ทำไม “อินเดีย” ถึงยังไม่ประสบความสำเร็จ ในการผลิตชิป เป็นของตัวเอง

ทำไม “อินเดีย” ถึงยังไม่ประสบความสำเร็จ ในการผลิตชิป เป็นของตัวเอง

5 เม.ย. 2023
ทำไม “อินเดีย” ถึงยังไม่ประสบความสำเร็จ ในการผลิตชิป เป็นของตัวเอง - BillionMoney
เซมิคอนดักเตอร์ หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า ชิป เป็นสิ่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก เพราะว่ามันถูกใช้เป็นส่วนประกอบในสิ่งของต่าง ๆ ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือที่เราใช้งานกันในทุกวัน ไปจนถึงอุปกรณ์ทางการทหารอันล้ำสมัย
หลาย ๆ ประเทศ จึงต้องหาทางผลิตชิปเป็นของตัวเองให้ได้ และแน่นอนว่าหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง “อินเดีย” ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ความพยายามในครั้งนี้ของอินเดีย กลับไม่ประสบความสำเร็จ
และถ้าหากคุณสงสัย ว่าเพราะอะไรอินเดีย ถึงยังไม่ประสบความสำเร็จ ในการผลิตชิปเป็นของตัวเองแบบนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
ในช่วงทศวรรษ 1960 อุตสาหกรรมชิปกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศกำลังเติบโต และมีความต้องการจากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จากการที่โลกยังอยู่ในช่วงสงครามเย็น
ด้วยความที่การผลิตชิป เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ผู้ผลิตชิปหลาย ๆ แห่งในสหรัฐอเมริกา จึงเริ่มมองหาแรงงานราคาถูก ในประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่น เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และอินเดีย
ประเทศอินเดีย จึงได้เริ่มทำความรู้จักกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นครั้งแรก จากการที่บริษัท Fairchild Semiconductor จากสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาติดต่อกับทางการของอินเดีย เพื่อเข้ามาตั้งโรงงาน
แต่ด้วยความที่ระบบราชการของอินเดียในตอนนั้น เต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน จนทำให้กระบวนการเจรจาเป็นไปอย่างยากลำบาก บริษัท Fairchild Semiconductor จึงล้มเลิกแผนการไป และตัดสินใจตั้งโรงงานที่มาเลเซียแทน
การปล่อยโอกาสทองดังกล่าวให้หลุดลอยไปแบบนี้ ได้กลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของอินเดีย เพราะในช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 1980
ประเทศที่เริ่มผลิตชิปเป็นของตัวเองได้อย่าง ญี่ปุ่น และไต้หวัน ก็ได้กลายเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกไปแล้ว ส่วนประเทศที่เป็นฐานการผลิตอย่าง เกาหลีใต้, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างก็มีเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้เองทางรัฐบาลอินเดีย จึงหันมาจริงจังกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตัวเอง ด้วยการตั้งบริษัทรัฐวิสาหกิจ ชื่อว่า Semiconductor Complex Limited หรือ SCL ขึ้นมา ในปี 1982
รัฐบาลอินเดีย ได้ทุ่มทุนมากถึง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(ประมาณ 3,900 ล้านบาท ในปัจจุบัน) ในการเนรมิตโรงงานของ SCL ขึ้นมาในเมืองโมฮาลี รัฐปัญจาบ พร้อมทั้งเกณฑ์นักศึกษาระดับหัวกะทิ จากสถาบันเทคโนโลยีระดับต้น ๆ ของประเทศ เข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก
จนถึงปี 1984 บริษัท SCL ได้ซื้อลิขสิทธิ์การผลิตชิป ของบริษัท American Microsystems แถมหลังจากนั้นบริษัท SCL ยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิป จากบริษัท Rockwell ผู้ผลิตระบบอัตโนมัติจากสหรัฐอเมริกา และบริษัท Hitachi จากญี่ปุ่น อีกด้วย
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของอินเดีย ดูเหมือนจะมีพร้อมทุกอย่างแล้ว ในการก้าวขึ้นไปเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ เพราะมีทั้งรัฐบาลที่คอยหนุนหลัง, มีนักวิจัยระดับแนวหน้าของประเทศ และยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติอีกด้วย
แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรค สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของอินเดีย มีอยู่ด้วยกัน 3 อย่าง ได้แก่
1.การผลิตชิป ต้องการเงินลงทุนสูง อย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมการผลิตชิปนั้น แตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่น ตรงที่เทคโนโลยีในการผลิตชิป สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วมาก ๆ
ส่งผลให้การก่อตั้งบริษัทชิปนั้น นอกจากจะต้องมีเงินลงทุนสำหรับสร้างโรงงานแล้ว ยังจำเป็นจะต้องมีเงินทุนอีกมหาศาลในการพัฒนาชิปของตัวเอง เพื่อไล่กวดเทคโนโลยีของคู่แข่งให้ทัน
เพราะฉะนั้น เม็ดเงินอันมหาศาลที่รัฐบาลอินเดียทุ่มทุนสร้างโรงงาน SCL นั้น จึงยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ บริษัท SCL สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ได้
2.การวางทิศทางที่ผิดพลาด
ประเภทของบริษัทในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หลัก ๆ แล้วจะมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่
-บริษัทผู้รับออกแบบชิป เช่น AMD และ NVIDIA
-บริษัทผู้รับผลิตชิป เช่น TSMC
-บริษัทผู้ผลิตชิปและออกแบบชิปเอง เช่น Intel
ซึ่งบริษัท SCL ของอินเดียนั้น พยายามที่จะเป็นผู้รับผลิตชิป เพื่อที่จะใช้จุดเด่นเรื่องค่าแรงที่ถูกกว่าประเทศอื่น ๆ
จนมองข้ามจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งที่ว่า บริษัท SCL นั้น เต็มไปด้วยนักวิจัยระดับหัวกะทิ ที่มีความสามารถในการออกแบบชิป
บริษัท SCL จึงไม่ได้ใช้ความสามารถในการออกแบบชิป ที่ตัวเองได้เปรียบมากเท่าที่ควร แต่กลับไปเน้นการรับผลิตชิป ซึ่งต้องไปแข่งกับบริษัทอย่าง TSMC ของไต้หวัน ที่มีเทคโนโลยี และฝีมือแรงงาน นำหน้าอินเดียไปไกลแล้ว
3.ไม่เกิด Economies of Scale
Economies of Scale คือการที่ผู้ผลิต สามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมาก ๆ จนกดต้นทุนต่อชิ้นในการผลิตสินค้า ให้ต่ำลงได้ ทำให้มีความได้เปรียบคู่แข่งในด้านต้นทุน
อย่างไรก็ตาม บริษัท SCL ก็ไม่เคยไปถึงจุดนั้นได้ เนื่องจากอินเดีย จำเป็นต้องนำเข้าเครื่องผลิตชิปจากต่างประเทศ ซึ่งเครื่องผลิตชิป ไม่ใช่รายการสินค้าที่อินเดียลดภาษีนำเข้า ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตชิปสูงขึ้น
นอกจากนี้ ชิปของบริษัท SCL ยังไม่สามารถตีตลาดในประเทศได้เลย เนื่องจากต้นทุนที่สูง ก็ต้องทำให้ SCL ขายชิปในราคาที่สูง
ในขณะที่ผู้ผลิตชิปรายใหญ่จากต่างประเทศ กลับขายในราคาถูกกว่าได้ เพราะต้นทุนในการผลิตที่ต่ำกว่า ส่งผลให้ฐานลูกค้าของบริษัท SCL ส่วนใหญ่แล้ว จึงมีแต่หน่วยงานรัฐ
ด้วยเหตุนี้เอง อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของอินเดีย จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และเริ่มถดถอยลง เมื่อโรงงานของ SCL เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในปี 1989
ซึ่งเหตุเพลิงไหม้ครั้งนั้น ต้องใช้เวลานานถึง 8 ปีเต็ม บวกกับค่าซ่อมแซมกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4,100 ล้านบาท ในปัจจุบัน) กว่า SCL จะกลับมาเดินเครื่องผลิตได้อีกครั้ง
ปัจจุบันนี้ บริษัท SCL ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นศูนย์วิจัยเซมิคอนดักเตอร์ ให้กับรัฐบาลอินเดียแทน
หลังจากที่รัฐบาลอินเดีย พยายามที่จะจับมือกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ในประเทศ เพื่อกลับมาผลิตชิปอีกครั้ง อย่างเช่น บริษัท JP Associates ในปี 2016 และบริษัท HSMC ในปี 2019
แต่การร่วมมือกันทั้ง 2 ครั้งก็ต้องล่มไป เนื่องจากทั้ง 2 บริษัท ไม่สามารถหาเงินทุนจำนวนมากพอ ในการลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิปอีกครั้งได้
อินเดียจึงกลายเป็นประเทศ ที่ยังผลิตชิปไม่ได้ และต้องนำเข้าชิปจากต่างประเทศแทบทั้งหมด ทั้งยังต้องพึ่งพาการนำเข้าชิปจากประเทศจีน ที่ก็มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ไม่ค่อยดีกับอินเดียนัก
ก็เป็นที่น่าสนใจว่า ถ้าหากในวันนั้น ประเทศอินเดีย สามารถตกลงกับ บริษัท Fairchild Semiconductor ได้สำเร็จ
เราอาจจะได้เห็นประเทศอินเดีย กลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตชิปรายใหญ่ เคียงข้างสหรัฐอเมริกา และไต้หวัน ก็เป็นได้..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.