
ได้เงินก้อน จากการโดนเลิกจ้าง ทำอย่างไร ให้เสียภาษีน้อยที่สุด
30 มิ.ย. 2025
ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่เป็นใจ หลายคนอาจจะกำลังเจอกับการเลิกจ้าง แบบไม่ทันตั้งตัว
และแม้ว่าวันนี้เราจะยังไม่เจอกับตัวเอง แต่การรู้ไว้ก่อนย่อมดีกว่ารู้ทีหลัง เพราะบางเรื่องถ้ารู้ช้า ก็อาจทำให้เราเสียสิทธิไปโดยไม่รู้ตัว
อย่างเช่น การเลือกลาออกเอง อาจทำให้เราเสียสิทธิยกเว้นภาษีไปหลายแสนบาท
รวมถึงเงินชดเชยที่ได้มานั้น ถ้าวางแผนภาษีไม่ดี เราอาจจะต้องเสียภาษีมากเกินความจำเป็น
การเลิกจ้างจึงไม่ได้จบแค่เรื่องงาน แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการเงินก้อนใหญ่ที่ต้องวางแผนให้ชาญฉลาดอีกด้วย
MONEY LAB จะพาไปดูว่า เมื่อถูกเลิกจ้าง เราจะได้เงินอะไรบ้าง และจะวางแผนอย่างไรให้เสียภาษีน้อยที่สุด
เรื่องที่เราต้องรู้ มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่องหลัก ๆ นั่นคือ
1. เงินชดเชยตามกฎหมาย
คือเงินที่บริษัทต้องจ่ายให้เราตามกฎหมาย เมื่อมีการเลิกจ้างหรือไล่ออก โดยที่เราไม่ได้สมัครใจและไม่ได้ทำความผิด
สิ่งแรกที่เราต้องรู้คือ เมื่อถูกเรียกคุยเรื่องการเลิกจ้าง อย่าเขียนหรือเซ็นใบลาออกเอง ต้องให้บริษัททำหนังสือเลิกจ้างเท่านั้น
เพราะถ้าเราเป็นฝ่ายยื่นลาออก เราอาจจะไม่ได้รับเงินชดเชยเลย
และถึงแม้ว่าบริษัทบอกว่าจะจ่ายเงินให้เท่าเดิม แต่ความจริงคือ เราจะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามที่กฎหมายรองรับสำหรับกรณีถูกเลิกจ้าง
ซึ่งหมายความว่า เงินที่ควรจะได้รับการยกเว้นภาษี เราจะต้องถูกหักภาษีจากเงินทั้งก้อนไปเต็ม ๆ
โดยอัตราเงินชดเชยที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับอายุงาน ยิ่งอายุงานนานเท่าไร ก็จะได้รับเงินชดเชยที่สูงตามไปด้วย
- อายุงาน 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี
เงินชดเชยขั้นต่ำ 30 วัน หรือประมาณ 1 เดือน
- อายุงาน 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี
เงินชดเชยขั้นต่ำ 90 วัน หรือประมาณ 3 เดือน
- อายุงาน 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี
เงินชดเชยขั้นต่ำ 180 วัน หรือประมาณ 6 เดือน
- อายุงาน 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี
เงินชดเชยขั้นต่ำ 240 วัน หรือประมาณ 8 เดือน
- อายุงาน 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี
เงินชดเชยขั้นต่ำ 300 วัน หรือประมาณ 10 เดือน
- อายุงาน 20 ปีขึ้นไป
เงินชดเชยขั้นต่ำ 400 วัน หรือประมาณ 13 เดือนกว่า
วิธีคำนวณทำได้ง่าย ๆ คือนำเงินเดือนสุดท้าย หารด้วย 30 จะได้ค่าจ้างรายวัน จากนั้นคูณกับจำนวนวันที่ได้รับเงินชดเชย
ซึ่งเงินชดเชยที่เราจะได้รับจากการถูกเลิกจ้าง ส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง 400 วัน สูงสุดไม่เกิน 600,000 บาท เงินส่วนนี้เราจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
แต่ถ้าได้เกินกว่านั้น ส่วนที่เกินจะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราทำงานครบ 5 ปีขึ้นไป เราสามารถเลือกแยกยื่นภาษีได้ โดยไม่นำไปรวมกับรายได้อื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้เราเสียภาษีน้อยลง
ทำให้ถ้าเราเลือกลาออกเอง เราจะเสียสิทธิในการยกเว้นภาษีสูงสุด 600,000 บาทนี้ไปทั้งหมดเลย
2. เงินชดเชยจากประกันสังคม
การลาออกเอง ไม่เพียงแต่ทำให้เสียสิทธิยกเว้นภาษีจากเงินชดเชยตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังทำให้เราได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมน้อยลงด้วย
สิทธิเงินทดแทนกรณีว่างงาน มีเงื่อนไขที่ต่างกันระหว่าง
“ลาออกเอง” กับ “ถูกเลิกจ้าง” อย่างชัดเจน
ถ้าเราลาออกเอง จะได้เงิน 30% ของค่าจ้าง
เป็นระยะเวลา 3 เดือน
แต่ถ้าเราถูกเลิกจ้าง จะได้เงิน 60% ของค่าจ้าง
เป็นระยะเวลา 6 เดือน
โดยประกันสังคมจะใช้ฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าเราจะได้เงินเดือน 20,000 หรือ 50,000 บาท ก็จะใช้ฐาน 15,000 บาทในการคำนวณ
ซึ่งถ้าเราเลือกลาออกเอง จะได้เงินทั้งหมดรวม 13,500 บาท แต่ถ้าถูกเลิกจ้างจะได้เงิน 54,000 บาท
จะเห็นชัดเจนเลยว่า ถ้าเราเลือกลาออกเอง เราจะเสียประโยชน์ถึง 2 อย่าง คือ เสียสิทธิยกเว้นภาษีสูงสุด 600,000 บาท จากเงินชดเชยตามกฎหมาย และยังได้เงินจากประกันสังคมน้อยลงกว่า 40,000 บาทด้วย
3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
สำหรับคนที่ทำงานในบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ PVD เมื่อออกจากงานเราต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับเงินในกองทุน
แต่ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า
เงินใน PVD จะถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
- เงินสะสม ที่เราหักจากเงินเดือนทุกเดือน
- เงินสมทบ ที่บริษัทจ่ายเพิ่มให้
- ผลประโยชน์เงินสะสม
- ผลประโยชน์เงินสมทบ
ถ้าเราอยากได้เงินก้อนนี้ออกมาใช้ เราสามารถเลือกที่จะลาออกจากกองทุนได้ แต่เงิน 3 ส่วนสุดท้ายเราต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วย
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราทำงานครบ 5 ปีขึ้นไปก็จะได้รับสิทธิแยกยื่นภาษีผ่านใบแนบได้ ซึ่งจะทำให้เราเสียภาษีน้อยลง
แล้วถ้าเราไม่อยากเสียภาษี ต้องทำอย่างไร ?
คำตอบก็คือ ต้องถือ 5 ปีขึ้นไปและขายเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
ซึ่งสามารถเลือกได้ 3 วิธีหลัก ๆ คือ
- คงเงินไว้ในกองทุน โดยจะเสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 500 บาทต่อปี
- ย้ายไปลงทุนต่อใน RMF for PVD โดยเมื่อย้ายไปแล้ว เราไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องเหมือน RMF แบบทั่วไป
- ย้ายไป PVD ของที่ทำงานใหม่ ในกรณีที่ได้งานใหม่เร็ว และที่ใหม่ก็มีกองทุน PVD เราสามารถโอนย้ายต่อเนื่องได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่หางานหรือกำลังลังเลว่าจะทำอย่างไรดี เราสามารถเลือกที่จะคงเงินไว้ในกองทุนก่อนค่อยตัดสินใจก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรีบถอนเงินออกมาเลย ถ้ายังไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้
อ่านถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจแล้วว่า สิ่งสำคัญที่สุดในวันที่ถูกเลิกจ้าง ไม่ใช่แค่รับมือกับความไม่แน่นอน
แต่คือการรู้สิทธิของตัวเอง เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ที่ควรได้
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ อย่าเซ็นใบลาออกเอง เพราะการตัดสินใจผิดเพียงครั้งเดียว อาจทำให้เราเสียประโยชน์หลายแสนบาทในชั่วพริบตา
และอย่าลืมว่า ถ้าเราทำงานครบ 5 ปีขึ้นไป เราเองมีสิทธิที่จะเลือกแยกยื่นภาษี ซึ่งช่วยลดภาระภาษีจากเงินก้อนที่ได้มาอย่างมีนัยสำคัญ..
#วางแผนการเงิน
#หลักวางแผนการเงิน
#Layoff
References