การฟอกเงิน เปลี่ยนเงินสกปรก เป็นเงินสะอาด กระทบเศรษฐกิจอย่างไร ?

การฟอกเงิน เปลี่ยนเงินสกปรก เป็นเงินสะอาด กระทบเศรษฐกิจอย่างไร ?

19 ก.ค. 2023
การฟอกเงิน เปลี่ยนเงินสกปรก เป็นเงินสะอาด กระทบเศรษฐกิจอย่างไร ? | MONEY LAB เล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน
หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า การฟอกเงิน ตามสื่อกันอยู่บ่อย ๆ
รู้ไหมว่า มูลค่าการฟอกเงินทั่วโลกที่เกิดขึ้นในแต่ละปีนั้น อยู่ที่ราว 28 ล้านล้านบาท หรือใหญ่กว่า GDP ของประเทศไทยถึง 2 เท่า
แล้ว ทำไมต้องมีการฟอกเงิน และมันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
การฟอกเงิน คือ การทำให้เงินที่ได้มาจากการทำผิดกฎหมาย ดูเหมือนเป็นเงินที่ได้มาอย่างสุจริต หรือได้มาอย่างถูกต้อง เพื่อปกปิดที่มาของแหล่งเงิน นั่นเอง
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราลองมาดูตัวอย่างนี้
นาย A ผลิตยาเสพติด แล้วนำไปขายให้แก่ลูกค้า มูลค่า 100 ล้านบาท
ทั้งนาย A และลูกค้า คงไม่ได้ทำธุรกรรมด้วยการโอนผ่านธนาคารหรือจ่ายผ่าน QR Code แต่ทั้งคู่จะทำการจ่ายและรับเงินกันเป็นเงินสด
เพราะการทำธุรกรรมด้วยเงินสด มูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปในปัจจุบัน ทางธนาคารจะขอข้อมูลของผู้ทำธุรกรรม และมีการรายงานธุรกรรมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งเมื่อนาย A ได้รับเงินมา ก็จะนำเงินไปเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์หลาย ๆ อย่าง เช่น ทองคำ เพชร อสังหาริมทรัพย์ ยานพาหนะ ตราสารการเงินต่าง ๆ
หรือแม้แต่โอนไปยังธนาคารในต่างประเทศ ที่มีกฎหมายคุ้มครองความลับของลูกค้า รวมถึงอาจสร้างธุรกิจบางอย่างที่ถูกกฎหมาย แต่เป็นธุรกิจบังหน้าขึ้นมา
เพื่อทำให้ดูเหมือนว่า เป็นรายได้หรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการประกอบธุรกิจปกติ หลังจากนั้นจึงค่อยนำเงินออกมาใช้
ส่วนมากแล้ว คนที่ฟอกเงินจะใช้หลาย ๆ วิธีผสมกัน เพื่อให้ยากแก่การตรวจสอบแหล่งที่มาที่ไปของเงินนั่นเอง
และถ้าถามว่า การกระทำอะไรบ้าง ที่เป็นต้นกำเนิดของการฟอกเงิน ?
-ค้ายาเสพติด
-การฉ้อโกงประชาชน การคอร์รัปชัน
-แชร์ลูกโซ่
-การค้ามนุษย์
-การพนันออนไลน์
อย่างไรก็ตาม การฟอกเงินในสมัยนี้ มีวิธีการซับซ้อนกว่าในอดีตพอสมควร
เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ทำให้คนจำนวนมาก สามารถโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ก็ยิ่งทำให้ตรวจสอบได้ยากยิ่งขึ้น
รวมไปถึง การนำเงินที่ได้จากการทำธุรกรรมผิดกฎหมายไปซื้อเงินดิจิทัลสกุลต่าง ๆ แล้วก็นำไปแลกเปลี่ยนกันในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งมีการระบุตัวตนความเป็นเจ้าของเงินสกุลดิจิทัลนั้น ค่อนข้างยาก ก็มีให้เห็นแล้วเช่นกัน
ในประเทศไทยเองก็มีหน่วยงาน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2542 หรือเมื่อ 24 ปีที่แล้ว คอยทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา สถาบันบาเซิลเพื่อธรรมาภิบาล (Basel Institute on Governance) ได้มีการประเมินและจัดอันดับ ประเทศที่มีความเสี่ยงในการฟอกเงิน และเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ก่อการร้าย
ซึ่งประเทศไทยอยู่อันดับที่ 40 ของโลก จาก 128 ประเทศ โดยได้คะแนน 5.8 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งคะแนนยิ่งต่ำ หมายถึง ประเทศนั้นมีความเสี่ยงเรื่องการฟอกเงินต่ำ
แล้ว ปัญหาการฟอกเงิน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร ?
ในมุมเศรษฐกิจนั้น การฟอกเงินทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากการมีปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
ทั้งยังเป็นเงินที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลผลิต หรือการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้น คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง
ส่งผลให้การวางแผน การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจต่าง ๆ อาจไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร
ซึ่งยังไม่รวมถึงการที่ประเทศถูกมองว่า เป็นแหล่งของการฟอกเงิน ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย
และยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ และความมั่นคงระหว่างประเทศอีกด้วย..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ หมู่เกาะเคย์แมน อาณานิคมของสหราชอาณาจักร ถือเป็นศูนย์กลางทางด้านธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 5 ของโลก และสำคัญที่สุดในภูมิภาคแคริบเบียน
ด้วยความที่รัฐบาลของหมู่เกาะเคย์แมน ใช้นโยบาย
“ปลอดภาษี” ทำให้มีหลายบริษัทและคนรวยจำนวนมากนำเงินไปฝากที่ดินแดนแห่งนี้ และถูกมองว่า เป็นแหล่งที่ซุกซ่อนเงินจากการทำธุรกิจ และมีการฟอกเงินมากที่สุดในโลกอีกด้วย..
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.