ทำไม บัตรทอง ถึงสำคัญกับ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ?

ทำไม บัตรทอง ถึงสำคัญกับ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ?

1 มี.ค. 2023
ทำไม บัตรทอง ถึงสำคัญกับ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ? - BillionMoney
หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อ “บัตรทอง” กันมาบ้าง
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของหลายคน ที่มักจะถูกใช้ เมื่อเข้าไปรับการรักษาจากสถานพยาบาลของภาครัฐ
แล้วเราเคยสงสัยไหมว่า บัตรทองคืออะไร
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
จริง ๆ แล้ว “บัตรทอง” “บัตร 30 บาท” หรือ “บัตรประกันสุขภาพ”
ทั้ง 3 ชื่อที่พูดมานี้คือ สิทธิ์การรักษาแบบเดียวกันทั้งหมด เพียงแต่หลายคนอาจเรียกแตกต่างกัน
ซึ่งก่อนที่จะมีบัตรทองนั้น ประเทศไทย มีระบบสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพจากภาครัฐ 4 ระบบ คือ
1.ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ
2.ระบบประกันสังคม
3.ระบบประกันสุขภาพโดยสมัครใจ (โครงการบัตรสุขภาพ เสียเงินรายเดือน หรือรายปี)
4.โครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.)
ในอดีตที่ผ่านมา ทั้ง 4 ระบบจากภาครัฐ บวกกับระบบประกันสุขภาพของภาคเอกชนแล้ว จะครอบคลุมประชากรเพียงแค่ 70% ของประเทศเท่านั้น
นั่นก็หมายความว่า ประชากรอีก 30% ยังไม่มีสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพใด ๆ
ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ระดับประเทศ
เพราะสัดส่วนของผู้สูงอายุ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเผชิญกับโรคร้ายมากขึ้น
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี
พอเป็นแบบนี้ บัตรทองจึงเกิดขึ้นในปี 2545 สมัยรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
ซึ่งหลายคนน่าจะคุ้นเคยกันในชื่อของ “บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค”
โดยเป้าหมายหลักของโครงการก็คือ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทุกคน ได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และให้ผู้ยากไร้มีสิทธิ์ที่จะได้รับการรักษาพยาบาล จากสถานบริการของรัฐ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
โดยผู้ที่มีสิทธิ์ใช้บัตรทอง จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
-บุคคลที่มีสัญชาติไทย มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก
-ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่น ๆ จากภาครัฐ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ สิทธิพนักงานรัฐวิสาหกิจ สิทธิพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระ และครูโรงเรียนเอกชนในระบบ
ซึ่งตั้งแต่บัตรทองนั้นได้เกิดขึ้น มาจนถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลากว่า 21 ปีแล้ว..
รู้ไหมว่า ในปี 2564 ประชากรในประเทศไทยที่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลนั้น มีจำนวนทั้งหมด 67.7 ล้านคน หรือ 99% ของประชากรทั้งหมด
โดยเป็นผู้ถือบัตรทองทั้งหมด 50.8 ล้านคน หรือราว 74% ของประชากรทั้งหมด
จะเห็นได้ว่า บัตรทองก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ทำให้คนไทย เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น แถมยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของครัวเรือนได้อีกด้วย
หากเราลองมาดู งบประมาณสำหรับบัตรทองในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2549 งบประมาณ 72,000 ล้านบาท
ปี 2566 งบประมาณ 200,000 ล้านบาท
โดยงบประมาณที่ถูกจัดสรรให้แก่บัตรทองล่าสุดนั้น มีสัดส่วนราว 6.3% ของงบประมาณทั้งหมดประจำปี 2566
แม้ว่างบประมาณสำหรับบัตรทองนั้น จะถูกจัดสรรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี
ซึ่งเรื่องนี้ยังส่งผลให้โรงพยาบาลรัฐหลาย ๆ แห่ง มักประสบปัญหาทางการเงินอีกด้วย
ก็น่าติดตามต่อเหมือนกันว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีการแก้ไขปัญหาตรงนี้ไปในทิศทางไหน
เพราะว่า บัตรทองนั้นถือว่าเป็นสิทธิและสวัสดิการที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก
โดยเฉพาะสำหรับแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่มีสวัสดิการคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันด้านสุขภาพ
ซึ่งบัตรทองก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่สำคัญ ในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนไทยกลุ่มนี้ได้บ้าง..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.