
“เกาหลีใต้” ใช้เวลาแค่ 31 ปี ในการเป็น ผู้ส่งออกรถยนต์ อันดับ 5 ของโลก
3 ม.ค. 2023
ในวันที่เกาหลีใต้เริ่มส่งออกรถยนต์ครั้งแรก ในปี 1976 คงไม่มีใครคิดว่ารถยนต์ของประเทศนี้ จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือด ของรถยนต์จากชาติอุตสาหกรรมชั้นนำต่าง ๆ ในตลาดโลก
แต่ในวันนี้ รถยนต์จากเกาหลีใต้ ได้รับการยอมรับในหลายประเทศทั่วโลก จนทำให้ตอนนี้เกาหลีใต้กลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์อันดับต้น ๆ ของโลก ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 31 ปี เท่านั้น
และถ้าหากคุณสงสัย ว่าเกาหลีใต้ทำอย่างไร ถึงกลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก ด้วยเวลาอันรวดเร็วแบบนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
ประเทศเกาหลีใต้ในช่วงแรกนั้น ดูไม่ใกล้เคียงกับประเทศที่จะสามารถก้าวขึ้นไปเป็น ผู้ผลิตรถยนต์อันดับต้น ๆ ของโลกเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากเศรษฐกิจของเกาหลีใต้นั้น ถูกทำลายจนย่อยยับ จากสงครามเกาหลี
โดยรายได้ต่อหัวของเกาหลีใต้ในปี 1953 อยู่ที่ 67 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีเท่านั้น (ประมาณ 26,000 บาท ในปัจจุบัน) ทำให้ชาวเกาหลีใต้ ยากจนกว่าชาวไทย และประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศในตอนนั้น
ซึ่งเมื่อเราดูประเทศที่จะฟื้นตัวจากสงครามได้ ส่วนใหญ่แล้วก็มาจากการใช้อุตสาหกรรม อย่างเช่น ญี่ปุ่น ที่แม้จะเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง ด้วยอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีการทำอุตสาหกรรมอย่างเข้มแข็ง มาตั้งแต่ก่อนที่จะแพ้สงครามแล้ว ส่งผลให้การจะขับเคลื่อนประเทศด้วยการทำอุตสาหกรรมอีกครั้ง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากมากนัก
แตกต่างกับเกาหลีใต้ ที่เศรษฐกิจพึ่งพาภาคการเกษตรมาโดยตลอด จะมีการทำอุตสาหกรรมบ้าง ก็แค่ตอนที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองเท่านั้น ทำให้ความรู้ในด้านอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ในช่วงเวลานั้น ค่อนข้างน้อยมาก
ทำให้ “ชิบัล” รถยนต์ฝีมือชาวเกาหลีใต้คันแรก ที่ถูกผลิตเมื่อปี 1955 ดูเหมือนการนำรถเก่ามาซ่อมแซม มากกว่าการผลิตเอง เนื่องจากรถยนต์คันนี้ ทำมาจากรถจี๊ปเหลือใช้ ที่นำถังน้ำมันใช้แล้ว มาประกอบเป็นตัวถังรถอีกที
จนกระทั่งนายพล Park Chung Hee ได้ทำการรัฐประหาร และขึ้นเป็นประธานาธิบดี ในปี 1962 รัฐบาลเกาหลีใต้ ก็เริ่มเน้นหนัก ไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งการผลิตรถยนต์ ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม ที่รัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสนใจ
รัฐบาลเกาหลีใต้ในตอนนั้น จึงได้ร่างแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ขึ้น พร้อมกับตั้งกำแพงภาษี สำหรับรถยนต์ต่างชาติ เพื่อให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของเกาหลีใต้ได้เติบโต ในขณะที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น
โดยในตอนแรก รัฐบาลได้มอบหมายให้บริษัท Saenara Motors เป็นผู้ผลิตรถยนต์เพียงผู้เดียว ซึ่งบริษัท Saenara Motors ก็ได้รับวิธีการผลิตรถยนต์แบบใหม่ จากการส่งคนไปเรียนรู้กับ Nissan ที่ญี่ปุ่น จนสามารถผลิตได้เร็วขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม อีก 1 ปีต่อมา บริษัทนี้ก็ปิดตัวลง เนื่องจากวิกฤติขาดแคลนเงินสำรองระหว่างประเทศ จนทำให้ Saenara Motors ไม่สามารถนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากญี่ปุ่น มาทำการผลิตรถยนต์ต่อได้
เมื่อเห็นว่าการผูกขาดการผลิตรถยนต์ และการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ นำมาซึ่งความล้มเหลว รัฐบาลเกาหลีใต้จึงเปลี่ยนทิศทางนโยบาย ไปเป็นการสนับสนุนให้เอกชนในประเทศผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มากขึ้น
อีกทั้งรัฐบาลเองก็อนุญาตให้บริษัทของเอกชน และของรัฐ ที่แต่ก่อนมีหน้าที่เพียงแค่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อป้อนให้โรงงานของ Saenara Motors สามารถผลิตรถยนต์ของตัวเองได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมมากขึ้น
นั่นจึงทำให้ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ได้เกิดผู้ผลิตรายใหญ่ ของอุตสาหกรรมรถยนต์เกาหลีใต้ 3 รายคือ บริษัท Shinjin Motors, Asia Motors และ Hyundai
ก่อนที่ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 บริษัท Shinjin Motors และ Asia Motors จะถูกบริษัท Daewoo และ Kia เข้าซื้อกิจการตามลำดับ จนทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเกาหลีใต้ กลายเป็น Hyundai, Daewoo และ Kia
อุตสาหกรรมรถยนต์ของเกาหลีใต้ต่อจากนั้น ก็ได้พัฒนาขึ้น จากการแข่งขันกันพัฒนารถยนต์ของบริษัทต่าง ๆ พร้อมกันนั้นตลาดรถยนต์ในประเทศเกาหลีใต้ ก็ได้เติบโตขึ้น จากการที่เศรษฐกิจของเกาหลีใต้เริ่มฟื้นตัว
และเมื่อเกาหลีใต้สามารถผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ได้เอง พร้อมกับเริ่มมีความรู้ในการทำอุตสาหกรรมรถยนต์เพียงพอแล้ว ก็ถึงเวลาที่รถยนต์ของเกาหลีใต้ จะเริ่มออกไปตีตลาดโลก
ทำให้ในปี 1976 เกาหลีใต้ก็ได้ส่งออกรถยนต์ Hyundai Pony เป็นครั้งแรก โดยส่งไปตีตลาดอเมริกาใต้ก่อน ตามด้วยตะวันออกกลาง และแอฟริกาในปีต่อมา จนครอบคลุมถึง 42 ประเทศทั่วโลก ในปี 1978
เมื่อเป็นแบบนี้ เกาหลีใต้จึงเริ่มหันมาจริงจัง กับการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก แทนการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียว
เพราะขนาดของตลาดในประเทศของเกาหลีใต้ ก็ถือว่ายังเล็กอยู่ เนื่องจากประชากรของเกาหลีใต้ในตอนนั้น มีอยู่ประมาณ 38 ล้านคนเท่านั้น
ผู้ผลิตรถยนต์จากเกาหลีใต้ จึงเริ่มเจาะตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างสหรัฐอเมริกา ในปี 1986 โดย Hyundai ได้ทำการส่งออก Hyundai Excel ไปขายยังสหรัฐอเมริกา
แต่ทว่าการที่รถยนต์จากเกาหลีใต้ ไม่เคยต้องแข่งขันกับแบรนด์รถยนต์ชั้นนำจากต่างประเทศ ประกอบกับการเร่งผลิตเพื่อส่งออกมากเกินไป ก็ทำให้การควบคุมคุณภาพหละหลวม
รถยนต์จากเกาหลีใต้ในช่วงเวลานั้น จึงมีภาพจำเป็นรถยนต์ราคาถูก คุณภาพแย่ ที่มีแต่คนรายได้น้อยจนไม่มีทางเลือกเท่านั้น ที่จะซื้อมาใช้งาน
ในปี 1987 รัฐบาลเกาหลีใต้ จึงค่อย ๆ ทำการลดกำแพงภาษีรถนำเข้า เพราะในตอนนั้น อุตสาหกรรมรถยนต์ของเกาหลีใต้ ก็เริ่มพัฒนาไปพอสมควรแล้ว แต่การจะพัฒนาไปถึงระดับโลกนั้น ผู้ผลิตรถยนต์เหล่านี้ จำเป็นจะต้องรับมือกับการแข่งขันจากต่างประเทศให้ได้
นั่นจึงทำให้คุณภาพของรถยนต์เกาหลีใต้ค่อย ๆ พัฒนาขึ้น จนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้น และทำให้ตัวเลขการผลิต เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปี 1980 ผลิตรถยนต์ได้ 123,135 คัน อันดับที่ 26 ของโลก
ปี 1990 ผลิตรถยนต์ได้ 1,321,630 คัน อันดับที่ 11 ของโลก
ปี 2000 ผลิตรถยนต์ได้ 3,114,998 คัน อันดับที่ 5 ของโลก
ปี 1990 ผลิตรถยนต์ได้ 1,321,630 คัน อันดับที่ 11 ของโลก
ปี 2000 ผลิตรถยนต์ได้ 3,114,998 คัน อันดับที่ 5 ของโลก
ส่วนในด้านการส่งออกนั้น ประเทศเกาหลีใต้ได้กลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์อันดับที่ 5 ของโลก ตั้งแต่ปี 2007 ด้วยมูลค่าการส่งออกที่ 1.19 ล้านล้านบาท
ซึ่งถ้าหากนับตั้งแต่วันแรกที่เกาหลีใต้ ส่งรถ Hyundai Pony ไปขายยังอเมริกาใต้ เมื่อปี 1976 ก็นับได้ 31 ปีพอดี
จากทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การพัฒนาของอุตสาหกรรมรถยนต์เกาหลีใต้ ค่อนข้างน่าสนใจเลยทีเดียว เพราะจากประเทศที่แทบไม่มีความรู้ทางด้านอุตสาหกรรมเลย
แต่เกาหลีใต้ ก็สามารถกลายเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ อันดับต้น ๆ ของโลกได้ ด้วยมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมของรัฐ ในช่วงที่เริ่มต้น และเปิดให้เจอกับการแข่งขัน เมื่ออุตสาหกรรมมีความพร้อมมากขึ้น
ประกอบกับข้อจำกัดเรื่องตลาดในประเทศที่มีขนาดเล็ก ก็ได้เป็นแรงผลักดันให้ ผู้ผลิตรถยนต์ของเกาหลีใต้พัฒนาตัวเอง เพื่อสู้กับแบรนด์รถยนต์ชั้นนำของประเทศอื่น ๆ ให้ได้ หากต้องการที่จะเติบโต
ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วนี้เอง ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญ ที่ช่วยพาประเทศเกาหลีใต้ ยกระดับตัวเองจากประเทศยากจน ขึ้นไปเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ได้อย่างรวดเร็ว..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเกาหลีใต้ เหลือเพียงแค่ Hyundai และ Daewoo เท่านั้น เนื่องจาก Hyundai ได้เข้าซื้อ Kia ที่ประสบปัญหาทางการเงิน ในปี 1999
และในปีนี้ Hyundai ก็ได้กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุด เป็นอันดับ 3 ของโลก ในด้านปริมาณการผลิต โดยเป็นรองเพียงแค่ Toyota และ Volkswagen เท่านั้น
References
-https://www.topgear.com/car-news/classic/meet-first-ever-korean-car
-https://eh.net/encyclopedia/the-economic-history-of-korea/
-https://en.yna.co.kr/view/AEN20150810006300320
-https://rb.gy/ysndxx
-https://data.worldbank.org/indicator/SP.POP.TOTL?locations=KR
-https://core.ac.uk/download/pdf/213852188.pdf
-https://www.orlandosentinel.com/news/os-xpm-2003-04-24-0304230460-story.html
-http://oica.net/category/production-statistics
-https://rb.gy/tokev8
-https://www.japantimes.co.jp/news/2022/12/21/business/hyundai-third-largest-carmaker/
-https://www.topgear.com/car-news/classic/meet-first-ever-korean-car
-https://eh.net/encyclopedia/the-economic-history-of-korea/
-https://en.yna.co.kr/view/AEN20150810006300320
-https://rb.gy/ysndxx
-https://data.worldbank.org/indicator/SP.POP.TOTL?locations=KR
-https://core.ac.uk/download/pdf/213852188.pdf
-https://www.orlandosentinel.com/news/os-xpm-2003-04-24-0304230460-story.html
-http://oica.net/category/production-statistics
-https://rb.gy/tokev8
-https://www.japantimes.co.jp/news/2022/12/21/business/hyundai-third-largest-carmaker/