
ทำไมช่วงนี้ เงินบาทถึงแข็งค่า เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
18 ม.ค. 2023
ทำไมช่วงนี้ เงินบาทถึงแข็งค่า เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ - BillionMoney
รู้หรือไม่ว่า ในช่วงไม่นานมานี้ ค่าเงินบาทกำลังแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
โดยนับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2565 จนถึงวันนี้
ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วถึง 15% โดยล่าสุด ค่าเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แล้ว
ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วถึง 15% โดยล่าสุด ค่าเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แล้ว
แล้วปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วขนาดนี้
BillionMoney จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
BillionMoney จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ปัจจัยแรก ก็คือ “การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ” ความต้องการเงินบาทจึงเพิ่มขึ้น
ภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก
สะท้อนให้เห็นจากการที่รายได้ จากภาคการท่องเที่ยว มีมูลค่าสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นมูลค่ากว่า 13% ของมูลค่า GDP ประเทศไทยในปี 2562
นับตั้งแต่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกมีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมโรคระบาด นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ลดลงไป
โดยในช่วงระหว่างปี 2563 ถึงปี 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยเพียงแค่ 18.9 ล้านคน เท่านั้น
ในขณะที่ในปี 2562 เพียงปีเดียว ไทยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 39.8 ล้านคน ตีเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่หายไปมหาศาล
แต่ในปี 2566 นี้เอง หลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว โดยเฉพาะการเปิดประเทศของจีน
หลายฝ่ายจึงคาดว่า ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศกว่า 25 ล้านคน
ความสำคัญของนักท่องเที่ยวจีนต่อเศรษฐกิจประเทศไทยนั้น สะท้อนให้เห็นจากรายได้ จากนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่มีมูลค่ากว่า 532,000 ล้านบาท หรือกว่า 1 ใน 4 ของรายได้จากการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยได้รับทั้งหมดในปี 2562
ความต้องการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้เอง ก็ได้ทำให้ความต้องการเงินบาทเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ปัจจัยถัดมา ก็คือ “ความเสี่ยงที่ไทยจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีน้อย”
การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดของสหรัฐอเมริกา และยุโรปในปีที่แล้ว เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ความเสี่ยงที่ประเทศเหล่านี้จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้เพิ่มสูงขึ้น
จากการสำรวจของ Bloomberg ระบุว่า โอกาสที่เศรษฐกิจของยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย มีสูงถึง 80%
ในขณะที่ สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 65% แต่ในส่วนของประเทศไทยนั้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีน้อย เพียงแค่ 13% เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนต่างชาติจึงเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำให้มีเงินไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
โดยเมื่อไตรมาส 4 ปีที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้น และตราสารหนี้ของไทย รวมกันกว่า 130,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่เงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น
ปัจจัยสุดท้ายคือ นักลงทุนคาดการณ์ว่า “ธนาคารกลางสหรัฐ จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย” จากเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัว
เหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา เพื่อสกัดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ
ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนี้เอง ก็ได้ส่งผลให้ความต้องการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
แต่ในช่วงปลายปีก่อน เงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาก็เริ่มชะลอตัวลง โดยเงินเฟ้อในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ขยายตัวที่ 6.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวแบบชะลอตัวลง เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ที่ปรับขึ้น 9.1%
โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวก็คือ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาอาหาร และราคารถมือสอง
ทั้งนี้ เงินเฟ้อ ที่เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงนี้เอง ก็ได้ทำให้นักลงทุนคาดการณ์กันว่า ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED จะค่อย ๆ ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตลง
ด้วยเหตุนี้ความต้องการในการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐจึงลดลง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา
อ่านมาถึงตรงนี้ เราน่าจะพอเข้าใจแล้วว่า ทำไมค่าเงินบาทถึงแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว
ซึ่งเหตุผลก็มาจาก ทั้งความต้องการเงินบาทที่เพิ่มขึ้น ในภาคการท่องเที่ยวและการลงทุน สวนทางกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่อ่อนค่าลง จากความกังวลในภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้ การที่เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป ก็ย่อมมีผลเสียที่เราไม่ควรมองข้ามอยู่ นั่นก็คือ บริษัทส่งออกอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้น จนอาจทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
โดยเฉพาะในช่วงนี้เอง ที่ภาคการส่งออกของไทยกำลังเจอความท้าทายอย่างหนัก จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าลดลง
นอกจากนี้เอง นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่อยากเดินทางมาไทย ก็อาจต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน จนอาจจะยกเลิกแผนการมาเที่ยวไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย
ดังนั้น การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องวางแผน ในการบริหารจัดการเรื่องค่าเงินให้ดี
เพราะถือเป็นหนึ่งเรื่องสำคัญที่สามารถบอกพวกเราได้เลยว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ในปีนี้..