งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล เครื่องมือบริหารสภาพคล่อง ที่ทุกคนควรรู้

งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล เครื่องมือบริหารสภาพคล่อง ที่ทุกคนควรรู้

3 พ.ค. 2024
งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล เครื่องมือบริหารสภาพคล่อง ที่ทุกคนควรรู้ | MONEY LAB
“จะมีเศรษฐี 100 ล้านบาทสักกี่คน ที่ได้เคยเห็นเงินสด 100 ล้านบาท มากองอยู่ตรงหน้า”
ประโยคข้างต้นถ้าฟังเผิน ๆ ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องตลกร้ายทั่วไป แต่อันที่จริงแล้ว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสภาพคล่องส่วนบุคคลที่เราต้องมี ไม่แพ้ความมั่งคั่ง จากทรัพย์สินต่าง ๆ
ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้เราบริหารสภาพคล่องได้ ก็คือ “งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล” นั่นเอง
และถ้าหากสงสัยว่า งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล มีรายละเอียดอะไรบ้าง และจะช่วยให้เราบริหารสภาพคล่อง ของตัวเราเอง ให้ดีขึ้นได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
เหมือนดังเช่น งบแสดงฐานะการเงิน และงบกระแสเงินสด ของบริษัททั้งหลายในตลาดหุ้น
งบแสดงฐานะการเงินส่วนบุคคล หรือที่เราชอบเรียกกันว่า “งบการเงินส่วนบุคคล” จะแสดงทรัพย์สิน และหนี้สินของเรา ณ ตอนที่เราเขียนแจกแจงออกมา เช่น ในช่วงสิ้นปี หรือสิ้นเดือน
ในขณะที่งบกระแสเงินสดส่วนบุคคลนั้น จะไม่ได้แสดงมูลค่าทรัพย์สิน หรือหนี้สิน แต่จะแสดงให้เราเห็นว่า เรามีรายได้จากทางใด และใช้จ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง ต่อเนื่องกันไปในแต่ละเดือน
ซึ่งถ้าฟังแบบนี้ ดูเผิน ๆ การทำงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล ก็คงไม่ได้ต่างอะไรกับ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ที่พวกเราเคยต้องทำกันตอนเด็ก ๆ สักเท่าไร
แต่สิ่งที่ทำให้งบกระแสเงินสด ต่างจากการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายธรรมดาก็คือ การที่งบนี้จะแสดงให้เห็นว่า
พฤติกรรมการใช้เงินของเรา ในแต่ละเดือนนั้น จะสามารถส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องที่มีอยู่ของเรา อย่างไรบ้าง ซึ่งจะช่วยให้เราวางแผนได้ด้วยว่า ช่วงไหนที่เราจะต้องประหยัดเงิน เพื่อระวังสถานการณ์เงินขาดมือ
เพื่อให้เห็นภาพ เราจะขอยกตัวอย่างการบริหารสภาพคล่อง ด้วยงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล จากนาย A ซึ่งมีเงินเดือน 23,000 บาท โดยไม่มีรายได้เสริม และรายได้จากการลงทุนเลย
โดยในตอนนี้ เขามีเงินสำรองฉุกเฉินอยู่ที่ 23,000 บาท หรือก็คือ ถ้านาย A ตกงาน เขาจะอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน
ทีนี้เราลองมาดูค่าใช้จ่ายของนาย A กันบ้าง..
นาย A มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายในทุกเดือน ได้แก่
จ่ายค่าเช่าห้อง รวมค่าน้ำ ค่าไฟ เดือนละ 8,000 บาทค่าอาหารและค่าเดินทาง รวมกันเฉลี่ยแล้วเดือนละ 8,100 บาทหักค่าประกันสังคม เดือนละ 750 บาทหักค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1,150 บาทค่าใช้จ่ายเพื่อความสุข เดือนละ 4,000 บาท
รวมเป็นค่าใช้จ่ายในทุก ๆ เดือน อยู่ที่ 22,000 บาท ซึ่งเงินที่เหลือจากการใช้ เดือนละ 1,000 บาท นาย A จะเก็บไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน
ส่วนค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินก้อน ซึ่งต้องจ่ายในปีนี้ ก็ได้แก่
จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ ในเดือนมิถุนายน เป็นจำนวน 20,000 บาทจ่ายค่าที่พัก ที่จองไว้สำหรับทริปเที่ยว ในเดือนตุลาคม เป็นจำนวน 14,000 บาท
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ก็จะทำให้ กระแสเงินสดของนาย A ในเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม จะเป็นบวก
เพราะหลังจากหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างไปแล้ว นาย A จะมีเงินเหลือเดือนละ 1,000 บาท และทำให้สิ้นเดือนพฤษภาคม นาย A จะมีสภาพคล่อง 28,000 บาท
ทุกอย่างก็เหมือนจะดูดี จนกระทั่งเดือนมิถุนายน ค่าใช้จ่ายในเดือนนี้ของนาย A จะไม่ใช่ 22,000 บาทอีกต่อไป แต่คือ 42,000 บาท เพราะเขาต้องจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพด้วย
นั่นจึงทำให้นาย A ต้องควักเงินสำรองฉุกเฉินของตัวเอง มากถึง 19,000 บาท จนทำให้ตอนนี้ สภาพคล่องของเขาจะเหลือเพียง 9,000 บาทเท่านั้น
ทำให้ถ้าหากนาย A ยังคงใช้จ่ายแบบเดิมอยู่ ทริปต่างประเทศของเขา ก็คงเหลือเพียงแค่ความฝัน
เพราะถ้าหักค่าใช้จ่ายแล้ว เขาจะมีสภาพคล่องติดลบ 1,000 บาท เท่านั้น จากการเก็บเงินเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 4 เดือน และจะทำให้ไม่มีเงินในบัญชีเหลือพอจะจ่ายค่าที่พัก
แม้ว่าในเดือนตุลาคม เขาจะมีเงินเก็บในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกว่า 11,500 บาทก็ตาม แต่เมื่อถอนออกมาไม่ได้ เงินเหล่านั้นก็ไม่สามารถช่วยอะไรเขาได้อยู่ดี..
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ถ้าหากทำได้ นาย A ก็ควรที่จะลดค่าใช้จ่ายเพื่อความสุขลง ควบคู่ไปกับการกินให้ประหยัดมากขึ้น
เพื่อให้เขามีเงินสดพร้อมจ่ายค่าที่พัก สำหรับเที่ยวต่างประเทศ ในเดือนตุลาคม
จากทั้งหมดนี้เองจะเห็นได้ว่า สิ่งที่งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล ช่วยให้เราบริหารจัดการเงินได้ ครอบคลุมกว่าการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพียงอย่างเดียว
ก็คือการที่เราสามารถดูได้ว่า ผลกระทบจากการใช้เงินในเดือนหนึ่ง สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้เงินในเดือนอื่น ๆ ได้อย่างไร
อันจะทำให้เราสามารถรู้ล่วงหน้า และวางแผนบริหารสภาพคล่อง ได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะรู้ตัวอีกที เงินในบัญชีที่มีก็หมดไปแล้ว
อีกทั้งยังเป็นการย้ำเตือนว่า เราอย่ามัวแต่มองเพียงแค่การสร้างสินทรัพย์ เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่ง จนลืมใส่ใจเรื่องสภาพคล่องของเราด้วย
เพราะถ้าเกิดวันหนึ่ง เราเงินขาดมือ เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้เงิน ก็คงไม่มีใครมานั่งรอเราขายบ้าน หรือที่ดินมูลค่าหลายล้านบาท เพื่อมาจ่ายเขาเป็นแน่..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.