ประเมินมูลค่าหุ้น จากกำไรของเจ้าของ วิธีที่ Warren Buffett และ Charlie Munger ใช้

ประเมินมูลค่าหุ้น จากกำไรของเจ้าของ วิธีที่ Warren Buffett และ Charlie Munger ใช้

26 เม.ย. 2023
ประเมินมูลค่าหุ้น จากกำไรของเจ้าของ วิธีที่ Warren Buffett และ Charlie Munger ใช้-BillionMoney
ที่ผ่านมา BillionMoney ได้เขียนถึงวิธีการประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ออกมา 2 บทความแล้ว ซึ่งก็คือ
วิธีประเมินมูลค่าหุ้นด้วย P/E Ratio
วิธีประเมินมูลค่าหุ้นด้วยเงินปันผล
แต่รู้หรือไม่ว่า มีอยู่อีกวิธีหนึ่ง ที่นักลงทุนระดับตำนานอย่างคุณ Warren Buffett และคุณ Charlie Munger ใช้ในการประเมินหามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท
วิธีดังกล่าวก็คือ “การประเมินมูลค่า โดยใช้กำไรของเจ้าของ” หรือ “Owner’s Earnings” นั่นเอง
โดยวิธีนี้คุณ Warren Buffett เคยเล่าเอาไว้ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้น ของบริษัท Berkshire Hathaway ในปี 1986 ด้วย
แล้ววิธีการประเมินมูลค่าดังกล่าว เป็นอย่างไร
BillionMoney จะมาสรุปให้เข้าใจกัน แบบง่าย ๆ
เพื่อให้เข้าใจกันง่ายขึ้น ขอยกตัวอย่างการประเมินมูลค่าหุ้นของบริษัท A โดยบริษัทมีผลประกอบการประจำปี ดังนี้
กำไรสุทธิ 828 ล้านบาท
ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายรวม 75 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายในการลงทุน 135 ล้านบาท
การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยการใช้กำไรของเจ้าของ มีขั้นตอนดังนี้
1.หากำไรของเจ้าของ และกำไรของเจ้าของต่อหุ้น
วิธีการประเมินมูลค่า โดยใช้กำไรของเจ้าของ สามารถคำนวณหาได้จาก
กำไรของเจ้าของ = กำไรสุทธิ + ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย - ค่าใช้จ่ายในการลงทุน
บริษัท A นั้น มีกำไรของเจ้าของ เท่ากับ 768 ล้านบาท ในขณะที่ มีหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในตลาดทั้งหมด 535 ล้านหุ้น ส่งผลให้ บริษัท A มีกำไรของเจ้าของต่อหุ้น เท่ากับ 1.44 บาทต่อหุ้น
2.คำนวณหามูลค่าที่แท้จริง
คุณ Warren Buffett ใช้ “อัตราคิดลด” หรือที่เรียกว่า “Discount Rate” มาช่วยในการคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นในปัจจุบัน
ซึ่งอัตราคิดลดนี้ จะใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลในระยะยาว
สมมติว่า อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลในระยะยาว
อยู่ที่ 6% ต่อปี
หลังจากนั้น จึงนำอัตราคิดลดนี้ ไปหารกับกำไรของเจ้าของ ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้น บริษัท A จะมีมูลค่าที่แท้จริงเท่ากับ 23.93 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ ตัวเลขมูลค่าที่แท้จริงที่ได้คำนวณไปข้างต้น คือมูลค่าที่แท้จริง โดยที่ยังไม่ได้คำนึงถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ
โดยเราสามารถตั้งสมมติฐานการเติบโตของบริษัท และนำไปคำนวณเพื่อหามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท เช่น
ช่วง 10 ปีแรก เราคาดการณ์ว่า บริษัทจะมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรของเจ้าของ อยู่ที่ 8% ต่อปี
ตั้งแต่ปีที่ 11 เป็นต้นไป กำไรของเจ้าของบริษัท A จะเติบโตได้ 3% ต่อปี
จากการคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตนี้เอง เราจะสามารถคำนวณได้ว่า มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น A จะเพิ่มขึ้นไปเป็น 75 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ ก่อนที่เราจะประเมินการเติบโตของบริษัท เพื่อนำมาใช้ในวิธีนี้ เราก็จำเป็นต้องรู้และเข้าใจในตัวกิจการของบริษัทเป็นอย่างดี เช่น
บริษัทกำลังอยู่ในช่วงไหนของการเติบโต ?
ธุรกิจของบริษัท อิ่มตัวแล้วหรือยัง ?
แผนการในการเติบโตต่อไปของบริษัท มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ?
งบลงทุนของบริษัท ต่อไปจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ?
ซึ่งถ้าเราเข้าใจในตัวธุรกิจเป็นอย่างดี เราก็จะสามารถตั้งประมาณการการเติบโต และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของบริษัท ได้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งก็จะทำให้เราสามารถตีมูลค่าที่แท้จริงได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม เวลาที่เราประเมินการเติบโตของบริษัทนั้น เราก็มีโอกาสที่จะประเมินคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งจะส่งผลให้เราประเมินมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทนั้นผิดไป
ดังนั้น เราจึงควรป้องกันความเสี่ยงเอาไว้เสมอ ด้วยการมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย หรือ Margin of Safety
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราประเมินมูลค่าหุ้น A ออกมาได้ 75 บาทต่อหุ้น เราก็อาจจะปรับให้มี ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยอีกสัก 50%
ซึ่งจะทำให้ราคาเป้าหมายของหุ้น A ลดลงมาเหลือแค่ 37.5 บาทต่อหุ้น ซึ่งถ้าสมมติว่าในตอนนั้น หุ้น A กำลังซื้อขายกันอยู่ที่ราคา 12 บาทต่อหุ้น
ถ้าเราซื้อและถือหุ้น A ไว้ จนวันที่ราคาได้สะท้อนออกมาถึงมูลค่าที่แท้จริง หลังปรับส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยแล้ว เราก็จะสามารถทำผลตอบแทนได้สูงถึง 212%
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราน่าจะเข้าใจวิธีการประเมินมูลค่าหุ้น ด้วยการใช้กำไรของเจ้าของ กันมากขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ ก่อนที่เราจะเข้าซื้อหุ้นนั้น เราควรต้องมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยไว้เสมอด้วย เพราะบางครั้งการประเมินมูลค่าของเรา อาจจะคลาดเคลื่อนออกไปมาก
เพราะการมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย จะช่วยเราในการจำกัดความเสี่ยงได้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เราซื้อหุ้นมาในราคาที่แพงเกินไป..
References:
หนังสือ The Warren Buffett Way (1994) โดย Robert G. Hagstrom
หนังสือ Poor Charlie's Almanack: The Wit and Wisdom of Charles T. Munger (2005) โดย Charlie Munger
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.