวงการฟุตบอลในปี 2015
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็ยังมีการแสวงหาผลประโยชน์จากการซื้อขายนักเตะทางอ้อมได้อยู่ดี เช่น การเข้าซื้อหุ้นในสโมสรแทนการซื้อส่วนแบ่งโดยตรงจากตัวนักเตะ
หรือการให้เงินกู้ยืมกับสโมสร ที่ย่อมมีการจ่ายคืนทีหลังทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย ที่หนีไม่พ้นมาจากเงินค่าตัวจากการขายนักเตะอยู่ดี..
#ธุรกิจ
#โมเดลธุรกิจ
#ฟุตบอล
References