
ถอดบทเรียน 4 ประเทศหนี้ท่วมหัว จนล้มละลาย ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา
12 ต.ค. 2023
ถอดบทเรียน 4 ประเทศหนี้ท่วมหัว จนล้มละลาย ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา | MONEY LAB
การที่ประเทศก่อหนี้สาธารณะนั้น ถ้ามีการบริหารที่ดี ก็จะทำให้ประเทศเหล่านั้น เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนอาจถึงขั้นกลายเป็น ประเทศพัฒนาแล้ว ได้
การที่ประเทศก่อหนี้สาธารณะนั้น ถ้ามีการบริหารที่ดี ก็จะทำให้ประเทศเหล่านั้น เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนอาจถึงขั้นกลายเป็น ประเทศพัฒนาแล้ว ได้
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าหากหนี้ที่กู้มา ไม่ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ หนี้สินเหล่านั้นที่รัฐบาลก่อขึ้น ก็จะกลายเป็นปัญหา โดยมีประชาชนคนธรรมดาเป็นผู้รับกรรม
เหมือนอย่างเช่น ประเทศอาร์เจนตินา, กรีซ, เวเนซุเอลา และศรีลังกา ที่ประสบปัญหากับวิกฤติหนี้ จนถึงขั้นล้มละลาย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้
แล้ววิกฤติของ 4 ประเทศนี้ มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
แม้ว่าทั้ง 4 ประเทศที่กล่าวมาข้างต้น จะประสบกับวิกฤติหนี้ จนทำให้ประเทศล้มละลายเหมือนกัน แต่ถ้าหากเราลองดูในรายละเอียด ก็จะพบว่าแต่ละประเทศ มีรายละเอียดที่ค่อนข้างแตกต่างกันอยู่
-อาร์เจนตินา นักเบี้ยวหนี้ตัวยง
รู้หรือไม่ว่า ในอดีต อาร์เจนตินา เคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จนกระทั่งประสบกับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ Great Depression ในช่วงปี 1930 นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง และรัฐประหาร
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ประเทศอาร์เจนตินา ก็วนเวียนอยู่กับการทำนโยบายประชานิยม เพื่อรักษาอำนาจ ประกอบกับการทำสงครามฟอล์กแลนด์กับสหราชอาณาจักร ที่ต้องใช้เงินมหาศาล
ส่งผลให้รัฐบาลอาร์เจนตินา จำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศจำนวนมาก รวมไปถึงการพิมพ์เงิน เพื่อเป็นงบประมาณในการใช้จ่ายด้วย และทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ
จนสุดท้ายนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้กว่า 3.1 ล้านล้านบาท ในปี 2001 ตามมาด้วยการลอยตัวค่าเงินเปโซอาร์เจนตินา และค่าเงินอ่อนลงกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เพราะนักลงทุนพากันขาดความเชื่อมั่น จนรุมถอนเงินทุน ออกจากอาร์เจนตินา
และตามมาด้วยอัตราเงินเฟ้อ ปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์ตลอดมา
ในปัจจุบันนี้ ประเทศอาร์เจนตินา กลายเป็นลูกหนี้ยอดแย่ ที่ไม่มีใครอยากให้กู้อีกแล้ว เพราะรัฐบาลอาร์เจนตินาผิดนัดชำระหนี้ไปแล้วถึง 4 ครั้ง มากกว่าทุกประเทศ ในช่วง 20 ปีนี้
-กรีซ ระเบิดเวลาแห่งยุโรป
ประเทศกรีซ มีการทำประชานิยมอย่างเข้มข้น ซึ่งสืบเนื่องไปถึงช่วงทศวรรษ 1980 หลังจากที่กรีซหลุดพ้นจากรัฐบาลทหาร
รัฐบาลกรีซในช่วงเวลานั้น ก็ได้ทำนโยบายประชานิยมอย่างหนักหน่วง เพื่อฟื้นฟูประเทศ อย่างเช่น การลดภาษี, เพิ่มสวัสดิการสังคม และขยายขนาดราชการ
แน่นอนว่าทั้งหมดที่กล่าวมา ต้องใช้งบประมาณมหาศาล และตามมาด้วยการกู้เงิน จนประเทศกรีซ เกือบจะไม่ได้เข้าร่วมสหภาพยุโรป เพราะมีหนี้สูงกว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้
แต่ด้วยการตกแต่งหนี้สาธารณะ กรีซก็เข้าร่วมสหภาพยุโรปได้ในที่สุด และเข้าถึงแหล่งเงินทุนมหาศาล ที่กู้ยืมจากชาติสมาชิกผู้ร่ำรวย
รัฐบาลกรีซ กู้เงินจากเพื่อนร่วมสหภาพยุโรป มาทำนโยบายประชานิยมต่อ รวมไปถึงจัดงานโอลิมปิก เมื่อปี 2004 อย่างยิ่งใหญ่
แต่พอมาปี 2009 วิกฤติซับไพรม์ ได้ลุกลามจากสหรัฐอเมริกา ข้ามมายังยุโรป ทำให้เหล่าเจ้าหนี้ของกรีซ ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ถึงตอนนี้เมื่อประเทศกรีซจะกู้เงิน ก็ต้องเผชิญกับเงื่อนไขสุดโหดจากเจ้าหนี้
ที่ต้องการให้กรีซ ลดการใช้งบประมาณ พร้อมทั้งขึ้นภาษี เพื่อหาเงินมาจ่ายหนี้ จนนำไปสู่การตกงานจำนวนมาก และบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ก่อนที่ประเทศกรีซ ก็ต้องผิดนัดชำระหนี้ไปในปี 2015
-เวเนซุเอลา ดินแดนอภิมหาเงินเฟ้อ
ปกติแล้วรายได้หลักของรัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศ มักจะมาจากการเก็บภาษี แต่ไม่ใช่กับเวเนซุเอลา ที่รายได้หลักของรัฐบาล มาจากการขายน้ำมัน
บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลา หรือ PDVSA กลายเป็นตู้กดเงิน ที่รัฐบาลเวเนซุเอลา ใช้สร้างสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ให้กับประชาชน โดยไม่ต้องเดือดร้อนกับการเก็บภาษี
แต่ราคาน้ำมันมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ปีไหนที่ราคาน้ำมันตก รัฐบาลก็ต้องกู้หนี้ เพื่อให้สวัสดิการต่าง ๆ ยังคงเดินหน้าต่อไปได้
เมื่อเป็นแบบนี้ สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของเวเนซุเอลา ที่อยู่แค่ประมาณ 38% ในปี 2010 ก็พุ่งไปเป็นเกือบ 130% ด้วยเวลาเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น
หนี้ที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ของรัฐที่ลดลง เพราะตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันก็มีแต่ดิ่งลง ทำให้รัฐบาลเวเนซุเอลาตัดสินใจพิมพ์เงินออกมาเพื่อใช้หนี้สาธารณะ
ผลสุดท้าย เงินเหล่านั้นที่พิมพ์ออกไป ก็ไหลกลับเข้ามาในระบบเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาอยู่ดี จนเงินเฟ้อของเวเนซุเอลา พุ่งทะยานไปเกือบ 350,000% ในต้นปี 2019
-ศรีลังกา พิษเงินกู้ต่างประเทศ
หลังเผชิญสงครามกลางเมือง ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 25 ปี ประเทศศรีลังกา ก็ได้เริ่มต้นฟื้นฟูประเทศใหม่อีกครั้ง ด้วยนโยบายของตระกูลราชปักษา ซึ่งเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก
นโยบายดังกล่าว มีความเป็นประชานิยมสูงมาก เช่น ลดภาษีรายได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ
รายจ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ที่น้อยลง จึงทำให้รัฐบาลศรีลังกา ต้องกู้เงินจากต่างประเทศ เพราะศรีลังกา เป็นประเทศเกาะเล็ก ๆ ที่ไม่มีแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมมากนัก
นอกจากนี้ การเป็นประเทศเกาะ ยังทำให้ศรีลังกา ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหาร และน้ำมัน เพราะฉะนั้น ประเทศศรีลังกา จึงขาดดุลทั้งการค้า และการคลัง หรือที่เรียกว่า “การขาดดุลแฝด” นำไปสู่ค่าเงินอ่อนตัว
สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เมื่อความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาอาหาร และน้ำมันทั่วโลกแพงขึ้น ประเทศศรีลังกาเอง ที่นำเข้าสินค้าทั้งสองอย่าง จึงได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ
สุดท้ายแล้ว รัฐบาลศรีลังกา จึงผิดนัดชำระหนี้ที่กู้ยืมจากต่างประเทศ เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมาในที่สุด เนื่องจากไม่เหลือเงินสกุลต่างประเทศให้จ่ายหนี้ เพราะใช้ไปกับการนำเข้าสินค้าจำเป็น ที่ราคาแพงขึ้น จนหมดแล้ว
ถ้าหากสังเกตจากทั้ง 4 ประเทศที่ยกตัวอย่างมานี้ แม้จะมีองค์ประกอบ ในการเกิดวิกฤติที่แตกต่างกัน แต่จะเห็นได้ว่า มีเส้นทางที่นำไปสู่การล้มละลายคล้าย ๆ กัน
อย่างแรกก็คือ การมีสภาพเศรษฐกิจ และสังคม ที่ไม่ค่อยแข็งแรง อันส่งผลให้มีประชาชนที่ทุกข์ร้อนอยู่เต็มไปหมด
ซึ่งสิ่งที่จะสามารถแก้ปัญหา ให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างทันตาเห็น ก็คือนโยบายประชานิยม แต่การจะทำแบบนั้น ก็ต้องตามมาด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล จนการกู้เงินเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
และถ้าหากกู้ในประเทศจนหมดแล้ว การกู้เงินจากต่างประเทศ ก็เป็นสิ่งที่จะตามมา
เมื่อถึงจุดที่ก่อหนี้จนท่วมหัวแล้ว ประเทศก็เหมือนยืนอยู่บนปากเหว รอเพียงแค่วิกฤติเศรษฐกิจ หรือการสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุนเท่านั้น
แล้วหลังจากนั้น ประเทศนั้น ก็จะเข้าสู่สถานะล้มละลาย ได้อย่างไม่ยากเย็น..
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_sovereign_debt_crises
-https://www.toptal.com/finance/financial-consultants/greek-debt-crisis
-https://thaipublica.org/2019/02/pridi134/
-https://www.imf.org/external/datamapper/d@FPP/VEN?zoom=VEN&highlight=VEN
-https://www.cnbc.com/2014/10/13/venezuelan-economy-creating-inflation-is-easy-just-look-at-venezuela.html#.
-https://tradingeconomics.com/venezuela/inflation-cpi
-https://thaipublica.org/2022/08/pridi316/
-https://thaipublica.org/2022/04/pridi298/
-Kiguel, M. (2011). Argentina’s Economic and Financial Crisis: Lessons for Europe.
-Glaeser, E. L., Di Tella, R., Llach, L. (2018). Introduction to Argentine exceptionalism.
-Matsaganis, M. (2013). The Greek Crisis Social Impact and Policy Responses.
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_sovereign_debt_crises
-https://www.toptal.com/finance/financial-consultants/greek-debt-crisis
-https://thaipublica.org/2019/02/pridi134/
-https://www.imf.org/external/datamapper/d@FPP/VEN?zoom=VEN&highlight=VEN
-https://www.cnbc.com/2014/10/13/venezuelan-economy-creating-inflation-is-easy-just-look-at-venezuela.html#.
-https://tradingeconomics.com/venezuela/inflation-cpi
-https://thaipublica.org/2022/08/pridi316/
-https://thaipublica.org/2022/04/pridi298/
-Kiguel, M. (2011). Argentina’s Economic and Financial Crisis: Lessons for Europe.
-Glaeser, E. L., Di Tella, R., Llach, L. (2018). Introduction to Argentine exceptionalism.
-Matsaganis, M. (2013). The Greek Crisis Social Impact and Policy Responses.