Gorilla Game กลยุทธ์ลงทุน หุ้นเทคโนโลยี ที่ยังไม่มีผู้ชนะ 

Gorilla Game กลยุทธ์ลงทุน หุ้นเทคโนโลยี ที่ยังไม่มีผู้ชนะ 

3 ก.ค. 2024
ธุรกิจผู้ชนะ คือสิ่งที่หลายคนอยากจะเข้าไปลงทุน เพราะการเป็นผู้ชนะแล้วนั้น หมายความว่า เราไม่ต้องลุ้นว่า บริษัทจะทำกำไรได้ไหม และในระยะเวลาอันใกล้ จะมีคู่แข่งรายใดเข้ามาท้าทายอีก  
แต่การลงทุนในหุ้นผู้นำ ต่อเมื่อรู้ผลแพ้ชนะแล้วนั้น คงจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนกับเรามากเท่ากับ การลงทุนตั้งแต่หุ้นผู้นำเหล่านั้น ยังอยู่ในช่วงพิสูจน์ตัวเองอยู่ 
ซึ่งความยากของ การลงทุนในช่วงเวลาแบบนั้น ก็คือเราไม่รู้เลยว่า หุ้นของบริษัทที่เราเลือกนั้น จะกลายเป็นผู้ชนะในบั้นปลายได้หรือไม่ 
เพราะฉะนั้น การจะลงทุนในช่วงเวลาอันแสนคลุมเครือแบบนี้ ก็ต้องมีกลยุทธ์ที่เหมาะสม อย่างเช่น กลยุทธ์ Gorilla Game ที่เราจะนำเสนอในวันนี้นั่นเอง 
และถ้าหากคุณสงสัย ว่ากลยุทธ์ Gorilla Game เป็นอย่างไร ในวันนี้ ? 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
กลยุทธ์ Gorilla Game นั้น ได้ถูกพูดถึงโดยคุณ Geoffrey A. Moore และคุณ Tom Kippola ผู้ให้คำปรึกษาในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ และคุณ Paul Johnson ที่ตอนนั้นเป็นอาจารย์สอนด้านการลงทุนที่มหาวิทยาลัย Columbia 
โดยคำว่า Gorilla นั้น เป็นการเปรียบเปรยหุ้นผู้นำตลาด ในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ ที่แข็งแกร่ง แต่หาได้ยาก 
เหมือนกับลิงกอริลลา ที่เป็นหนึ่งในเจ้าป่า เพราะเป็นวานรที่ขนาดใหญ่ที่สุด แต่เราเองก็หากอริลลาในธรรมชาติได้ยากมากเหมือนกัน 
แต่ก่อนที่เราจะเลือกกอริลลาตัวไหนนั้น เราจะต้องรู้เสียก่อนว่ากอริลลาอาศัยอยู่ที่ใด นั่นก็คือ เราจะต้องเสาะหาว่า มีเทคโนโลยีอะไรที่น่าสนใจ และอาจจะเป็นเทรนด์ในอนาคต 
ในหนังสือที่คุณ Geoffrey และคณะเขียนนั้น ก็ได้บอกไว้ว่า เราควรจะมองหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เริ่มมีคนใช้อยู่ในกลุ่มเล็ก ๆ ก่อนแล้ว แต่ก็มีศักยภาพที่จะถูกคนหมู่มากนำไปใช้ในอนาคต อันจะทำให้มูลค่าตลาดของเทคโนโลยีนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว
ยกตัวอย่างก็เช่น เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ ที่เมื่อ 30-40 ปีก่อน เราจะเห็นแต่เหล่านักธุรกิจเท่านั้นที่ใช้ 
แต่หลังจากนั้นมาก็ค่อย ๆ กระจายออกสู่ผู้คนหมู่มาก จนมาถึงวันนี้ โทรศัพท์มือถือ ก็กลายเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ที่เราแทบจะขาดไม่ได้ 
หรืออีกตัวอย่างก็คือ โซเชียลมีเดีย ที่ตอนแรกก็มีแต่คนหนุ่มสาวเข้ามาใช้งาน แต่ทุกวันนี้ก็กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีหลากหลายวัยมากขึ้น อีกทั้งยังมีบริษัท ไปจนถึงหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เข้ามาใช้งานด้วยเช่นกัน 
แล้วหุ้นกอริลลา ต้องมีลักษณะแบบไหน ?
ลักษณะของหุ้นกอริลลา หรือหุ้นของบริษัท ที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้นั้น คุณ Geoffrey และคณะได้อธิบายในหนังสือว่า มีอยู่ 4 ลักษณะคือ 
- มีแบรนด์เป็นที่รู้จัก   
บริษัทที่เป็นผู้นำนั้น มักมีแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จัก และน่าเชื่อถือมากกว่าคู่แข่ง เพราะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมาก 
ซึ่งการมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง นอกจากจะดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ ให้มาใช้บริการแล้ว ยังส่งผลให้ตัวแทนจำหน่าย ตามช่องทางการขายต่าง ๆ ยินดีที่จะนำเสนอสินค้าหรือบริการของบริษัทเหล่านี้อย่างเต็มที่ เพราะรู้ว่าจะขายได้  
นอกจากนั้นแล้ว ภาพลักษณ์อันแข็งแกร่ง ของบริษัทผู้นำ ยังช่วยดึงดูดธุรกิจอื่น ๆ ให้เข้ามาร่วมมือกัน หรือที่เรียกว่าเกิดการ Synergy เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคตได้อีกด้วย      
- ป้องกันคู่แข่งรายใหม่ได้ 
บริษัทที่จะเป็นผู้นำตลาดนั้น จะสามารถป้องกันไม่ให้คู่แข่งรายใหม่ เข้ามาแข่งขันกับตัวเองได้ ด้วยการปรับปรุงเทคโนโลยีของตัวเองอย่างต่อเนื่อง 
เพราะการที่ธุรกิจทำการปรับปรุง คุณภาพผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดนั้น นอกจากจะทำให้คู่แข่งรายใหม่ ๆ เข้ามายาก เพราะพัฒนาตามไม่ทันแล้ว 
ในระยะยาว ยังกลายเป็นการดึงลูกค้าไม่ให้เปลี่ยนใจ ไปใช้ผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งของบริษัท ที่มีอยู่ในตลาดแล้วอีกด้วย 
- มีความได้เปรียบด้านต้นทุน 
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า บริษัทชั้นนำนั้น จะสามารถดึงดูดลูกค้า จนมีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมาก สิ่งนี้เองทำให้เกิด Economies of Scale 
นั่นก็คือ เวลาที่บริษัทจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ หรือบริการอะไร ก็จะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้คราวละมาก ๆ จนทำให้ต้นทุนเฉลี่ย สำหรับการสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการนั้นลดลง และบริษัทก็จะได้เปรียบคู่แข่ง ด้วยการมีต้นทุนที่ต่ำกว่า
และนอกจากนั้นแล้ว บริษัทผู้นำตลาด ยังสามารถลดต้นทุนลงได้อีก ด้วยการ Outsource งานที่ตัวเองไม่ถนัดให้บริษัทอื่นทำได้อีกด้วย 
- มีอำนาจในการตั้งราคา  
การมีอำนาจในการตั้งราคา สำหรับบริษัทผู้นำในตลาดแล้ว อาจจะยังไม่ถึงขั้นปรับราคาขึ้นลงได้ตามใจชอบ เหมือนกับตลาดผูกขาด 
แต่คือการที่บริษัทผู้นำเหล่านี้ เป็นผู้สร้างมาตรฐานของอุตสาหกรรม ทำให้ถ้าบริษัทผู้นำเลือกที่จะตั้งราคานี้ คู่แข่งรายอื่น ๆ ก็จะถูกบีบให้ใช้กลยุทธ์การตัดราคาเท่านั้น 
เพราะคงไม่มีลูกค้าคนไหน ที่จ่ายเงินซื้อของโนเนม ในราคาที่แพงกว่าแบรนด์ที่ดีมีคุณภาพ และนั่นก็จะทำให้กำไรของคู่แข่งเหลือน้อยมาก จนยากที่จะขยายกิจการเพื่อมาโค่นตำแหน่งบริษัทผู้นำได้ 
และตัวอย่างของหุ้นกอริลลา ที่น่าจะประสบความสำเร็จมากที่สุดก็คือ บริษัท Microsoft ยักษ์ใหญ่แห่งเทคโนโลยีซอฟต์แวร์นั่นเอง 
เมื่อเรารู้ว่าจะหาหุ้นกอริลลาได้ที่ไหน และหุ้นกอริลลาต้องมีลักษณะแบบใดบ้างแล้ว ทีนี้ก็มาถึงกลยุทธ์การลงทุนแบบ Gorilla Game ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน นั่นก็คือ
- คัดเลือกหุ้นที่เราคิดว่าน่าจะเป็น หุ้นกอริลลา มาประมาณ 2 ถึง 4 ตัว
- ถือหุ้นเหล่านั้นไว้ในระยะยาว แล้วคอยประเมินอยู่เสมอว่า บริษัทแต่ละแห่งยังมีโอกาสที่จะเป็นผู้นำตลาดได้อยู่ไหม
- ถ้าประเมินแล้วว่าหุ้นตัวไหน ไม่น่ามีโอกาสจะเป็นผู้นำตลาดได้ ให้ขายทิ้งแล้วนำเงินนั้น มาเข้าซื้อหุ้นตัวที่เหลือ
จากนั้นก็ทำตามขั้นตอนไปเรื่อย ๆ ท้ายที่สุดเราก็จะเหลือหุ้นกอริลลาเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น ให้เราได้ถือไปยาว ๆ
ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่มีวันได้ขาย หุ้นกอริลลาเสมอไป เพราะด้วยธรรมชาติของหุ้นเทคโนโลยี ที่มักจะมีการ Disrupt อยู่เสมอ ก็ย่อมทำให้ตำแหน่งผู้นำของหุ้นถูกสั่นคลอนได้ 
เหมือนอย่างเช่น BlackBerry ที่ในอดีตอาจจะเป็นหุ้นกอริลลาของอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ แต่เมื่อมีเทคโนโลยีสมาร์ตโฟนเข้ามา ก็ทำให้ BlackBerry ถูก Apple ซึ่งมาพร้อมกับ iPhone กระชากตกลงจากบัลลังก์
นอกจากนี้กลยุทธ์การลงทุนแบบ Gorilla Game นั้น เราไม่จำเป็นต้องลงทุนเพียงแค่กลุ่มเทคโนโลยีเดียวเท่านั้น 
แต่ถ้าหากมีเงินทุนมากพอ เราก็สามารถแยกย่อยไปลงทุน กับหุ้นในหลายกลุ่มเทคโนโลยี ที่ยังไม่มีผู้ชนะก็ได้เหมือนกัน
อย่างเช่น ลงทุนในหุ้นที่คาดว่าจะเป็นผู้นำ ในกลุ่มหุ้นผู้ออกแบบชิป 3 ตัว, กลุ่มหุ้นผู้พัฒนา AI 3 ตัว และหุ้นรถไฟฟ้า 3 ตัว
จากนั้นก็ทำตามขั้นตอน และถือหุ้นไปยาว ๆ พร้อมรอดูผู้ชนะของแต่ละกลุ่มเทคโนโลยีปรากฏตัว เป็นต้น
แม้ขั้นตอนจะดูไม่ซับซ้อน แต่กลยุทธ์การลงทุนแบบ Gorilla Game นั้น ก็อาศัยความสามารถ และใช้พลังในการวิเคราะห์ธุรกิจค่อนข้างมากเหมือนกัน เพราะเราจะต้องเลือกหุ้นที่น่าจะเป็น “ของจริง” มาให้ได้ 
แต่ในอีกด้าน ถ้าหากเราวิเคราะห์ได้ถูกต้องว่ากลุ่มหุ้นเหล่านี้ มีแววเป็นผู้นำตลาดได้จริง นั่นก็หมายความว่า เรามีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจำนวนมาก 
ด้วยความเสี่ยงที่น้อยกว่าการเทเงินลงทุน ให้กับหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ที่เราเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะกลายเป็นผู้ชนะในอนาคตหรือไม่ ตั้งแต่แรก.. 
References 
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.