รู้จัก ระบบการศึกษานิวซีแลนด์ อันดับ 4 ของโลก ที่ ทิม พิธา เคยไปเรียน - BillionMoney
หลายครั้งที่มีการสัมภาษณ์ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และตัวเต็งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย จะเห็นได้ว่า คุณพิธาได้แสดงทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่ดี ออกมาอยู่เสมอ

รู้จัก ระบบการศึกษานิวซีแลนด์ อันดับ 4 ของโลก ที่ ทิม พิธา เคยไปเรียน
18 พ.ค. 2023
เนื่องจากคุณพิธา เคยถูกคุณพ่อ ส่งไปเรียนที่เมืองแฮมิลตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ จนกระทั่งกลับมาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แต่รู้หรือไม่ว่า ประเทศนิวซีแลนด์ ที่คุณพิธาเคยไปเรียนนั้น เป็นประเทศที่องค์การสหประชาชาติจัดอันดับให้มีระบบการศึกษาที่ดี เป็นอันดับ 4 ของโลก และยังมีคุณภาพที่ดี ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก มานานกว่า 20 ปีด้วย
และถ้าหากคุณสงสัย ว่าระบบการศึกษาของนิวซีแลนด์ เป็นอย่างไร จนถูกจัดอันดับ ให้เป็นระบบการศึกษาที่ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกแบบนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
ประเทศนิวซีแลนด์นั้น ให้ความสำคัญกับการศึกษามาเป็นเวลาช้านาน เห็นได้จากการที่รัฐบาลนิวซีแลนด์ ได้ประกาศให้มีการจัดการศึกษาภาคบังคับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ให้กับเด็กอายุ 7 ขวบ จนถึง 13 ขวบ
ตั้งแต่ปี 1877 หรือเมื่อเกือบ 150 ปีก่อน เพื่อให้เด็กในประเทศ ได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐาน พร้อมกับมีการร่างหลักสูตรการศึกษาในระดับประถมศึกษา
และขยายการศึกษาภาคบังคับ ให้ครอบคลุมจนถึงเด็กอายุ 15 ปีอีกด้วย ในปี 1944
ซึ่งระบบการศึกษาของนิวซีแลนด์ในขณะนั้น โรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาต่าง ๆ จะถูกควบคุมโดยส่วนกลาง ซึ่งก็คือกระทรวงศึกษาธิการแทบทั้งหมด
ทำให้ระบบการศึกษาของนิวซีแลนด์ ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ ว่าดำเนินการอย่างเชื่องช้า ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ทันสมัย
กระทั่งปี 1984 ประเทศนิวซีแลนด์ได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจ จนก่อให้เกิดการขาดดุลงบประมาณมากถึง 6% ต่อ GDP
รัฐบาล ณ ขณะนั้น จึงต้องเริ่มหาวิธีแก้ไขปัญหา ด้วยการทำให้ภาครัฐมีการใช้จ่ายที่น้อยลง
ทางออกที่รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้มองไว้ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นก็คือ การปรับโครงสร้างการบริหารของราชการ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อประหยัดงบประมาณ ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คือ “การบริหารแบบกระจายศูนย์” นั่นเอง
รัฐบาลนิวซีแลนด์เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการบริหาร มาเป็นแบบกระจายศูนย์ ในช่วงปี 1989 ซึ่งแน่นอนว่าโรงเรียนในนิวซีแลนด์นั้น ก็ต้องถูกปรับเปลี่ยน จากระบบการบริหารจากส่วนกลางที่เชื่องช้า ให้กลายเป็นการบริหารแบบกระจายอำนาจแทน
โดยโรงเรียนจะมีอิสระ ในการบริหารจัดการกิจการต่าง ๆ ในโรงเรียน เช่น การบริหารงบประมาณ ด้วยการมีคณะกรรมการบริหาร ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้อำนวยการ, ครู และตัวแทนผู้ปกครอง ที่ได้รับเลือกตั้งจากคนในชุมชน
นอกจากนี้แล้ว โรงเรียนยังมีอำนาจ ในการกำหนดผลการเรียนรู้ที่ทางโรงเรียนต้องการวัดผล ได้เองอีกด้วย โดยกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่เพียงแค่กำหนดหลักสูตรแกนกลางแบบกว้าง ๆ และเข้าไปตรวจสอบว่านักเรียนได้รับความรู้ขั้นพื้นฐานครบถ้วนหรือไม่ เพียงเท่านั้น
เนื่องจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ในตอนนั้นมองว่า การให้โรงเรียนแข่งขันกันเอง เพื่อดึงดูดนักเรียน และงบประมาณนั้น จะดีกว่าการที่โรงเรียนต้องทำตามการชี้นำของกระทรวงศึกษาธิการ เพียงอย่างเดียว
ทางรัฐบาลนิวซีแลนด์ ยังได้ปรับปรุงการกระจายงบประมาณให้กับโรงเรียน จากแต่เดิมที่ให้งบประมาณเป็นรายหัวของนักเรียนแต่ละโรงเรียนเท่ากันหมด จนทำให้โรงเรียนใหญ่ ๆ ได้เปรียบมากกว่า
มาเป็นการกระจายงบประมาณ ตามผลการสอบระดับชาติของนักเรียน เพื่อจูงใจให้โรงเรียนยังคงมีการแข่งขันกันอยู่
นอกจากนี้ ในภายหลังก็มีการนำสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียน ในโรงเรียนต่าง ๆ เข้ามาพิจารณาด้วย เพื่อให้การกระจายงบประมาณ มีความเสมอภาคมากขึ้น
การกระจายอำนาจแบบนี้เอง ก็ได้ทำให้โรงเรียนต่าง ๆ สามารถกำหนดวิธีการเรียนการสอน ให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละกลุ่มได้ พร้อมกับมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน จากการกระจายงบประมาณอย่างตรงจุด
โดยในปัจจุบันนี้ ระบบการศึกษาของนิวซีแลนด์ จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับ ได้แก่
ระดับประถมศึกษา ระยะเวลาเรียน 8 ปี
ระดับมัธยมศึกษา ระยะเวลาเรียน 5 ปี แบ่งเป็น มัธยมต้น 2 ปี และมัธยมปลาย 3 ปี
ระดับอุดมศึกษา ประกอบไปด้วย อนุปริญญาตรี, ปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอก
และมีโรงเรียน 3 ประเภท ได้แก่ โรงเรียนรัฐ, โรงเรียนกึ่งรัฐบาล-กึ่งเอกชน และโรงเรียนเอกชน
นอกจากนี้ ถ้าหากเราดูสถิติเกี่ยวกับการศึกษาที่น่าสนใจของนิวซีแลนด์ ก็จะพบว่า
รัฐบาลนิวซีแลนด์ ลงทุนในการศึกษาชั้นประถม และมัธยมศึกษา มากถึง 3.7% ของ GDP
คะแนน PISA ของนักเรียนชาวนิวซีแลนด์ อยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก
ในปี 2022 นักเรียนในนิวซีแลนด์ ประมาณครึ่งหนึ่ง แทบไม่เคยขาดเรียนเลย
และระบบการศึกษาแบบนี้ ก็ไม่เพียงแค่ดึงดูดให้เด็ก ๆ ชาวนิวซีแลนด์ เข้าถึงการศึกษาที่ดีเท่านั้น แต่ยังดึงดูดนักเรียนต่างชาติเข้ามาอีกด้วย
เห็นได้จากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนมัธยมของนิวซีแลนด์ ได้มีนักเรียนต่างชาติ หลั่งไหลเข้ามาเรียนในระดับมัธยมศึกษา เฉลี่ยปีละ 13,000 คน เลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่าการกระจายอำนาจ ให้แต่ละโรงเรียนมีการจัดการด้วยตัวเองนั้น เป็นเหมือนการปลดล็อก ศักยภาพของโรงเรียนต่าง ๆ และช่วยยกระดับ ระบบการศึกษาโดยรวมของนิวซีแลนด์
จนสามารถผลิตบุคลากรคุณภาพ ให้แก่ประเทศนิวซีแลนด์เอง รวมไปถึงต่างชาติ อย่างเช่น คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นมาได้อีกด้วย..
References
-https://wisevoter.com/country-rankings/education-rankings-by-country/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Education_Index
-https://shorturl.at/eyNOZ
-https://dehanz.net.au/entries/picot-reporttomorrows-schools/
-https://teara.govt.nz/en/primary-and-secondary-education/page-6
-https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_education_in_New_Zealand#Tomorrow's_Schools
-https://rb.gy/g1c8i
-https://tradingeconomics.com/new-zealand/government-budget
-https://www.youtube.com/watch?v=AfknJLykx2M
-https://owlcampus.com/new-zealand-education-system/
-https://www.educationcounts.govt.nz/statistics?
-https://factsmaps.com/pisa-2018-worldwide-ranking-average-score-of-mathematics-science-reading/
-https://wisevoter.com/country-rankings/education-rankings-by-country/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Education_Index
-https://shorturl.at/eyNOZ
-https://dehanz.net.au/entries/picot-reporttomorrows-schools/
-https://teara.govt.nz/en/primary-and-secondary-education/page-6
-https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_education_in_New_Zealand#Tomorrow's_Schools
-https://rb.gy/g1c8i
-https://tradingeconomics.com/new-zealand/government-budget
-https://www.youtube.com/watch?v=AfknJLykx2M
-https://owlcampus.com/new-zealand-education-system/
-https://www.educationcounts.govt.nz/statistics?
-https://factsmaps.com/pisa-2018-worldwide-ranking-average-score-of-mathematics-science-reading/