กรณีศึกษา Temasek บริษัทแห่งชาติสิงคโปร์ ขาดทุน 9,500 ล้าน ในธุรกิจคริปโท

กรณีศึกษา Temasek บริษัทแห่งชาติสิงคโปร์ ขาดทุน 9,500 ล้าน ในธุรกิจคริปโท

9 มิ.ย. 2023
กรณีศึกษา Temasek บริษัทแห่งชาติสิงคโปร์ ขาดทุน 9,500 ล้าน ในธุรกิจคริปโท - BillionMoney
เมื่อปลายปีที่แล้ว การล่มสลายของ FTX กระดานซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ได้สร้างความสูญเสียให้กับตลาดคริปโทเคอร์เรนซี มากถึง 6.9 ล้านล้านบาท
ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนักลงทุน และธนาคารต่าง ๆ แล้ว ก็ยังรวมไปถึงบริษัทที่ชื่อว่า Temasek อีกด้วย โดยทาง Temasek ประสบกับการขาดทุนมากถึง 9,570 ล้านบาท เลยทีเดียว
เพราะอะไร Temasek ถึงได้เข้าไปลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี จนประสบกับการขาดทุนเกือบหมื่นล้านบาท ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
ในวันที่สิงคโปร์ ได้รับเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษ ในปี 1965 ในตอนนั้นประเทศสิงคโปร์ ขาดดุลงบประมาณมากถึง 14 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็น 1,500 ล้านบาท ในปัจจุบัน
ตัวเลขนี้อาจจะดูไม่เยอะมาก แต่สำหรับประเทศเล็ก ๆ ที่ต้องพึ่งพาการค้าขาย แถมสิงคโปร์ในตอนนั้น ยังไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวยเหมือนในตอนนี้ การขาดดุลในระดับนี้ ก็ถือว่า เข้าขั้นวิกฤติแล้ว
อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถของผู้นำ ณ ขณะนั้น อย่างคุณลี กวน ยู ก็ได้ทำให้ประเทศสิงคโปร์ สามารถพลิกงบประมาณของประเทศ จากขาดดุลให้กลับมาเกินดุลได้อีกครั้ง
แต่ถึงอย่างนั้น ทางการของสิงคโปร์ ก็มองว่าควรจะหารายได้เข้าประเทศเพิ่มเติม จากการลงทุน เพื่อให้มีงบประมาณพอใช้
เพราะถ้าหากจะพึ่งพางบประมาณ ด้วยการเก็บภาษีจากจำนวนประชากรที่มีอยู่น้อยนิดของสิงคโปร์ ที่ไม่ได้ร่ำรวยเหมือนในทุกวันนี้ เพียงอย่างเดียว ก็จะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
นั่นจึงทำให้ในปี 1974 รัฐบาลสิงคโปร์ ตั้งบริษัท Temasek Holdings ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่บริหารการลงทุนของชาติโดยเฉพาะ โดยมีกระทรวงการคลังของสิงคโปร์ เป็นผู้ถือหุ้น 100%
ในตอนแรกเริ่มนั้น Temasek มีเงินลงทุนเพียงแค่ 354 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 24,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน) ซึ่งเงินจำนวนนี้มาจากเงินทุนของบริษัท 30 แห่ง ที่รัฐบาลสิงคโปร์ถือหุ้นอยู่
แต่ปัจจุบันนี้ พอร์ตการลงทุนของบริษัท Temasek มีมูลค่ามากถึง 10.38 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ปีละ 13.2% ตลอด 49 ปีที่ผ่านมา
และมีการลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ทั้งในประเทศ เช่น Singtel ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของบริษัท INTUCH และบริษัท ADVANC
รวมถึงต่างประเทศ เช่น บริษัท Visa, บริษัท Alibaba และบริษัท Airbnb เป็นต้น
ผลตอบแทนเหล่านี้ ได้ถูกส่งคืนให้กับรัฐบาล เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ ให้แก่ประชาชนชาวสิงคโปร์ ผ่านทางกระทรวงการคลัง ที่ทั้งเก็บภาษีนิติบุคคลจากบริษัท Temasek และได้รับเงินปันผล จากการเป็นผู้ถือหุ้น
และเพื่อให้พอร์ตการลงทุนของสิงคโปร์ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางสภาพตลาดการลงทุนที่เปลี่ยนไป อีกทั้งการที่ประเทศสิงคโปร์ กำลังกลายเป็นสังคมสูงวัย ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแล
ก็บีบให้ทางบริษัท Temasek ต้องเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “คริปโทเคอร์เรนซี” นั่นเอง
ทางบริษัท Temasek ได้ให้ความสนใจใน FTX เป็นอย่างมาก เนื่องจากในตอนนั้น FTX กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว, มีเทคโนโลยีที่ดี อีกทั้งยังมีใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย
ส่งผลให้ทาง Temasek ตัดสินใจลงทุนใน FTX ไปถึง 2 รอบ โดยแบ่งเป็นการลงทุนในบริษัท FTX International รอบหนึ่ง และอีกรอบหนึ่ง เป็นการลงทุนใน FTX US
แต่สุดท้ายก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ทาง FTX ก็ได้ล่มสลายไป และทำให้ทางบริษัท Temasek ตัดสินใจตัดเงินลงทุนกว่า 9,570 ล้านบาท เป็นศูนย์ทั้งหมด
พร้อมกับมีการเปิดเผยในภายหลังว่า กระบวนการบริหารของบริษัท FTX นั้น เละเทะมาก จนไม่เหมือนบริษัทที่น่าเชื่อถือแม้แต่น้อย
เหตุการณ์นี้ทำให้คุณ Lim Boon Heng ประธานบริษัท Temasek ทำการลงโทษพนักงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนใน FTX ด้วยการตัดเงินเดือน
แม้ว่าจำนวนการขาดทุน จะคิดเป็นเพียงแค่ 0.09% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด ของทางบริษัท Temasek ก็ตาม
เพราะทาง Temasek นั้น ได้มองว่า แม้ความเสียหายที่คิดเป็นจำนวนเงิน จะดูเล็กน้อย เพียงแค่ไม่ถึง 1% ของพอร์ตการลงทุน
แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น ด้านความน่าเชื่อถือ ในฐานะของการเป็นบริษัทแห่งชาตินั้น ไม่อาจประเมินค่าได้
เพราะถ้าหากสมมติว่าวันหนึ่ง กองทุนประกันสังคมของเรา นำเงินไปลงทุนในเหรียญซิ่ง ที่มีความเสี่ยงสูง และมีความน่าเชื่อถือต่ำบ้าง
พวกเราก็คงรู้สึกไม่สบายใจ และเคลือบแคลงสงสัย ในตัวของผู้ที่มีหน้าที่ นำเงินของประชาชนในประเทศไปลงทุน ไม่ต่างกัน..
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.