
“อาร์เจนตินา” ประเทศแชมป์ฟุตบอลโลก ที่เคยรวย อันดับ 6 ของโลก
19 ธ.ค. 2022
สิ่งที่ทำให้ประเทศอาร์เจนตินา เป็นที่รู้จักสำหรับนานาประเทศในปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นเรื่อง ทีมฟุตบอล ที่ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน และเพิ่งคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกเพิ่ม เป็นสมัยที่ 3 ได้ เมื่อวานนี้
แต่รู้หรือไม่ว่าเมื่อกว่า 110 ปีก่อน ประเทศอาร์เจนตินา เป็นที่รู้จัก ในเรื่องของการเป็นประเทศที่ร่ำรวย จนมีสำนวนในหมู่ชาวฝรั่งเศส ไว้เรียกคนที่รวยมาก จนไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไรว่า “ร่ำรวยอย่างกับคนอาร์เจนตินา”
และถ้าหากคุณสงสัย ว่าเพราะอะไร ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อกว่า 110 ปีก่อน ถึงเป็นประเทศ ที่ร่ำรวยขนาดนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
ดินแดนที่เป็นประเทศอาร์เจนตินาในปัจจุบัน ถูกค้นพบโดย Juan de Solis นักสำรวจชาวสเปน ในปี 1516 ก่อนที่ชาวสเปนจะมาตั้งเมืองบัวโนสไอเรส ในปี 1580 บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำรีโอเดลาปลาตา
เมืองบัวโนสไอเรส เป็นศูนย์กลางของอาณานิคมสเปน ในแถบอเมริกาใต้เรื่อยมา ก่อนจะนำโบลิเวีย และอุรุกวัย ประกาศเอกราช ในปี 1816 และแยกตัวออกมาเป็น ประเทศอาร์เจนตินา ในปี 1828
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ประเทศอาร์เจนตินา ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ส่งผลให้ผืนดินของอาร์เจนตินา เหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างมาก แถมยังมีทุ่งหญ้าปัมปัสอันกว้างใหญ่ สำหรับเลี้ยงสัตว์อีกด้วย
เศรษฐกิจของอาร์เจนตินา จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงปี 1870 ด้วยการส่งออกสินค้าเกษตร และเนื้อสัตว์ ไปยังยุโรป
ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างร้อนแรง ก็ได้ทำให้อาร์เจนตินา กลายเป็นที่ดึงดูดเงินทุนจากยุโรป โดยภาคเศรษฐกิจที่ชาวยุโรปเข้าไปลงทุน หลัก ๆ แล้วก็จะมีโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร และรางรถไฟ
และนอกจากเงินทุนแล้ว อาร์เจนตินา ยังกลายเป็นจุดหมายปลายทาง ของแรงงานในยุโรปจากหลายประเทศ เช่น ชาวอิตาลี และชาวสเปน อีกด้วย เนื่องจากมีงานให้ทำมากกว่า และยังได้ค่าแรงที่สูงกว่าด้วย
ซึ่งในภายหลัง ชาวอิตาลีเหล่านี้เอง ก็ได้กลายเป็นประชากรกลุ่มหลักของประเทศ โดยในปี 2020 ชาวอาร์เจนตินาเชื้อสายอิตาลีนั้น คิดเป็นถึง 2 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศเลยทีเดียว
ซึ่งนักเตะชาวอาร์เจนตินาชื่อดัง เช่น Lionel Messi และ Angel Di Maria ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่าง ของลูกหลานแรงงานชาวอิตาลีเหล่านั้น ที่ได้เดินทางมาหางานทำเมื่อ 100 กว่าปีก่อน
ด้วยความที่มีทั้งเงินทุนไหลเข้า พร้อมกับได้รับแรงงานคุณภาพจากยุโรป ก็ได้ทำให้ในปี 1908 ประเทศอาร์เจนตินา กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก
และร่ำรวยกว่าอดีตเจ้าอาณานิคมอย่างสเปนถึง 2 เท่า ด้วยรายได้ต่อหัวที่ 5,829 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 6,600,000 บาท ในปัจจุบัน)
อย่างไรก็ตาม ยุคทองของเศรษฐกิจอาร์เจนตินา ก็อยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากในปี 1930 ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก หรือ Great Depression เป็นเหตุให้ประเทศอาร์เจนตินา ที่พึ่งพาการส่งออก ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ ได้ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้น จนนำไปสู่การรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจ
จนกระทั่งในปี 1946 ประเทศอาร์เจนตินา ก็ได้ผู้นำที่ชื่อว่า นายพล Juan Peron ที่มีนโยบายออกไปในแนวประชานิยม เพื่อเอาใจชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของตัวเอง
แน่นอนว่านโยบายประชานิยม จำเป็นต้องใช้งบประมาณเยอะ แต่การจะขึ้นภาษีเพื่อนำเงินมาเข้าคลัง ก็จะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นแน่
เพราะฉะนั้นแล้ว นายพล Peron จึงตัดสินใจทำการกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ ก่อนจะถูกรัฐประหารไปในปี 1955
ส่วนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอาร์เจนตินา ก็ได้เปลี่ยนจากการเปิดเสรี ไปเป็นการที่รัฐบาล เข้าแทรกแซงกิจการของเอกชน อีกทั้งยังทำการลดค่าเงิน เพื่อเสริมการส่งออกของประเทศอีกด้วย
แต่ด้วยการลดค่าเงิน ได้ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น จนเกิดเงินเฟ้อสูง อีกทั้งการแทรกแซงกิจการของเอกชนบ่อย ๆ ทำให้การดำเนินกิจการไม่มีประสิทธิภาพ จนส่งผลให้รัฐบาลอาร์เจนตินา ต้องยอมกลับมาเปิดเสรี ในปี 1976
หลังจากการเปิดเสรีก็ทำให้เศรษฐกิจของอาร์เจนตินา กลับมาเติบโตอย่างร้อนแรงอีกครั้ง สะท้อนจากช่วงปี 1976 ถึงปี 1986 นั้น เศรษฐกิจของอาร์เจนตินา เติบโตถึงปีละ 8%
เมื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้อาร์เจนตินา กลายเป็นที่หมายของแหล่งเงินทุนอีกครั้ง แต่ด้วยการเปิดเสรีอย่างไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะในภาคการเงิน
อีกทั้งรัฐบาลที่กำลังขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก เพราะการบริหารงบประมาณที่ผิดพลาด และการทำสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ กับสหราชอาณาจักร ก็ได้ทำให้รัฐบาลตัดสินใจ “พิมพ์เงิน” ประกอบกับการกู้เงินจากต่างประเทศอย่างมหาศาล
ประเทศอาร์เจนตินา จึงเกิดวิกฤติหนี้ขึ้นถึง 2 ครั้ง คือในปี 1981 และในปี 2001 ซึ่งวิกฤติในครั้งที่ 2 นั้น ถือเป็นวิกฤติที่หนักที่สุด เพราะเงินทุนจากต่างประเทศ ได้พากันไหลออกจากอาร์เจนตินา จนต้องประกาศลอยตัวค่าเงินเปโซอาร์เจนตินา
และรัฐบาลอาร์เจนตินา ก็ได้ทำการผิดนัดชำระหนี้ เป็นจำนวนเกือบ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้สาธารณะ ที่มากที่สุดจนถึงทุกวันนี้
ด้วยเหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นนี้เอง ก็ได้ทำให้ประเทศอาร์เจนตินา ค่อย ๆ ก้าวถอยหลัง จนกลายเป็นเพียงประเทศกำลังพัฒนาในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ปัญหาเศรษฐกิจทั้ง 2 อย่างของอาร์เจนตินา
ก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข เพราะในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เงินเฟ้อของอาร์เจนตินา ก็สูงมากถึง 92.4% อีกทั้งอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในปี 2021 ก็ยังสูงถึง 80.5%
ก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข เพราะในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เงินเฟ้อของอาร์เจนตินา ก็สูงมากถึง 92.4% อีกทั้งอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในปี 2021 ก็ยังสูงถึง 80.5%
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศอาร์เจนตินา มีศักยภาพเพียบพร้อม ที่จะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ถ้าหากไม่ได้พบกับการบริหารที่ผิดพลาด
ดังเช่นงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยลูบลิยานา (University of Ljubljana) ที่ได้ประมาณการว่า ถ้าหากอาร์เจนตินา ไม่ได้พบกับนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดเช่นนี้ ประเทศอาร์เจนตินา จะมีรายได้ต่อหัวสูงเท่ากับ นิวซีแลนด์, อิตาลี หรือสเปน เลยทีเดียว
ซึ่งก็น่าสนใจว่า ถ้าหากประเทศอาร์เจนตินา ไม่ได้ประสบกับชะตากรรมแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และผลเป็นไปตามที่งานวิจัยประมาณการไว้จริง
ในวันนี้ เราอาจจะได้เห็น ประเทศอาร์เจนตินา ที่เป็นทั้งชาติมหาอำนาจของโลกฟุตบอล และประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นได้..
References
-https://www.japantimes.co.jp/opinion/2002/01/09/commentary/world-commentary/argentina-a-nation-too-few-believe-in/
-https://www.britannica.com/place/Argentina
-https://web.archive.org/web/20110909092716/http://eh.net/book_reviews/political-economy-argentina-twentieth-century
-https://www.dw.com/en/https-enwikipediaorg-wiki-economichistoryofargentina/a-54310145
shorturl.at/iwJOY
-https://www.wilsoncenter.org/blog-post/italy-suddenly-distant-relative
-https://www.hbs.edu/ris/Publication%20Files/LAER%20Introduction%20to%20Argentine%20Exceptionalism_3c49e7ee-4f31-49a0-ba21-6e2b726cd7c5.pdf
-https://documents1.worldbank.org/curated/en/774661468768634942/pdf/multi0page.pdf
-https://www.brookings.edu/wp-content/uploads/2016/06/11_argentina_kiguel.pdf
-https://tradingeconomics.com/argentina/inflation-cpi
-https://tradingeconomics.com/argentina/government-debt-to-gdp
-https://latinaer.springeropen.com/articles/10.1186/s40503-019-0076-2
-https://www.japantimes.co.jp/opinion/2002/01/09/commentary/world-commentary/argentina-a-nation-too-few-believe-in/
-https://www.britannica.com/place/Argentina
-https://web.archive.org/web/20110909092716/http://eh.net/book_reviews/political-economy-argentina-twentieth-century
-https://www.dw.com/en/https-enwikipediaorg-wiki-economichistoryofargentina/a-54310145
shorturl.at/iwJOY
-https://www.wilsoncenter.org/blog-post/italy-suddenly-distant-relative
-https://www.hbs.edu/ris/Publication%20Files/LAER%20Introduction%20to%20Argentine%20Exceptionalism_3c49e7ee-4f31-49a0-ba21-6e2b726cd7c5.pdf
-https://documents1.worldbank.org/curated/en/774661468768634942/pdf/multi0page.pdf
-https://www.brookings.edu/wp-content/uploads/2016/06/11_argentina_kiguel.pdf
-https://tradingeconomics.com/argentina/inflation-cpi
-https://tradingeconomics.com/argentina/government-debt-to-gdp
-https://latinaer.springeropen.com/articles/10.1186/s40503-019-0076-2