Snowball Effect เทคนิคปลดหนี้ ที่เริ่มจาก เคลียร์หนี้ก้อนเล็กสุดก่อน | MONEY LAB
“การไม่มีหนี้ก็เป็นลาภอันประเสริฐ”
หลายคนน่าจะเคยได้ยินประโยคนี้กันมาบ้าง

Snowball Effect เทคนิคปลดหนี้ ที่เริ่มจาก เคลียร์หนี้ก้อนเล็กสุดก่อน
14 ก.ย. 2023
ซึ่งในยุคปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลาย ๆ คนน่าจะมีปัญหากับเรื่องการมี “หนี้ท่วมหัว” พอสมควร
ซึ่งบทความนี้ จะพาไปทำความรู้จักกับเทคนิคปลดหนี้หนึ่งที่ชื่อว่า “Snowball Effect”
แล้วเทคนิค Snowball Effect คืออะไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ ?
ชื่อเทคนิค Snowball Effect นั้น มีที่มาของชื่อจาก เวลาที่ลูกหิมะขนาดเล็ก ๆ กลิ้งลงมาจากภูเขา ลูกหิมะก้อนนั้น ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
ดังนั้น หลักการของเทคนิคนี้ก็จะเหมือนกับลูกหิมะก้อนดังกล่าว ที่ว่า การปลดหนี้ควรเริ่มจากการเคลียร์หนี้ก้อนที่เล็กที่สุดก่อน
เมื่อเคลียร์หนี้ก้อนดังกล่าวหมดแล้ว ก็นำเงินไปเคลียร์หนี้ก้อนที่ใหญ่กว่าก้อนถัดไป ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนสามารถเคลียร์หนี้ได้หมด
สิ่งที่เราต้องทำนั้นจะเริ่มจาก
-หยุดก่อหนี้
เรื่องสำคัญสุดอันดับแรก ถ้าเราอยากปลดหนี้คือ ต้องเริ่มจากการไม่ก่อหนี้ใหม่ก่อน ในขั้นตอนนี้ สิ่งสำคัญคือ หักห้ามใจ งดซื้อของที่ไม่จำเป็น
โดยเราควรทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อดูว่าในแต่ละเดือน ตัวเรานั้นมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และมีค่าใช้จ่ายไหนไม่จำเป็น ที่สามารถตัดออกได้
-จัดลำดับหนี้สินจากก้อนเล็กสุดไปก้อนใหญ่สุด
ในขั้นตอนนี้ ให้เราเรียบเรียงรายการหนี้ทั้งหมดของเรา เริ่มต้นจากหนี้ก้อนเล็กที่สุด ไปจนถึงหนี้ก้อนใหญ่ที่สุด
-เคลียร์หนี้ก้อนเล็กสุด ให้เร็วที่สุด
หลังจากจัดลำดับหนี้จากก้อนเล็กสุดไปใหญ่สุดแล้ว ต่อไปก็ให้เรานำเงินมาปิดหนี้ก้อนเล็กที่สุด ให้ได้เร็วที่สุด ในขณะที่หนี้สินก้อนอื่น ๆ ก็ให้เราจ่ายขั้นต่ำไปก่อน
ซึ่งวิธีนี้ที่ต้องจ่ายขั้นต่ำ หนี้หลาย ๆ ก้อน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะทำให้เรามีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น
แต่หากเราค้างจ่ายหนี้เป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลกระทบต่อเครดิตทางการเงินของเราได้ ดังนั้นเราจึงควรจ่ายขั้นต่ำหนี้ก้อนอื่นก่อน
ภายหลังจากที่เราสามารถเคลียร์หนี้ก้อนเล็กที่สุดได้แล้ว เราก็นำเงิน ที่ปกติใช้ไปเคลียร์หนี้ก้อนแรก มาโปะเพิ่มในเงินชำระหนี้ก้อนที่ใหญ่ถัดมา ต่อไปเรื่อย ๆ
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น สมมติว่า
ปัจจุบัน เรามีหนี้สินดังนี้
ปัจจุบัน เรามีหนี้สินดังนี้
-หนี้ก้อนที่ 1 หนี้บัตรเครดิต มูลค่า 20,000 บาท
ต้องชำระขั้นต่ำเดือนละ 2,000 บาท
ต้องชำระขั้นต่ำเดือนละ 2,000 บาท
-หนี้ก้อนที่ 2 หนี้บัตรกดเงินสด มูลค่า 40,000 บาท
ต้องชำระขั้นต่ำเดือนละ 4,000 บาท
ต้องชำระขั้นต่ำเดือนละ 4,000 บาท
-หนี้ก้อนที่ 3 สินเชื่อส่วนบุคคล มูลค่า 100,000 บาท
ต้องชำระขั้นต่ำเดือนละ 10,000 บาท
ต้องชำระขั้นต่ำเดือนละ 10,000 บาท
โดยสมมติให้ เรามีรายได้เพียงพอให้สามารถผ่อนชำระ 20% ของภาระหนี้ทั้งหมด ซึ่งก็จะทำให้เราผ่อนหนี้แต่ละก้อนดังนี้
-หนี้ก้อนที่ 1 ผ่อนเดือนละ 4,000 บาท
-หนี้ก้อนที่ 2 ผ่อนเดือนละ 8,000 บาท
-หนี้ก้อนที่ 3 ผ่อนเดือนละ 20,000 บาท
สรุปแล้ว เรามีหนี้สินทั้งหมด 160,000 บาท และผ่อนชำระเดือนละ 32,000 บาท
แต่ถ้าเรานำเทคนิค Snowball Effect มาใช้ เราจะเริ่มจากการปลดหนี้ก้อนเล็กสุดซึ่งก็คือ หนี้บัตรเครดิต ก่อน
ดังนั้น เงินที่เราสามารถผ่อนชำระ เดือนละ 32,000 บาท จะถูกจัดสรรใหม่เป็น
-หนี้ก้อนที่ 1 หนี้บัตรเครดิต ผ่อนเดือนละ 18,000 บาท
-หนี้ก้อนที่ 2 หนี้บัตรกดเงินสด ผ่อนเดือนละ 4,000 บาท
-หนี้ก้อนที่ 3 หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ผ่อนเดือนละ 10,000 บาท
หลังจากที่เราเคลียร์หนี้บัตรเครดิตหมดแล้ว เราก็มาเคลียร์หนี้ก้อนใหญ่ถัดมา ซึ่งก็คือ หนี้บัตรกดเงินสด
ทำให้ภาระการผ่อนหนี้ของเราเท่ากับ
-หนี้บัตรกดเงินสด ผ่อนเดือนละ 22,000 บาท
-หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ผ่อนเดือนละ 10,000 บาท
และเมื่อเราค่อย ๆ ใช้เทคนิคนี้ โปะหนี้ทีละก้อนไปเรื่อย ๆ สุดท้ายหนี้สินของเราก็จะหมดลง
แต่ก็ต้องหมายเหตุว่า การที่เราต้องจ่ายขั้นต่ำในภาระหนี้บางก้อน จะทำให้เรามีภาระหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อันเกิดจากการจ่ายหนี้ขั้นต่ำ
ดังนั้น เทคนิค Snowball Effect จะเหมาะสมสำหรับคนที่มีหนี้หลายก้อน ที่มีอัตราดอกเบี้ยไม่ต่างกันมากนัก เช่น หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคล
แต่วิธีนี้จะไม่เหมาะกับการนำมาใช้กับสินเชื่อบ้าน หรือรถยนต์
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่าเทคนิค Snowball Effect ก็น่าจะเป็นตัวเลือก ที่น่าสนใจสำหรับใครหลาย ๆ คน ที่กำลังปวดหัวกับภาระหนี้สินของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ วินัยทางการเงินในการจับจ่ายใช้สอย เพราะถ้าหากเราไม่มีวินัย ต่อให้เราปลดหนี้ได้แค่ไหน เราก็อาจสร้างหนี้ก้อนใหม่เพิ่มอีก จนไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้สินได้อยู่ดี..