กรณีศึกษา กองทุน National Team ที่รัฐบาลจีน ตั้งเพื่อแทรกแซงตลาดหุ้น

กรณีศึกษา กองทุน National Team ที่รัฐบาลจีน ตั้งเพื่อแทรกแซงตลาดหุ้น

24 พ.ย. 2023
กรณีศึกษา กองทุน National Team ที่รัฐบาลจีน ตั้งเพื่อแทรกแซงตลาดหุ้น | MONEY LAB
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 ตลาดหุ้นจีนกำลังอยู่ในภาวะฟองสบู่ จากการขยายตัวของสินเชื่อ และการปล่อยปละละเลยให้มีการเก็งกำไรในตลาดหุ้นโดยใช้บัญชีเงินกู้ยืม
ดัชนี CSI300 ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 300 อันดับแรกในตลาดหุ้นจีน ปรับตัวขึ้นไปมากถึง 50% ภายใน 6 เดือน
นักเก็งกำไร และนักลงทุนในตลาดหุ้นจีน ต่างทำกำไรในตลาดหุ้นกันอย่างคึกคัก แต่แล้วงานเลี้ยงก็ย่อมต้องมีวันเลิกรา เพราะในช่วงเดือนมิถุนายน 2015 รัฐบาลจีนเริ่มเข้มงวดกับการปล่อยกู้เพื่อเก็งกำไรในตลาดหุ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ดัชนี CSI300 ปรับตัวลดลงไปมากกว่า 31% ภายในเดือนเดียว นักลงทุนต่างสูญเสียความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของจีน
แล้วรัฐบาลจีนทำอย่างไร ถึงแก้ปัญหาวิกฤติตลาดหุ้นในปี 2015 ได้ ? MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า เมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างหนัก จากการสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุน ก็จะส่งผลกระทบต่อการระดมทุนสำหรับภาคเอกชน
เมื่อการระดมทุนในตลาดหุ้นมีความยากลำบากมากขึ้น ภาคเอกชนก็จะระดมเงินไปลงทุนขยายกิจการได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงในที่สุด
พอเรื่องเป็นแบบนี้ รัฐบาลจีนจึงเข้ามาแทรกแซงตลาดหุ้นโดยตรง ผ่านการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพของตลาดหุ้นขึ้นมา โดยมีชื่อเล่นว่า “National Team”
ซึ่งจริง ๆ แล้วการเข้าแทรกแซงตลาดหุ้นโดยตรงของรัฐบาลจีน ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสมัยนั้น เพราะหลายประเทศก็เคยทำมาแล้ว ในระหว่างที่มีวิกฤติสำคัญ ๆ เช่น
ปี 1997 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง รัฐบาลฮ่องกงได้เข้ามาซื้อหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง มูลค่าเงินลงทุนรวม 545,000 ล้านบาทปี 2001 ที่เกิดวิกฤติฟองสบู่ดอตคอม รัฐบาลเกาหลีใต้ และไต้หวัน ก็ได้จัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพของตลาดหุ้นปี 2008 ที่เกิดวิกฤติซับไพรม์ ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ได้จัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพของตลาดหุ้น มูลค่าเงินลงทุนรวม 5,180,000 ล้านบาท คิดเป็น 5% ของมูลค่าบริษัททั้งหมดในตลาดหุ้นโตเกียว
กลับมาที่กองทุน National Team ของจีน ซึ่งมีสมาชิกประกอบไปด้วย
บริษัท China Securities Finance Corp. (CSF) เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งแต่เดิมทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ให้บริษัทหลักทรัพย์ในจีนบริษัท Central Huijin Investment ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีนสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศของจีน
กองทุน National Team ของจีนได้กว้านซื้อหุ้นในตลาดหุ้นจีนไปกว่า 7,800,000 ล้านบาท คิดเป็น 4.3% ของมูลค่าบริษัททั้งหมดในตลาดหุ้นจีน
การเข้าซื้อหุ้นของกองทุน National Team ทำให้ในไตรมาส 3 ปี 2015 พบว่า National Team กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก มากถึง 1,401 บริษัท
ถ้าหากนับเฉพาะในดัชนี CSI300 กองทุน National Team ได้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก ทั้งหมด 281 บริษัท คิดเป็นน้ำหนักการลงทุนประมาณ 74% ของทั้งพอร์ต
สาเหตุที่ต้องลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ก็เพราะว่า ราคาหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ 300 บริษัทแรกของจีน มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของดัชนีเป็นอย่างมาก
และการขึ้นลงของดัชนีตลาดหุ้น ก็มีผลต่อการเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมา
แล้วการแทรกแซงตลาดหุ้นด้วยวิธีนี้ ประสบความสำเร็จหรือไม่ ?
ผลการศึกษาพบว่า การแทรกแซงตลาดหุ้นผ่านการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาซื้อหุ้นโดยตรงของรัฐบาล ทำให้ลดความผันผวนได้จริง
แต่ผลที่ตามมาก็คือ นักลงทุนจะเริ่มละเลยต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัท และให้ความสำคัญกับข่าวการแทรกแซงตลาดหุ้นของรัฐบาลมากกว่า
ทำให้ราคาหุ้นไม่ได้สะท้อนมูลค่าจากปัจจัยพื้นฐานจริง ๆ แต่จะเคลื่อนไหวตามข่าวการเข้าซื้อหุ้นของรัฐบาลมากกว่า
ดังนั้นแล้ว เราก็อาจสรุปได้ว่า การเข้าแทรกแซงตลาดหุ้นผ่านการซื้อหุ้นโดยตรงของรัฐบาล สามารถหยุดแรงเทขาย และเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาได้จริง
แต่ก็ต้องแลกมากับประสิทธิภาพของตลาดหุ้น ที่ควรสะท้อนราคาสินทรัพย์ให้สอดคล้องไปตามปัจจัยพื้นฐานจริง ๆ
ในปัจจุบันกองทุน National Team ยังคงมีบทบาทในตลาดหุ้นจีนอยู่ โดยในปี 2021 และปี 2022 ก็มีข่าวคราวว่ากองทุนนี้เข้ามาแทรกแซงตลาดหุ้นบ้าง แต่เม็ดเงินที่ใช้แทรกแซงก็น้อยกว่าปี 2015 มาก
ทำให้ตลาดหุ้นจีนในปัจจุบันยังเป็นตลาดหุ้นขาลงมาตั้งแต่ต้นปี 2021 จากวิกฤติอสังหาฯ ที่ยังไม่คลี่คลาย และการออกกฎระเบียบที่มีความเข้มงวดต่อธุรกิจยักษ์ใหญ่ในประเทศ
ก็เป็นที่น่าคิดต่อไปว่า หากรัฐบาลจีนเข้ามาแทรกแซงตลาดหุ้นผ่านกองทุนนี้ด้วยเม็ดเงินก้อนใหญ่ จะทำให้ตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวได้เหมือนปี 2015 หรือไม่..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.