รู้จัก “เชียเชิงไห่” เด็กบ้านจน จากปีนัง ผู้กลายเป็น Warren Buffett แห่งเอเชีย

รู้จัก “เชียเชิงไห่” เด็กบ้านจน จากปีนัง ผู้กลายเป็น Warren Buffett แห่งเอเชีย

8 เม.ย. 2024
รู้จัก “เชียเชิงไห่” เด็กบ้านจน จากปีนัง ผู้กลายเป็น Warren Buffett แห่งเอเชีย | MONEY LAB
ท่ามกลางแดดร้อนจ้า เด็กชายเชีย หรือชื่อเต็มคือ “เชียเชิงไห่” กำลังยืนขายสับปะรดช่วยแม่ บนข้างถนนของปีนัง ประเทศมาเลเซีย
ถ้าดูเผิน ๆ ในตอนนั้น เขาก็เหมือนเด็กบ้านจนแต่หัวดีทั่วไป ที่ปลายทางก็อาจจะได้ทำงานในบริษัทดี ๆ มีอาชีพมั่นคง ไว้เลี้ยงดูครอบครัว
ซึ่งไม่มีใครคาดคิดหรอกว่า ในวันนี้ เด็กชายเชีย ที่ยืนขายสับปะรดข้างทางในวันนั้น จะกลายเป็นผู้จัดการกองทุน ที่ดูแลเงินของนักลงทุนกว่า 186,000 ล้านบาท ในวันนี้
พร้อมทั้งได้ฉายาว่าเป็น “Warren Buffett แห่งเอเชีย” อีกด้วย
และถ้าหากคุณสงสัย ว่าเส้นทางชีวิตของคุณเชียเชิงไห่ เป็นอย่างไร กว่าเขาจะมาถึงจุดนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
จุดพลิกผันแรกของชีวิตคุณเชียเชิงไห่ (Cheah Cheng Hye) คือการจากไปของคุณพ่อ ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว ตั้งแต่คุณเชียอายุ 12 ปี
ด้วยความที่ฐานะครอบครัวของคุณเชียเอง ก็ไม่ได้ดีมากอยู่แล้ว การขาดหัวหน้าครอบครัวไป จึงทำให้สถานะทางการเงินของที่บ้านยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่
โชคยังดีที่คุณเชีย ไม่จำเป็นต้องทิ้งการศึกษา และออกมาทำงานเต็มตัว ตั้งแต่ยังเล็ก เพราะเขาได้ทุนการศึกษา ให้เข้าเรียนในโรงเรียนชื่อดังของปีนัง อย่างโรงเรียน Penang Free School
คุณเชียทั้งเรียนในโรงเรียน พร้อมกับช่วยคุณแม่ขายของ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ถึงอย่างนั้น คุณเชียก็ยังสามารถเป็นนักเรียนในระดับหัวกะทิของโรงเรียนได้
นอกจากนี้ คุณเชียยังมีงานอดิเรก อย่างการขลุกอยู่ในห้องสมุดของปีนัง ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง ทำให้แม้ตัวของเขาจะอยู่ในปีนัง แต่ความรู้ของเขานั้น กว้างไกลออกไปทั่วโลก
หลังจากเรียนจบมัธยมปลายแล้ว เขาได้เข้าทำงานเป็นนักข่าวกับสำนักข่าว The Star ในปีนัง เนื่องจากที่บ้านไม่มีเงินส่งเสีย ให้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนรู้กว้างอยู่แล้ว บวกกับความทะเยอทะยาน ก็ได้ทำให้หลังจากอายุครบ 20 ปี เขาก็ได้ขยับขยาย ไปอยู่กับสำนักข่าวที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
เริ่มที่สำนักข่าว Singapore Monitor ในสิงคโปร์ ตามด้วยสำนักข่าว Far Eastern Economic Review ในฮ่องกง จนมาลงเอยกับ สำนักข่าวธุรกิจและการเงินระดับโลกอย่าง Asian Wall Street Journal ในปี 1983
ระหว่างที่อยู่ในศูนย์กลางการเงินแห่งเอเชียนี้เอง คุณเชียก็ได้เริ่มสนใจเรื่องการเงินการลงทุนอย่างจริงจัง ซึ่งสไตล์การลงทุนที่คุณเชียได้ศึกษามาก็คือ การลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investing
โดยบุคคลต้นแบบของคุณเชียก็คือ คุณ Benjamin Graham และคู่หูนักลงทุนของเขาอย่างคุณ David Dodd ซึ่งแม้แต่ทุกวันนี้ เขายังเก็บหนังสือ Security Analysis ที่เขียนขึ้นโดยทั้งคู่ ไว้ในห้องทำงานของเขาอยู่เลย
จุดพลิกผันครั้งที่ 2 ในชีวิตของคุณเชีย มาถึงในปี 1989 เมื่อเขาได้พบกับหัวหน้าสาขาเอเชีย ของบริษัทวาณิชธนกิจระดับโลกอย่าง Morgan Grenfell
เขาได้เสนอแผนกับทาง Morgan Grenfell ว่า ให้ทางบริษัทเข้าไปลงทุนในหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็กของจีน ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จัก เพื่อให้ทางบริษัทสามารถแข่งขันกับธนาคารคู่แข่งได้
ซึ่งทางหัวหน้าสาขาเอเชียของ Morgan Grenfell ก็ประทับใจในการทำการบ้านอย่างหนักหน่วง และการวิเคราะห์ของคุณเชียเป็นอย่างมาก
เขาจึงตัดสินใจเปิดแผนกลงทุนหุ้นจีนขนาดกลาง และขนาดเล็ก พร้อมทั้งจ้างคุณเชีย ให้เข้ามาเป็นหัวหน้าทีมวิจัย ควบคู่ไปกับการเป็นเทรดเดอร์
โดยที่คุณเชียไม่ได้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศ เหมือนกับพนักงานคนอื่น ๆ ในบริษัทเลยด้วยซ้ำ..
คุณเชียทำงานอยู่ถึงปี 1993 ในที่สุดคุณเชีย ก็ออกมาเปิดบริษัทจัดการทรัพย์สินของตัวเองชื่อ “Value Partners” ร่วมกันกับคู่หูนักลงทุน ที่เขาได้พบจากการทำงาน อย่างคุณ V-Nee Yeh ด้วยเงินเพียงแค่ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 383 ล้านบาท ในปัจจุบัน)
ซึ่งหลักการลงทุนที่เขายึดมาตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงปัจจุบันนี้ก็คือ
เข้าซื้อบริษัทที่ถูกต้อง
ด้วยความที่คุณเชีย ไม่ได้ศึกษาแต่เรื่องการเงินการลงทุน แต่เขายังศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ รวมถึงการพัฒนาการทางการเมือง และเศรษฐกิจ
เขาจึงมองเห็นว่า ตลาดหุ้น และสภาพเศรษฐกิจของจีน ณ ขณะนั้น ค่อนข้างคล้ายคลึงกันกับ ตลาดหุ้น และสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ในช่วงที่ไอดอลของเขาอย่าง คุณ Benjamin Graham กำลังลงทุนอยู่
คุณเชียจึงใช้วิธีคัดเลือกหุ้นที่จะลงทุน คล้าย ๆ กันกับของคุณ Benjamin Graham โดยเขาจะมองหา บริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ซึ่งมีหนี้น้อย, กระแสเงินสดเป็นบวกสม่ำเสมอ, มี ROE สูง และจ่ายปันผลมาก ๆ
บริษัทถูกบริหารด้วยคนที่มีความชอบธรรม
แม้จะยึดถือหลักการลงทุนของคุณ Benjamin Graham อย่างสุดหัวใจ แต่คุณเชียก็มองว่าหลักการลงทุนนี้ ยังมีจุดอ่อน เนื่องจากคุณ Benjamin Graham เอง ไม่ค่อยเน้นหนักในเรื่องของผู้บริหาร
แต่สำหรับตลาดหุ้นจีน ซึ่งเป็นตลาดหุ้นของประเทศกำลังพัฒนาแล้วนั้น การหลอกลวง และฉ้อโกงในตลาดหุ้น เป็นเรื่องที่พบเจอได้บ่อย ๆ คุณเชียจึงไม่สามารถละเลยเรื่องนี้ไปได้
เพราะฉะนั้น แทนที่จะนั่งวิเคราะห์บริษัท จากเอกสารทางการเงินเป็นตั้ง ๆ ในออฟฟิศ คุณเชียและทีมจะออกไปเยี่ยมเยียนกิจการต่าง ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทที่พวกเขาลงทุน อยู่ในมือของคนที่ตั้งใจทำธุรกิจจริง ๆ
เข้าซื้อด้วยราคาที่เหมาะสม
คุณเชียนั้นจำแนกหุ้น ด้วยมูลค่าถูกแพง ออกเป็น 3 ประเภท
ประเภทที่ 1 หุ้นถูก เป็นหุ้นที่คุณเชียมองหา ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอัตราส่วน P/E ไม่เกิน 8 และอัตราส่วน P/BV ไม่เกิน 1.2
ประเภทที่ 2 หุ้นราคาเหมาะสม คุณเชียบอกว่า หุ้นประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่เหล่าโบรกเกอร์ และนักวิเคราะห์ต่าง ๆ แนะนำให้ซื้อ
ประเภทที่ 3 หุ้นแพง คือหุ้นประเภทที่ แม้แต่คนขับแท็กซี่ หรือคนที่ไม่ได้รู้เรื่องหุ้นมาก่อนเลย ต่างก็พากันพูดถึง
โดยคุณเชียบอกว่า สิ่งที่เขาทำก็คือ การซื้อหุ้นประเภทที่ 1 และขายตอนที่หุ้นนั้น กลายเป็นประเภทที่ 2.5 นั่นก็คือ ซื้อให้ถูก และเริ่มขายเมื่อหุ้นเริ่มถูกพูดถึงในวงกว้างประมาณหนึ่ง
ท่ามกลางหุ้นหลาย 100 ตัว ที่คุณเชียเข้าไปลงทุน หนึ่งในการลงทุนที่ดีที่สุดของคุณเชีย คือการเข้าซื้อ BYD ตั้งแต่ปี 2006
ตอนนั้นไม่มีใครเชื่อมั่นว่า บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่จากเซินเจิ้นแห่งนี้ จะกลายเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกได้
แต่หลังจากคุณเชีย ได้เข้าพบกับคุณหวัง ชวนฟู เจ้าของ BYD และมองว่า BYD มีโอกาสจะเติบโตได้จริง ภายใต้การบริหารของเขา
คุณเชียจึงเข้าซื้อหุ้น BYD จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของบริษัท
ก่อนที่ “Warren Buffett แห่งเอเชีย” ผู้นี้ จะขายหุ้น BYD ที่มีอยู่ ให้กับ “Warren Buffett ตัวจริง” ในปี 2008
และทำกำไรได้มากถึง 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,800 ล้านบาท ในปัจจุบัน)
ปัจจุบันนี้ บริษัท Value Partners ของคุณเชียและคู่หู ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง พร้อมทั้งดูแลทรัพย์สินการลงทุนรวมกันแล้วกว่า 186,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ คุณเชียยังเป็นถึงคนที่รวยที่สุด อันดับ 22 ของประเทศมาเลเซีย ด้วยความมั่งคั่งกว่า 32,592 ล้านบาท
จากทั้งหมดนี้เองจะเห็นได้ว่า ชีวิตของคุณเชียนั้น มาไกลจนเกินกว่าที่ตัวเขาเองจะฝันไว้ จากเด็กบ้านจนคนหนึ่ง ในมาเลเซีย
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเรื่องนี้ นอกจากหลักการลงทุนของเขาอย่าง “เข้าซื้อบริษัทที่ถูกต้อง ซึ่งบริหารด้วยคนที่มีความชอบธรรม ด้วยราคาที่เหมาะสม” แล้ว
ก็คือความสำคัญของการศึกษาหาความรู้ เหมือนกับที่คุณเชียมักจะขลุกอยู่ในห้องสมุดอยู่ตลอด จนกลายเป็นผู้ที่มีความรู้กว้างขวาง
ทำให้เมื่อมีโอกาสเข้ามา อย่างการย้ายไปเป็นนักข่าว ในสำนักข่าวใหญ่ ๆ ในต่างประเทศ จนถึงการเข้าไปทำงานในวาณิชธนกิจระดับโลก และการเปิดบริษัทจัดการทรัพย์สินของตัวเอง
คุณเชียก็สามารถคว้าทุกโอกาสไว้ตลอด จนกลายเป็น Warren Buffett แห่งเอเชียได้ อย่างในทุกวันนี้..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.