สูตร (ไม่) ลับ ลงทุนแล้วหลับสบาย ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

สูตร (ไม่) ลับ ลงทุนแล้วหลับสบาย ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

7 มิ.ย. 2024
นักลงทุนเกือบทุกคน น่าจะมีความเชื่อไม่ต่างกันมากว่า ตลาดหุ้นคือพื้นที่ ที่จะสามารถเปลี่ยนชีวิตของเรา ให้กลายเป็นคนรวยได้
หลายคนอยากรวยเร็ว จึงลงทุนด้วยวิธีเสี่ยง ๆ จนทำให้ต้องพบกับความทุกข์จากการลงทุน บางคนก็ถึงขั้นกินไม่ได้ นอนไม่หลับเลยทีเดียว
แต่คงจะดีไม่น้อยเลย ถ้าเรามีหลักการลงทุน ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอ และทำให้เรามีความสุขในการลงทุน
ซึ่งเรื่องนี้ ทาง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ก็เคยให้คำแนะนำดี ๆ เอาไว้
หากสงสัยว่าคำแนะนำเหล่านี้ มีอะไรบ้าง
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
หลักการลงทุนให้มีความสุข นอนหลับสบายได้ทุกคืน และปลายทางสามารถร่ำรวยได้ ของ ดร.นิเวศน์ มีดังนี้
1. คาดหวังผลตอบแทน ในระดับที่สมเหตุสมผล
ดร.นิเวศน์ แนะนำว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สมเหตุสมผล ที่เราสามารถคาดหวังได้ในระยะยาว ควรอยู่ในระดับ 10% ต่อปีขึ้นไป แต่ไม่ควรเกิน 15% ต่อปี
ด้วยผลตอบแทนระดับนี้ เราจะสามารถลงทุนได้ด้วยวิธีที่ปลอดภัย ไม่เครียด และไม่จำเป็นต้องลงทุนเสี่ยงเกินไป
เราควรเน้นไปที่การลงทุนแบบระยะยาว และพยายามทำผลตอบแทนให้ได้ อย่างน้อย 10% ต่อปีขึ้นไป แต่ถ้าเราคิดว่าเราเก่งมาก เราก็สามารถตั้งเป้าหมายไว้ที่ 15% ต่อปีก็ได้
สมมติว่า เรามีเงินลงทุนเริ่มต้น 100,000 บาท ถ้าเราทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 10% ต่อปี เป็นเวลาอีก 30 ปี เราจะมีเงิน 1,744,940 บาท
แต่ถ้าเราสามารถทำผลตอบแทนได้ 15% ต่อปี เราจะมีเงิน 6,621,177 บาท
2. เน้นลงทุนในบริษัทที่แข็งแกร่ง
ดร.นิเวศน์ ชอบบริษัทที่มีลักษณะของการเป็น Super Stock คือบริษัทที่มีความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน ในระยะยาวมีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจน้อยมาก และมีฐานะทางการเงินที่ปลอดภัย
โดยสินค้าและบริการของบริษัท มักจะเป็นสิ่งที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เพราะผู้คนต่างก็ยังใช้สิ่งเหล่านี้อยู่เป็นประจำ 
เมื่อเวลาผ่านไป พฤติกรรมของผู้บริโภคมักจะไม่เปลี่ยนแปลงมาก
3. กระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
เราควรกระจายความเสี่ยงทางการลงทุนด้วยการถือหุ้นหลายตัว ในหลากหลายอุตสาหกรรมด้วย
ถ้าเงินลงทุนของเรายังไม่มาก เช่น 1,000,000 บาท เราก็ควรถือหุ้นอย่างน้อยประมาณ 5 ตัว
แต่ถ้าเรามีเงินลงทุนมากกว่านั้น เราก็ควรถือหุ้นจำนวนมากขึ้นอีกสักหน่อย แต่ถ้าเงินลงทุนของเรายังมีไม่ถึง 100 ล้านบาท เราก็ไม่ควรถือหุ้นเกิน 10-15 ตัว
เพราะการถือหุ้นในจำนวนที่มากเกินไป จะทำให้เราเหนื่อยในการติดตามหาข้อมูล และอาจทำให้ผลตอบแทนในระยะยาวของเราลดลงด้วย
ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ควรใส่ไข่ในตะกร้าใบเดียวกันมากเกินไป 
โดย ดร.นิเวศน์ แนะนำว่า หุ้นแต่ละตัวที่เราถือ ต่อให้เรามั่นใจมากแค่ไหน ก็ไม่ควรถือหุ้นตัวนั้น ในสัดส่วนเกิน 30% ของพอร์ต
4. อย่าซื้อขายหุ้นบ่อยจนเกินไป
เราควรกำหนดเป็นเกณฑ์ตายตัวไว้เลยว่า ในแต่ละปี เราจะซื้อขายหุ้นไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต
อย่าง ดร.นิเวศน์ ตั้งกฎไว้ว่า ปริมาณการซื้อขายหุ้น จะต้องไม่เกิน 2 เท่าของพอร์ตปัจจุบัน
เช่น พอร์ตของเรามีมูลค่า 100,000 บาท เราก็ไม่ควรซื้อขายหุ้นคิดเป็นเงินเกิน 200,000 บาท
ดร.นิเวศน์ มองว่า ถ้าในแต่ละปีเราซื้อขายหุ้นมากเกินไป เราจะเป็นนักเก็งกำไร มากกว่าเป็นนักลงทุน ซึ่งอาจจะทำให้เรามีความเครียดในการลงทุนมากกว่าได้
5. สนใจความผันผวนของราคาหุ้นให้น้อย
หากเรามุ่งความสนใจไปที่ราคาหุ้นที่ผันผวนในแต่ละวันมากเกินไป ก็อาจจะส่งผลให้เราลงทุนแล้วไม่มีความสุขได้
ทางที่ดี เราควรดูราคาหุ้นให้น้อยลง โดยเน้นไปที่การดูความเปลี่ยนแปลงของพอร์ตโดยรวมแทน
ซึ่งเราควรดูแค่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือเดือนละ 1 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว
ดร.นิเวศน์ แนะนำว่า ถ้าในระยะยาว เราลงทุนได้ถูกต้อง เราจะเห็นพอร์ตการลงทุนของเราเติบโตขึ้น อย่างมั่นคง
6. สนใจที่ผลประกอบการของบริษัทเป็นหลัก
เมื่อเราลงทุนในหุ้นแต่ละตัวแล้ว สิ่งที่เราควรต้องโฟกัสเป็นหลักก็คือ การติดตามผลประกอบการของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ ในทุกไตรมาสที่งบการเงินประกาศ
หน้าที่ที่เราต้องทำก็คือ การตรวจสอบว่า ผลประกอบการของบริษัทเป็นอย่างไร ดีขึ้น-แย่ลง และเป็นไปตามที่เราคิดไว้หรือไม่
เมื่อตรวจสอบแล้ว เราจึงค่อยมาตัดสินใจว่า เราจะยังถือหุ้นตัวนั้นต่อไป ซื้อเพิ่ม หรือขายออก
7. นำเงินปันผลกลับไปลงทุนเพิ่ม
ในแต่ละปีที่เราได้รับเงินปันผลมา เรายังไม่ควรนำเงินปันผลมาใช้ แต่เราควรนำกลับไปลงทุนเพิ่มเรื่อย ๆ เพื่อทำให้พอร์ตของเราเติบโตขึ้น
ถ้าเราทำได้แบบนี้ พอร์ตของเราจะเติบโตขึ้นได้แบบก้าวกระโดด
จนถึงวันที่เราเกษียณจากการทำงานแล้ว และมีเงินปันผลเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ เราจึงค่อยนำเงินปันผลมาใช้
8. ทบทวนผลตอบแทนที่ทำได้ทุกปี
ในทุก ๆ สิ้นปี เราควรทบทวนดูว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนของเราในปีนี้ เป็นอย่างไร
หากเราทำได้ตามเป้าหมายหรือมากกว่า เราก็ควรดีใจและพอใจ เพราะผลตอบแทนนี้จะทำให้ในระยะยาว เรากลายเป็นคนรวยได้
แต่ถ้าเราทำได้น้อยกว่า เราก็ควรมาเน้นดูที่เงินปันผลแทนว่า ปีนี้เราได้รับเงินปันผลมากกว่าปีที่แล้วหรือไม่
ถ้าเงินปันผลที่ได้รับมากกว่าปีก่อน เราก็ควรสบายใจ เพราะเป็นสิ่งที่มาช่วยปลอบใจเราว่า เราอาจจะไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แต่ในระยะสั้นตลาดหุ้นอาจจะยังไม่เป็นใจ ทำให้ราคาหุ้นลดลง
ถ้าในระยะยาวเราลงทุนได้ถูกต้อง สุดท้ายราคาหุ้นก็จะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นตามพื้นฐานของกิจการที่ดีขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่าเราคงเข้าใจกันดีขึ้นแล้วว่า ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร มีวิธีในการลงทุนอย่างไร ให้ยังสามารถลงทุนแล้วมีความสุขควบคู่กันไปได้
หลักการข้างต้นนี้ ทาง MONEY LAB เชื่อว่า ทุกคนสามารถทำตามได้ไม่ยากจนเกินไป
เพราะสุดท้ายแล้ว บางทีชีวิตที่มีความสุขในแบบที่เราตามหาอยู่ อาจจะไม่ได้ต้องการใช้เงินมากมายอะไรขนาดนั้น
ด้วยวิธีการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ได้รับผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล สม่ำเสมอในระยะยาว ก็น่าจะเพียงพอให้มีอิสรภาพทางการเงินในบั้นปลายได้แล้ว
เพราะสำหรับบางคน แค่ได้มีเงินที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายไปตลอดชีวิต มีสุขภาพและความสัมพันธ์ที่ดี ก็นับว่าเป็นชีวิตที่มีความสุขสุด ๆ แล้ว..
Reference
- หนังสือ ลงทุนหุ้นอย่างสบายใจ (2556) โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.