ทำไม ธุรกิจกงสี กำลังขับเคลื่อน เศรษฐกิจจีน น้อยกว่าใน ประเทศตะวันตก

ทำไม ธุรกิจกงสี กำลังขับเคลื่อน เศรษฐกิจจีน น้อยกว่าใน ประเทศตะวันตก

9 ก.พ. 2024
ทำไม ธุรกิจกงสี กำลังขับเคลื่อน เศรษฐกิจจีน น้อยกว่าใน ประเทศตะวันตก | MONEY LAB
ธุรกิจแบบ “กงสี” คือระบบที่มักพบในกิจการครอบครัวแบบคนจีน
ดังนั้นถ้าบอกว่า ธุรกิจครอบครัวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตะวันตก มากกว่าประเทศจีน หลายคนที่ได้ฟังครั้งแรก อาจจะรู้สึกแปลกใจ
แต่จากข้อมูลของนิตยสาร Tharawat ซึ่งศึกษาธุรกิจครอบครัว ของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก มานานกว่า 16 ปี พบว่า
ในปี 2023 ที่ผ่านมานี้ สัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจ ของธุรกิจครอบครัวต่อ GDP ของประเทศจีนนั้น อยู่ที่ 51% ในขณะที่สหรัฐอเมริกานั้น จะมากกว่านิดหน่อยที่ 54%
และตัวเลขนี้ ยิ่งห่างออกไปอีก เมื่อนำไปเทียบกับประเทศในยุโรป เช่น สเปน และอิตาลี ซึ่งมีสัดส่วนนี้อยู่ที่ 70% และ 68% ตามลำดับ
แล้วทำไม ต้นกำเนิดแนวคิดธุรกิจกงสี อย่างประเทศจีน ถึงได้มีสัดส่วนธุรกิจครอบครัวต่อ GDP น้อยกว่าประเทศตะวันตก เสียอีกในวันนี้ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
เมื่อพูดถึงภาพของธุรกิจครอบครัว ในประเทศจีน เราอาจจะต้องลบภาพของ ธุรกิจกงสี ของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่มีการทำธุรกิจสืบต่อกันมาหลายรุ่น หรือบางแห่งก็สืบทอดกันมาเป็นเวลานานนับ 100 ปี ออกไปก่อน
เพราะชาวจีน ก็เพิ่งกลับมาประกอบธุรกิจของตัวเองได้อีกครั้ง หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้เริ่มนำระบบตลาดเสรีกลับมาใช้ เมื่อ 40 ปีที่ผ่านมานี้เอง
ถึงอย่างนั้น ธุรกิจครอบครัว ก็เป็นหนึ่งในเครื่องจักรสำคัญ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน เห็นได้จากข้อมูลในปี 2017 มูลค่าทางเศรษฐกิจ ของธุรกิจครอบครัวต่อ GDP ของประเทศจีน จะอยู่ที่ประมาณ 60%
โดยธุรกิจครอบครัวในประเทศจีน ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นธุรกิจในภาคการผลิต กับร้านอาหาร
ซึ่งธุรกิจครอบครัว ในภาคการผลิต ก็คือ เหล่าโรงงานเย็บเสื้อผ้า และโรงงานผลิตสินค้าเล็ก ๆ จำนวนมาก ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นมา หลังจากจีนเปิดประเทศใหม่ ๆ
และกลายเป็นแหล่งรับจ้างผลิตสินค้าราคาถูก เพื่อป้อนให้กับตลาดทั่วโลก
หรืออาจจะพูดได้ว่า ธุรกิจโรงงานเล็ก ๆ ในครอบครัวของชาวจีนเหล่านี้เอง ที่เป็นผู้สร้างภาพจำว่า ประเทศจีนเป็น “โรงงานของโลก”
อย่างไรก็ตาม 6 ปีผ่านมา สัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจ ของธุรกิจครอบครัวต่อ GDP ของประเทศจีน ก็กลับลดลงมาเหลือ 51% อย่างที่กล่าวไปข้างต้น
สาเหตุหลักที่อาจจะทำให้ มูลค่าทางเศรษฐกิจ ของธุรกิจครอบครัวในประเทศจีน ลดลงมากขนาดนี้ ก็น่าจะมาจาก
กิจการขาดผู้สืบทอด
ถ้าหากเหล่าผู้ประกอบการชาวจีนในวัยหนุ่ม เริ่มก่อตั้งธุรกิจของตัวเองในตอนที่จีนเริ่มเปิดประเทศ และกลับมาใช้ระบบตลาดเสรี
มาวันนี้ ผู้ประกอบการเหล่านั้น ก็น่าจะถึงวัยที่ต้องเกษียณอายุ และเปิดทางให้เจ้าของธุรกิจรุ่นที่ 2 เข้ามาดูแลกิจการต่อได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายลูกคนเดียว ก็ได้ทำให้การหาผู้สืบทอดกิจการ ทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะถ้าหากลูกของเจ้าของกิจการต่าง ๆ ไม่ได้อยากจะสืบทอดกิจการที่บ้านต่อ หรือพ่อแม่มองว่า ไม่มีความสามารถพอในการบริหาร
รุ่นพ่อแม่ที่ก่อตั้งกิจการมา ก็จำใจที่จะต้องเลิก หรือขายกิจการของครอบครัวออกไป
รูปแบบของเศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนไป
ค่าแรงของจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามเศรษฐกิจซึ่งกำลังเจริญเติบโต บวกกับความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
ทำให้เหล่าธุรกิจต่างชาติ ที่เคยมองจีนเป็นฐานการผลิตราคาถูก จึงเปลี่ยนไปจ้างประเทศอื่น ๆ ให้ผลิตสินค้าแทน อย่างเช่น เวียดนาม เป็นต้น
จนทำให้ธุรกิจครอบครัว ที่ทำโรงงานเย็บเสื้อผ้า และผลิตสินค้าราคาถูก เริ่มได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนในธุรกิจร้านอาหาร ก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จากสถานการณ์ล็อกดาวน์ที่ยาวนาน จนร้านอาหาร ที่ส่งต่อกันในครอบครัวหลาย ๆ แห่ง ต้องปิดตัวลง
จากทั้งหมดนี้เองจะเห็นได้ว่า ธุรกิจของจีนนั้น ต้องเจอกับอุปสรรคตลอดเวลา ทั้งจากการถูกหยุดชะงัก จากการที่รัฐไม่อนุญาตให้มีการดำเนินธุรกิจ
รวมไปถึงการหาผู้สืบทอดได้ยาก จากการมีตัวเลือกที่น้อย และธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ ยังคงเป็นกิจการที่เน้นใช้แรงงานราคาถูกเป็นหลักอยู่
นั่นจึงทำให้ธุรกิจกงสีต่าง ๆ ในประเทศจีน ไม่ได้รับการพัฒนามากเท่าที่ควร ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ประวัติศาสตร์ของจีน ผูกพันกับการค้าขายมาหลาย 1,000 ปี
สวนทางกับธุรกิจครอบครัวหลาย ๆ แห่งในยุโรป ที่สามารถดำเนิน และพัฒนาธุรกิจของตัวเองอย่างต่อเนื่อง มาหลาย 100 ปีได้
อีกทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับกิจการของตัวเอง ผ่านการสร้างจุดขาย ด้วยเรื่องราวอันยาวนาน ของธุรกิจครอบครัวได้
ก็เป็นที่น่าคิดเหมือนกันว่า ถ้าหากธุรกิจครอบครัวในจีน ได้ดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้พบเจอกับอุปสรรคอยู่บ่อย ๆ เหมือนอย่างที่กล่าวไปข้างต้น
บางทีเราอาจจะได้เห็น ตระกูลเศรษฐีจีน ที่โด่งดังในระดับโลกจำนวนมาก
ไม่ต่างกันกับ ที่ในยุโรปมีตระกูลเศรษฐีชื่อดัง อย่างตระกูล Arnault เจ้าของบริษัท LVMH ก็เป็นได้..
References
-https://www.tharawat-magazine.com/facts/economic-impact-family-businesses/
-https://www.ey.com/en_cn/china-opportunities/how-are-family-businesses-in-china-planning-for-succession
-https://www.thinkchina.sg/chinas-family-run-businesses-face-succession-issues.
-Wang, Y. & Pei, R. (2014). The evolution of family business in China: An institutional perspective.
-Cheung Kong Graduate School of Business. (2020). Understanding Family Business in China: the Path, the Trend, and the Future.
-Lee, J. & Zhang, Y. A. (2021). Crossroads of Family Businesses in China: Succession and Transformation.
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.