หลัก 10 ประการ ในการลงทุน คำแนะนำจาก ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

หลัก 10 ประการ ในการลงทุน คำแนะนำจาก ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

6 ก.ค. 2023
หลัก 10 ประการ ในการลงทุน คำแนะนำจาก ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | MONEY LAB เล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน
หากพูดถึงคำว่า “หลักบัญญัติ 10 ประการ”
สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวของหลาย ๆ คนก็น่าจะเป็น หลักบัญญัติ 10 ประการ ซึ่งเป็นหลักคำสอน ที่ผู้นับถือศาสนาคริสต์หลาย ๆ คนปฏิบัติตามกัน
แต่รู้หรือไม่ว่า ในโลกของการลงทุนเอง ก็มีหลักบัญญัติ 10 ประการ เช่นเดียวกัน โดยเจ้าของหลักการเหล่านี้ก็คือ
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่าชาวไทย
แล้วหลักบัญญัติ 10 ประการในการลงทุนนี้ มีอะไรบ้าง ? MoneyLab จะเล่าเรื่องเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
หลักบัญญัติ 10 ประการ ที่ผู้ที่กำลังจะเริ่มลงทุน หรือนักลงทุนมากประสบการณ์ ควรปฏิบัติตาม ประกอบไปด้วย
1.ศึกษาหาความรู้ก่อนที่จะลงทุน
ก่อนที่จะเริ่มต้นลงทุนนั้น เราก็ควรต้องหาความรู้ เพื่อเข้าใจพื้นฐานของการลงทุนเสียก่อน
การมีพื้นฐานความรู้ด้านการลงทุนที่ดี ก็จะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์กิจการที่เราจะลงทุนได้ดีขึ้น
2.ลงทุนให้ได้เงินปันผล เพียงพอต่อรายจ่ายประจำปี
เป้าหมายของการลงทุนของหลาย ๆ คน ก็อาจจะเพื่อให้ตัวเองสามารถมีอิสรภาพทางการเงินได้ เพราะพอมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว ก็จะสามารถมีอิสรภาพทางเวลา ให้เราเลือกใช้ชีวิตได้ตามที่เราปรารถนาอย่างเต็มที่
ซึ่งถ้าหากเราอยากมีอิสรภาพทางการเงิน ผลตอบแทนจากการลงทุน ในรูปของเงินปันผลที่เราได้รับในแต่ละปี ก็ควรมากกว่ารายจ่ายต่อปีของเรา
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีค่าใช้จ่ายต่อปีเท่ากับ 1,000,000 บาท หากเราอยากมีอิสรภาพทางการเงิน เงินปันผลที่เราควรได้รับในแต่ละปี ก็ควรมากกว่า 1,000,000 บาท
3.ลงทุนในสินทรัพย์ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี แบบทบต้น เป็นเวลานาน
ยิ่งเราเริ่มลงทุนได้เร็ว สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้สูง และมีระยะเวลาในการลงทุนที่ยาวนานพอ เงินของเราก็จะเติบโตแบบทบต้น จนวันหนึ่ง เงินก้อนแรกที่เราลงทุนไป ก็อาจเติบโตไปมาก อีกหลายเท่าตัวได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเก็บออมเงินเพื่อนำไปลงทุน เดือนละ 3,000 บาททุกเดือน ในกองทุนหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี เป็นเวลา 30 ปี
ในสิ้นปีที่ 30 เงินต้นที่เราลงทุนไป จำนวน 1,080,000 บาท จะเติบโตกลายเป็น 6,781,463 บาท
หรือก็คือ เงินต้นของเรา จะเติบโตได้ถึง 6 เท่า
4.พยายามอย่าขาดทุน
ก่อนที่จะลงทุนในสินทรัพย์ไหนก็ตาม เราก็ควรต้องมีความเข้าใจในสินทรัพย์นั้นเป็นอย่างดี
โดยเราจะต้องประเมิน ทั้งผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุน และความเสี่ยงที่มีให้ได้ ก่อนที่จะลงทุนทุกครั้ง
แน่นอนว่า การลงทุนนั้นมาคู่กับความเสี่ยงที่จะขาดทุนอยู่แล้ว แต่เราก็ควรต้องจำกัดความเสี่ยงในการขาดทุน ให้เหลือน้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
5.กระจายความเสี่ยงในการลงทุน
วิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่ดีอีกวิธีหนึ่งก็คือ การกระจายความเสี่ยง ด้วยการลงทุนในหุ้นอย่างน้อย 5 ตัว
วิธีนี้จะช่วยเราในการลดความกระจุกตัว ของการลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป
สมมติว่า เรามีเงินพร้อมลงทุนอยู่ 100,000 บาท
เราก็อาจจะลงทุนในหุ้น 10 ตัว ตัวละ 10,000 บาท
เพื่อให้พอร์ตการลงทุน มีการกระจายความเสี่ยงอย่างพอดี
หรือเราอาจจะตั้งกฎการลงทุนของเราไว้เลยก็ได้ว่า จะไม่ลงทุนในหุ้นตัวเดียว ในสัดส่วนที่เกิน 10% ของมูลค่าพอร์ตทั้งหมด
6.ในระยะยาว ราคาหุ้นจะขึ้นลง ตามผลกำไรของบริษัทเสมอ
ในระยะสั้น ราคาของหุ้นจะมีความผันผวนอยู่ตลอด
แต่สำหรับหุ้นของบริษัทที่ดี มีผลประกอบการที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอ ในระยะยาวหรือประมาณ 3-4 ปี ราคาหุ้นของบริษัทนั้น ก็มักจะปรับขึ้นไปสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง จากผลประกอบการที่บริษัททำได้นั่นเอง
7.ซื้อหุ้นของบริษัทที่ดี ในช่วงที่ราคาหุ้นตกต่ำผิดปกติ
ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ หุ้นของบริษัทที่ดีหลายบริษัท มักจะถูกเทขาย ในราคาที่ถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริงอยู่มาก
หากเรานำเงินไปลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านี้ และอดทนถือไว้ จนวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว
สุดท้าย ราคาหุ้นของบริษัทที่ดี ก็จะฟื้นคืนกลับมาสู่มูลค่าที่แท้จริง และเราก็จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง
8.เก็บเงินสดไว้กับตัว ให้เท่ากับรายจ่ายประจำ อย่างน้อย 6 เดือน
หลักบัญญัติข้อนี้ มีไว้เพื่อช่วยป้องกันเรา จากความเสี่ยงอะไรก็ตาม ที่อาจจะเกิดขึ้นแบบกะทันหัน กับชีวิตของเรา
การมีเงินสดสำรองอยู่จำนวนหนึ่ง ก็จะช่วยสนับสนุน ให้เราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้
ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท เราก็ควรเก็บเงินสดสำรองไว้ อย่างน้อย เท่ากับรายจ่าย 6 เดือน หรือถ้าทำได้ ก็ควรสำรองไว้ให้ได้ถึง 1 ปี
9.ใจเย็น อดทน และมีเหตุผล
การจะเป็นนักลงทุนที่สามารถประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว เราก็ควรต้องมีความเข้าใจ ในเรื่องจิตวิทยาการลงทุนด้วย
การที่เราเข้าใจในเรื่องจิตวิทยาการลงทุน จะทำให้เราลงทุนได้ด้วยความใจเย็น มีเหตุมีผลในการตัดสินใจ และสามารถอดทนต่อช่วงเวลาที่สถานการณ์ต่าง ๆ ไม่เป็นใจกับการลงทุนของเราได้
หากเราเข้าใจเรื่องจิตวิทยาการลงทุนอย่างถ่องแท้ ก็จะทำให้เราเป็นนักลงทุนที่เก่งมากขึ้น
10.ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็น
ในช่วงแรก ที่เราเก็บออมเงินเพื่อลงทุนนั้น เรายังไม่ควรนำเงินที่เราได้มาจากการทำงาน หรือผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน ไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น มากจนเกินไป
เพราะจะทำให้ เรามีเงินต้นที่จะนำมาลงทุนต่อยอดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างความมั่งคั่ง และการมีอิสรภาพทางการเงินของเรา ในระยะยาว
ดังนั้น เราจึงควรสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาก่อน แล้วจึงค่อยนำผลตอบแทนที่ได้จากความมั่งคั่งนี้ ไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตามความปรารถนาของเรา
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่าเราคงพอเข้าใจถึง หลักบัญญัติทั้ง 10 ประการ ของการลงทุน ที่ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร แนะนำมา กันดีขึ้นแล้ว
ซึ่งถ้าหากเรานำหลักบัญญัติทั้ง 10 ประการนี้ มาปฏิบัติตามอย่างจริงจัง ก็น่าจะช่วยให้เรา เป็นนักลงทุนที่ดีขึ้น และสร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิตของเราได้ อย่างยั่งยืน..
References
-หนังสือ เคล็ดลับเซียนหุ้นพันธุ์แท้ (2002) โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
-หนังสือ The Intelligent Investor (1949) โดย Benjamin Graham
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.