ทำไม บริษัทในตลาดหุ้น ต้องทำ งบกระแสเงินสด

ทำไม บริษัทในตลาดหุ้น ต้องทำ งบกระแสเงินสด

24 เม.ย. 2023
ทำไม บริษัทในตลาดหุ้น ต้องทำ งบกระแสเงินสด - BillionMoney
ปัจจุบัน เวลาที่เราดาวน์โหลดงบการเงินของบริษัทในตลาดหุ้น เราก็จะได้งบการเงินมา 3 ตัวเสมอ ได้แก่ งบแสดงฐานะการเงิน, งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด
แต่รู้หรือไม่ว่า หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว เราจะหางบกระแสเงินสดไม่เจอ เนื่องจากในตอนนั้น บริษัทต่าง ๆ ยังไม่ได้ถูกบังคับให้ทำงบกระแสเงินสด
หากคุณสงสัยว่า เกิดเหตุการณ์อะไรที่ทำให้บริษัทในตลาดหุ้น ต้องถูกบังคับให้ทำงบกระแสเงินสดแบบนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
งบแสดงฐานะการเงิน หรือ Balance Sheet และงบกำไรขาดทุน เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการบันทึกบัญชีแบบในปัจจุบัน มาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 หรือเมื่อ 500 กว่าปีที่แล้ว
แต่งบกระแสเงินสดเพิ่งถูกพัฒนาอย่างจริงจัง เมื่อช่วงทศวรรษ 1970 ก่อนจะถูกบังคับใช้ในสหรัฐอเมริกาในปี 1988 และใช้กันทั่วโลกในปี 1994 หรือเมื่อเกือบ 30 ปีก่อนนี้เอง
แล้วงบกระแสเงินสดมีความสำคัญอย่างไร ?
“งบกระแสเงินสด” ถูกทำขึ้นเพื่อแสดงการเคลื่อนไหวของเงินสดของกิจการในช่วงเวลานั้น ๆ ว่า เงินสดไหลเข้า และไหลออกไปที่ไหนบ้าง
เพื่อดูว่าเงินสดมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น หรือลดลง และเหลืออยู่ในมือเจ้าของกิจการเท่าไร
โดยงบกระแสเงินสดนั้น จะแบ่งประเภทกระแสเงินสด ตาม 3 กิจกรรมหลักของธุรกิจ ได้แก่
-กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน
เมื่อกระแสเงินสดไหลเข้าก็จะเป็นบวก เช่น มีเงินสดจากการขายสินค้า
และเมื่อกระแสเงินสดไหลออกก็จะเป็นลบ เช่น มีการจ่ายค่าต้นทุนสินค้า หรือจ่ายค่าแรงพนักงาน
-กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน
กระแสเงินสดไหลเข้าก็จะเป็นบวก เมื่อกิจการทำการขายธุรกิจย่อย หรือทรัพย์สินถาวร เช่น ที่ดินและโรงงาน
ในทางกลับกัน กระแสเงินสดไหลออกก็จะเป็นลบ เมื่อกิจการทำการซื้อ สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น
-กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน
กระแสเงินสดไหลเข้าก็จะเป็นบวก จากการที่กิจการกู้ยืมเงิน หรือเพิ่มทุน
และกระแสเงินสดไหลออกก็จะเป็นลบ เมื่อกิจการจ่ายคืนเงินกู้, ซื้อหุ้นคืน หรือจ่ายเงินปันผล
หลังจากนั้น ก็จะนำเงินสดสุทธิของแต่ละกิจกรรมของธุรกิจ มาสรุปรวมเป็นจำนวนเงินสดสุทธิของช่วงเวลานั้น ๆ
หากออกมาเป็นบวก ก็แปลว่า ในปีนี้บริษัทมีเงินสดไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากออกมาเป็นลบ ก็แปลว่า ในปีนี้บริษัทมีเงินสดลดลง หรือเงินสดมีการไหลออก
ก็พูดได้ว่า งบกระแสเงินสด เป็นเหมือนเครื่องวัดชีพจรของธุรกิจ เพราะกระแสเงินสดก็คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงกิจการ ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
หากธุรกิจที่มีแต่เงินสดไหลออก จนแทบไม่มีเงินสดเพียงพอในการดำเนินกิจการ ก็ไม่ต่างกับคนที่กำลังจะสิ้นใจ เพราะเลือดไหลจนหมดตัว แม้ฐานะการเงินยังคงดูดี หรือมีกำไรอย่างต่อเนื่องก็ตาม
เหมือนดังเช่น บริษัท W.T. Grant ที่เคยเป็นผู้ค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งล้มละลายไปเมื่อปี 1976
บริษัท W.T. Grant นั้น เริ่มธุรกิจในปี 1906 ด้วยการเป็น 25 Cent Variety Store ซึ่งคล้าย ๆ กับร้านทุกอย่าง 20 บาทในบ้านเรา ก่อนจะเปลี่ยนตัวเองเป็นร้านค้าปลีกขนาดใหญ่
ซึ่งในช่วงปี 1966 ถึงปี 1973 นั้น กิจการของบริษัท W.T. Grant กำลังไปได้สวย เพราะกำไรยังคงเติบโตเรื่อย ๆ แถมยังสามารถขยายสาขาไปได้ถึง 1,200 สาขา ทั่วสหรัฐอเมริกา
โดยในช่วงปี 1970 นั้น บริษัท W.T. Grant มีรายได้มากถึง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีกำไรมากถึง 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็น 423,000 ล้านบาท และ 10,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน)
ส่งผลให้บริษัทแห่งนี้ เป็นที่สนใจของนักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยหุ้นของ W.T. Grant ในปี 1973 นั้น ซื้อขายกันที่ P/E ประมาณ 20 เท่า ในขณะที่ P/E เฉลี่ยของหุ้นในตลาด ณ ตอนนั้น ซื้อขายกันที่ 15 เท่า
อย่างไรก็ตาม แม้ฉากหน้าของ W.T. Grant จะดูสวยหรู แต่สิ่งที่นักลงทุนไม่รู้ก็คือ บริษัทแห่งนี้มีเงินสดไหลออกจากกิจการมากขึ้นเรื่อย ๆ มานานถึง 3 ปี ติดต่อกันแล้ว
โดยในปี 1973 เงินสดของบริษัท W.T. Grant ได้ไหลออกจากกิจการ มากถึงเกือบ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเหตุผลเบื้องหลัง ก็คือ การขยายสาขาอย่างบ้าคลั่งของ W.T. Grant นั่นเอง
เพราะว่าการเปิดร้านหนึ่งสาขา ก็หมายถึงค่าใช้จ่ายอีกมากมายที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นค่าตกแต่งร้าน, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าสต็อกสินค้า และค่าจ้างพนักงาน เป็นต้น
ส่งผลให้บริษัท W.T. Grant ที่แม้จะมีรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ แต่สิ่งเหล่านั้นก็เป็นเพียงแค่ตัวเลขที่ไร้ความหมาย เพราะในมือของเจ้าของกิจการนั้น ไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
นอกจากนี้ บริษัท W.T. Grant ยังได้ทำการกระตุ้นยอดขายในสาขาต่าง ๆ ด้วยการอนุญาตให้ลูกค้า ซื้อสินค้าด้วยการ “เซ็นไว้ก่อน” ได้อีกด้วย
แต่การตลาดแบบหว่านแหแบบนี้ ก็ได้ทำให้บริษัท W.T. Grant ไม่ได้ประเมินว่า ลูกค้าคนไหนบ้าง ที่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ เป็นเหตุให้ทางบริษัทไม่สามารถเก็บหนี้จากลูกค้าได้ และยิ่งทำให้เงินสดไหลเข้ากิจการน้อยลงไปอีก
พอชักหน้าไม่ถึงหลังแบบนี้ ทางบริษัท W.T. Grant จึงทำการออกตราสารหนี้ เพื่อให้มีเงินสดใช้สำหรับหมุนเวียนในกิจการ
แต่ในเมื่อสุดท้ายแล้ว ทางบริษัทยังคงไม่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ก็ทำให้ทาง W.T. Grant ยังต้องเดินหน้าก่อหนี้ต่อไปเรื่อย ๆ โดยครั้งนี้พวกเขาหันไปหาที่พึ่งสุดท้าย นั่นก็คือธนาคาร
อย่างไรก็ตาม บริษัท W.T. Grant ที่มีหนี้ท่วม ก็ไปไม่รอดอยู่ดี จนสุดท้าย ต้องยื่นขอล้มละลายไปในปี 1976 ซึ่งนับเป็นการล้มละลายของร้านค้าปลีก ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา ในตอนนั้นเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้เอง หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทางคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีของสหรัฐอเมริกา หรือ FASB จึงเริ่มเอาจริงเอาจัง กับการพัฒนาวิธีบันทึกงบกระแสเงินสด
เพื่อพยายามปกป้องผู้ลงทุนรายย่อยอย่างเรา ๆ
เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า บริษัทไหนคือบริษัทที่แข็งแกร่งจริง ๆ หรือบริษัทไหนดูดีแค่ฉากหน้า แต่เบื้องหลังแล้ว กำลังใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.