ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย กฎที่ช่วยไม่ให้ขาดทุนหุ้น ของ Benjamin Graham

ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย กฎที่ช่วยไม่ให้ขาดทุนหุ้น ของ Benjamin Graham

27 ก.ย. 2022
“กฎข้อที่หนึ่งคือ อย่าขาดทุน ส่วนกฎข้อที่สองก็คือ อย่าลืมกฎข้อที่หนึ่ง”
นี่คือคำสอนของคุณ Warren Buffett นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
แล้วเครื่องมือที่ดีที่สุด ที่จะช่วยปกป้องเราจากการขาดทุน คืออะไร
วันนี้ BillionMoney จะมาอธิบายให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
“Margin of Safety” หรือ “ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย”
คือสิ่งสำคัญที่สุด ที่คุณ Benjamin Graham บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นย้ำอยู่เสมอ
โดยคุณ Graham นั้น เป็นอาจารย์ของคุณ Buffett
คุณ Graham เป็นคนแรกที่นำเสนอ หลักการส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยนี้
ผ่านหนังสือระดับตำนาน ที่เป็นเหมือนคัมภีร์สำคัญ ที่คอยนำทางนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า มามากกว่า 70 ปี
หนังสือเล่มที่ว่าก็คือ The Intelligent Investor
ทั้งนี้ คุณ Graham บอกว่า หลักการนี้สามารถนำไปใช้ได้กับการลงทุนทุกรูปแบบ
ส่วนใจความสำคัญของ ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย นั้นก็คือ
การคาดการณ์อนาคตได้อย่างถูกต้อง กลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น
หากมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยมากพอ
เพราะนักลงทุนจะได้รับการปกป้องอย่างเพียงพอ
หากสถานการณ์ที่เคยคาดการณ์ไว้ ได้เปลี่ยนแปลงไป
ขอยกตัวอย่างสำหรับการประยุกต์ใช้ ในการวิเคราะห์การลงทุนในหุ้นสามัญ คือ
ถึงแม้ว่าเราจะได้ตรวจสอบหุ้นของธุรกิจ ที่เราอยากนำเงินไปลงทุนนั้น อย่างละเอียดแล้ว
ไม่ว่าจะเป็น การวิเคราะห์ในเชิงปริมาณ ที่ตรวจสอบว่าธุรกิจนั้น มีงบการเงินที่แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดอิสระที่เป็นบวก หรือมีค่า ROE, NPM, ROA ที่สูงหรือไม่
และในเชิงคุณภาพ ที่วิเคราะห์ปัจจัยด้านคูเมืองทางเศรษฐกิจ ที่สมบูรณ์แบบ
แต่ถ้าราคาหุ้นในปัจจุบัน แพงจนเกินมูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจในจังหวะที่เราเข้าไปซื้อ
เราก็มีโอกาสสูงมากที่ในระยะยาว จะขาดทุน หรือได้กำไรที่อาจจะไม่สูง
ซึ่งหมายความว่า เราจะมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยน้อย หรืออาจจะไม่มีเลย
แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรามีโอกาสได้ซื้อหุ้นของธุรกิจที่ดี ในราคาที่ถูกมาก
เราก็จะมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยสูงมากนั่นเอง
ดังนั้นจึงพูดได้ว่า ความหมายที่แท้จริงของการใช้ ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย ก็คือ
หุ้นของธุรกิจที่เราอยากจะนำเงินไปลงทุนนั้น ต้องมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง
นี่จึงเป็นเหตุผลให้คุณ Buffett พูดอย่างสม่ำเสมอมาทั้งชีวิตว่า “จงซื้อธุรกิจที่ดี ในตอนที่ราคายังถูกอยู่”
และนักลงทุนระดับโลกในรุ่นหลังก็นำหลักการนี้มาใช้ จนสร้างผลตอบแทนโดยเฉลี่ยต่อปี ได้อย่างสูงมากในระยะยาว
ซึ่งหลักการดังกล่าว ก็ไม่ได้นิยมใช้กันแค่สำหรับนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนชาวไทยที่ประสบความสำเร็จ ก็เขียนบทความถึงเรื่องนี้บ่อย ๆ ด้วย
สำหรับการจะหาว่าหุ้นที่เราจะนำเงินไปลงทุนนั้น มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยหรือไม่
เราก็ต้องหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น แล้วจึงนำมาเปรียบเทียบกับราคาตลาด
โดยหลัก ๆ แล้ว มีวิธีการประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ที่นิยมใช้กันมากอยู่ 3 วิธี คือ
-Dividend Discount Model (DDM) เป็นการประเมินมูลค่าหุ้น โดยใช้เงินปันผลที่คาดการณ์ว่าจะจ่ายในอนาคต มาคำนวณมูลค่าหุ้นในปัจจุบัน
-Discounted Cash Flow (DCF) เป็นการประเมินมูลค่าหุ้น โดยใช้กระแสเงินสดอิสระที่คาดการณ์ในอนาคต มาคำนวณมูลค่าหุ้นในปัจจุบัน
-ใช้ P/E Ratio ด้วยการคาดการณ์ กำไรต่อหุ้น และค่า P/E Ratio ในอนาคต จากนั้นก็นำทั้ง 2 ค่าที่ได้ มาคำนวณหามูลค่าหุ้นในปัจจุบัน ด้วยวิธี Sensitivity Analysis
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็น่าจะพอเข้าใจถึงความสำคัญ และวิธีการหาส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยแล้ว
และสุดท้ายนี้ ขอจบบทความนี้ ด้วยคำกล่าวของคุณ Jason Zweig คอลัมนิสต์แห่ง The Wall Street Journal
“สำหรับนักลงทุนผู้ชาญฉลาดแล้ว หลักการ ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย ของคุณ Graham จะทำหน้าที่เดียวกัน คือการไม่ซื้อหุ้นมาในราคาแพงเกินไป
แค่นี้ก็จะช่วยปกป้องเรา ไม่ให้ความมั่งคั่งของเราหายไปอย่างรวดเร็วได้แล้ว”
References
-The Intelligent Investor (1949) โดย Benjamin Graham
-Security Analysis (1934) โดย Benjamin Graham และ David Dodd
-Gone Fishing with Buffett (2012) โดย Sean Seah
-The Dhandho Investor: The Low-Risk Value Method to High Returns (2007) โดย Mohnish Pabrai
-Getting Started in Value Investing (2007) โดย Charles S. Mizrahi
-The Education of a Value Investor: My Transformative Quest for Wealth, Wisdom, and Enlightenment (2014) โดย Guy Spier
-https://www.prachachat.net/breaking-news/news-1021599
-https://www.moneybuffalo.in.th/money-series/trading-in-30-days/ep13#:~:text=
-https://classic.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=603&channel=application&language=en&country=US
-https://www.finnomena.com/investment-reader/dcf/
© 2023 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.