
ทำไม เหรียญสตางค์ ยังคงจำเป็น ต่อเศรษฐกิจไทย
5 ม.ค. 2023
ในหลาย ๆ ครั้งที่ได้รับเงินทอน เป็นเหรียญสตางค์ จากร้านสะดวกซื้อ หลาย ๆ คนอาจเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า เพราะอะไรเหรียญสตางค์เหล่านี้ ยังคงหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ
เพราะถึงแม้เหรียญสตางค์เหล่านี้ ตามกฎหมายจะกำหนดว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ ครั้งละไม่เกิน 10 บาท แต่ร้านค้าส่วนใหญ่ ก็ไม่สะดวกใจที่จะรับเหรียญสตางค์อยู่ดี
ซึ่งถ้าหากคุณสงสัย ว่าด้วยเหตุผลใด เหรียญสตางค์ถึงยังคงหมุนเวียน อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
ข้อเสียของการมีเหรียญสตางค์ ในระบบเศรษฐกิจนั้น หลัก ๆ แล้วจะมีอยู่ 2 ข้อ คือ
1.สร้างความลำบากในการใช้จ่าย
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ถึงแม้ประเทศไทยเราจะมีกฎหมายว่า สามารถนำเหรียญสตางค์ไปใช้ชำระหนี้ได้ ไม่เกินครั้งละ 10 บาท
แต่ร้านค้าส่วนใหญ่ก็ไม่สะดวกใจที่จะรับ เพราะร้านค้าจะต้องลำบาก ในการเก็บเศษเหรียญไว้กับตัว ที่ถ้าหากเก็บรวมกันมาก ๆ เข้า ก็จะมีน้ำหนักมาก จนหาที่เก็บลำบาก
ทำให้ร้านค้าต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ มักจะตั้งราคาสินค้าแบบปัดเศษ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย จากการที่ไม่ต้องรับ และทอนเหรียญสตางค์
เพราะฉะนั้นเมื่อร้านค้าทั่วไป ไม่อยากที่จะรับเหรียญสตางค์แบบนี้ ก็ทำให้ผู้บริโภคอย่างเรา ไม่อยากจะพกเหรียญสตางค์เหล่านี้ไว้ ให้หนักกระเป๋าของตัวเองด้วยเช่นกัน
2.สิ้นเปลืองงบประมาณในการผลิต
ด้วยความที่เหรียญ 25 สตางค์ และเหรียญ 50 สตางค์นั้น ทำมาจากโลหะ อย่างเหล็ก และทองแดง ซึ่งราคาของโลหะเหล่านี้ ก็ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการของตลาด
ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของเหรียญสตางค์ ในช่วงหลัง ๆ มานี้ เริ่มสูงกว่ามูลค่าที่แสดงไว้บนหน้าเหรียญเสียอีก
อย่างเช่นที่กรมธนารักษ์ ได้เคยเปิดเผยข้อมูลไว้ว่า เหรียญ 25 สตางค์ มีต้นทุนการผลิตเท่ากับ 50 สตางค์ และเหรียญ 50 สตางค์ ก็มีต้นทุนการผลิตเท่ากับ 70 สตางค์
หรืออาจจะบอกได้ว่า กรมธนารักษ์ กำลังขาดทุนจากการผลิตเหรียญสตางค์ ที่แทบไม่มีใครใช้ อยู่เรื่อย ๆ จนกลายเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ
ด้วย 2 เหตุผลนี้ ก็ดูเหมือนจะเพียงพอแล้ว ที่จะตัดสินใจยกเลิกการใช้เหรียญสตางค์ ซึ่งหลาย ๆ ประเทศ อย่างเช่น สวีเดน, นิวซีแลนด์, บราซิล และแคนาดา ก็ได้ยกเลิกการใช้เหรียญที่มีมูลค่าน้อย ๆ ของตัวเอง ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม การมีเหรียญสตางค์อยู่ในระบบเศรษฐกิจนั้น ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียเสมอไป
เพราะว่าการมีเศษสตางค์ในการคิดราคานี้เอง สามารถทำให้ราคาสินค้าขึ้นได้ช้าลง เพราะผู้ขายมีทางเลือกที่จะขึ้นราคาสินค้าแบบมีเศษสตางค์ได้ แทนที่จะขึ้นราคาสินค้าแบบเต็ม ๆ
สมมติว่าร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง ต้องการขึ้นราคาสินค้า จาก 10 บาท เป็น 10.25 บาท ราคาสินค้าก็จะเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 2.5%
แต่ถ้าหากประเทศไทย ยกเลิกการใช้เหรียญสตางค์แล้ว ร้านสะดวกซื้อแห่งนี้ ก็จะเหลือทางเลือกให้ขึ้นราคาจาก 10 บาท เป็น 11 บาทเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาของสินค้า เพิ่มขึ้นถึง 10% เลยทีเดียว
หรือถ้าจะยกตัวอย่าง ที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากขึ้น ก็คงเป็นการที่ราคาน้ำมัน จะขึ้นได้ทีละ 1 บาทขึ้นไป เพียงอย่างเดียว แทนที่จะขึ้นครั้งละ 15 ถึง 80 สตางค์ แบบที่เป็นอยู่
นอกจากนี้ เศษสตางค์ก็ยังคงมีการใช้งานอยู่ ในระบบธนาคาร เนื่องจากจำนวนเงินที่ได้ จากการคำนวณดอกเบี้ย หรืออัตราแลกเปลี่ยนนั้น ไม่ได้เป็นตัวเลขเต็มจำนวนเสมอไป
จากทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า แม้เศษสตางค์ในกระเป๋าของเรา จะดูเหมือนสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่ที่จริงแล้วเหรียญเล็ก ๆ เหล่านี้ กลับมีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ มากกว่าที่เราคิด
ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงมีโอกาส ที่จะได้เห็นเหรียญสตางค์เหล่านี้ ยังคงหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ของประเทศไทย ไปอีกนานหลายปี..