Synopsys ธุรกิจขายซอฟต์แวร์ออกแบบชิป เสือนอนกิน กำไรปีละหมื่นล้าน

Synopsys ธุรกิจขายซอฟต์แวร์ออกแบบชิป เสือนอนกิน กำไรปีละหมื่นล้าน

30 ม.ค. 2024
Synopsys ธุรกิจขายซอฟต์แวร์ออกแบบชิป เสือนอนกิน กำไรปีละหมื่นล้าน | MONEY LAB
จากกระแส ChatGPT ซึ่งเป็นการพัฒนา AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่มีความสามารถในการตอบคำถามเราได้อย่างลื่นไหล และใช้เวลาไม่นาน
ไปจนถึงความนิยมในการใช้ AI สร้างรูปภาพขึ้นมาใหม่ จากข้อความที่เราป้อนลงไปในโปรแกรม
ทำให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft หรือ Apple ต่างทุ่มทรัพยากรเพื่อแข่งขันกันพัฒนา AI ของตัวเอง
และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนา AI เลยก็คือ ชิปประมวลผล ที่เปรียบเสมือนมันสมองของคอมพิวเตอร์
ด้วยเหตุนี้เอง บริษัทออกแบบชิปเซมิคอนดักเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น AMD, NVIDIA และ Intel ต่างแข่งขันกันวิจัยและพัฒนาชิป เพื่อแย่งฐานลูกค้าที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ๆ เหล่านั้น
ขณะที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่บางรายเอง ก็ไม่ต้องการพึ่งพาให้บริษัทมาออกแบบชิปให้มากเกินไป จึงหันมาริเริ่มตั้งแผนกออกแบบชิปเป็นของตัวเองกันบ้างแล้ว เช่น Amazon และ Apple
แต่ท่ามกลางสงครามอันดุเดือดของธุรกิจออกแบบชิป กลับมีบริษัทหนึ่งที่ทำตัวเป็นเสือนอนกิน รอรับประโยชน์จากสงครามอันดุเดือดนี้
เรากำลังพูดถึง Synopsys ซึ่งเป็นบริษัทที่ขายซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการออกแบบชิปกันอยู่
แล้วบริษัท Synopsys แห่งนี้ เป็นเสือนอนกินในวงการชิปได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
การออกแบบชิปเล็ก ๆ สักชิ้นหนึ่ง จำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์ออกแบบที่เรียกว่า Electronic Design Automation (EDA)
ซึ่งผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ออกแบบชิป มีผู้เล่นที่คุมส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 80% เพียงแค่ 3 บริษัท คือ
Synopsys, Inc.Cadence Design Systems, Inc.Siemens EDA
โดยบริษัท Synopsys เป็นบริษัทที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดอยู่ที่ 46% รองลงมาเป็น Cadence ที่มีส่วนแบ่ง 32% ตามด้วย Siemens ที่ 14%
กลยุทธ์ทางธุรกิจที่ Synopsys ใช้ ในการรักษาส่วนแบ่งการตลาดให้เป็นเบอร์ 1 คือ การไล่ซื้อกิจการสตาร์ตอัปที่คาดว่าจะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของบริษัทในอนาคต
ซึ่งนอกจากวิธีนี้จะช่วยกำจัดคู่แข่งของบริษัทแล้ว ยังช่วยให้บริษัทครอบครองเทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญาใหม่ ๆ อีกด้วย
นอกจากการครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 แล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Synopsys กลายเป็นเสือนอนกินในวงการชิป นั่นก็คือ โมเดลการหารายได้ของบริษัท
โดยรูปแบบการหารายได้ของ Synopsys จะแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ
ค่าธรรมเนียมการขายวงจรชิปสำเร็จรูป ที่ถูกออกแบบไว้แล้ว โดยวงจรชิปสำเร็จรูปนี้ มักจะเป็นแค่ส่วนประกอบนึงของชิปเซ็ตขนาดใหญ่
ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อวงจรชิปสำเร็จรูป มักจะเป็นบริษัทที่ต้องการประหยัดเวลาในการออกแบบชิปบางส่วน เพราะลูกค้าไม่จำเป็นต้องออกแบบชิปเองทั้งหมด
ส่วนแบ่งรายได้จากการขายชิปที่ใช้วงจรสำเร็จรูปของบริษัทค่าธรรมเนียมแรกเข้า ในการใช้ซอฟต์แวร์ค่าสมัครใช้งานซอฟต์แวร์ เก็บเป็นงวดรายไตรมาส หรือรายปี
โดยค่าสมัครใช้งานซอฟต์แวร์นี่เอง ที่เป็นการเก็บรายได้แบบที่เรียกว่า Subscription
ที่ผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ต้องจ่ายตลอดเวลา ตราบใดที่ยังใช้งานซอฟต์แวร์อยู่
ซึ่งการเก็บรายได้แบบ Subscription นั้น เป็นโมเดลที่บริษัทเทคโนโลยีหลายรายนิยมใช้ ยกตัวอย่างเช่น Netflix
โดยลูกค้าของ Synopsys แทบจะไม่มีโอกาสยกเลิกสมัครใช้งานซอฟต์แวร์เลย ไม่เหมือน Netflix ที่ลูกค้าจะยกเลิกการสมัครสมาชิกเมื่อไรก็ได้
เพราะตราบใดที่บริษัทยังทำธุรกิจออกแบบชิปอยู่ ก็ต้องหาโปรแกรมมาใช้
แต่โปรแกรมพวกนี้มี switching cost ที่สูง เพราะหากจะเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์ของเจ้าอื่น ก็ต้องเสียเวลาเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมใหม่
สรุปแล้วคือ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ลูกค้าจะยกเลิกการใช้บริการซอฟต์แวร์
เราลองมาดูผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง ของ Synopsys กัน
ปี 2021
รายได้ 149,519 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 26,887 ล้านบาท
อัตรากำไรสุทธิ 17.9%
ปี 2022
รายได้ 180,710 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 34,783 ล้านบาท
อัตรากำไรสุทธิ 19.2%
ปี 2023
รายได้ 207,776 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 43,319 ล้านบาท
อัตรากำไรสุทธิ 20.8%
จะเห็นได้ว่า ยิ่งรายได้เพิ่มขึ้น อัตรากำไรสุทธิก็ยิ่งเพิ่มขึ้น สาเหตุที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะว่า ธรรมชาติของธุรกิจซอฟต์แวร์ จะมีค่าใช้จ่ายคงที่สูง แต่มีค่าใช้จ่ายแปรผันที่ต่ำ
ดังนั้น เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นมาก ถึงจุดที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายคงที่แล้ว ทำให้รายได้ส่วนที่เพิ่มขึ้นมา จะไหลลงมาเป็นกำไรมากขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงพอจะเห็นภาพกันแล้วว่า ทำไม Synopsys ถึงเป็นเสือนอนกินในวงการชิป
ซึ่งโมเดลธุรกิจของ Synopsys ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ของบริษัทที่สามารถชิงส่วนแบ่งในตลาดชิป ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วได้..
References
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.