เกษตรกรไทย กำลังแบก ต้นทุนปุ๋ยเคมี

เกษตรกรไทย กำลังแบก ต้นทุนปุ๋ยเคมี

30 ส.ค. 2022
รู้หรือไม่ว่า ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมี มูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท
แต่เพียงแค่ 6 เดือนแรกของปีนี้ มีการนำเข้าปุ๋ยเคมี มูลค่ารวมกว่า 59,000 ล้านบาท
เพราะราคาปุ๋ยเคมีในปีนี้ เพิ่มขึ้นมาเกือบ 2 เท่า
และถึงแม้ว่าราคาปุ๋ยเคมี จะปรับตัวสูงขึ้น
แต่เกษตรกรไทย กลับได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน
เกษตรกรไทย ต้องแบกรับภาระราคาปุ๋ยเคมี มากแค่ไหน ?
และทำไม เราถึงต้องนำเข้าปุ๋ยเคมี มูลค่ามหาศาลในทุก ๆ ปี ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
สำหรับภาคการเกษตรของไทย มีต้นทุนที่เป็นปุ๋ยเคมีประมาณ 10-20% ของต้นทุนรวมทั้งหมด
โดยหากลองคำนวณต้นทุน การใช้ปุ๋ยเคมีเป็นตัวเลขคร่าว ๆ พบว่า
ในปีที่ผ่านมา เกษตรกรมีรายจ่ายเฉลี่ยเพื่อการเกษตรราว 108,759 บาทต่อครัวเรือน
ดังนั้น ต้นทุนปุ๋ยเคมีจะอยู่ที่ประมาณ 10,000-20,000 บาท
แต่จากการเพิ่มขึ้นของราคาปุ๋ยเคมี ที่สูงขึ้นกว่า 2 เท่า ก็ทำให้รายจ่ายเฉลี่ยเพื่อการเกษตร เพิ่มขึ้นถึง 18%
แต่ก็ใช่ว่า เกษตรกรทุกรายในประเทศ จะได้รับผลกระทบเท่ากัน
โดยเราสามารถแบ่งกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จากราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้น ออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากมีปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีต่อไร่ต่ำ หรือผลผลิตที่ได้มีราคาขายที่สูง เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรมีอำนาจในการส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ทุเรียน มังคุด และกล้วยหอมทอง
ราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้น จึงไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อเกษตรกรกลุ่มนี้เท่าไรนัก
เพราะมีสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับรายได้ แต่อาจทำให้กำไรที่ได้ลดลงไปบ้าง
ต่อมา คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก
เนื่องจากเป็นพืชที่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีต่อไร่สูง รวมถึงเกษตรกรไม่มีอำนาจในการกำหนดราคา
เช่น ยางพารา อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน
โดยหากไปดูข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พืชบางชนิดที่ราคาขายยังคงตกต่ำ และมีการขายขาดทุน
ก็ได้รับผลกระทบไปแบบเต็ม ๆ
ตัวอย่างเช่น ยางพารา
-ต้นทุนการผลิต 59,000 บาทต่อตัน
-ราคาขาย 46,000 บาทต่อตัน
หรือแม้แต่อ้อย พืชหลักสำคัญที่นำไปผลิตเป็นน้ำตาล
-ต้นทุนการผลิต 1,000 บาทต่อตัน
-ราคาขาย 870 บาทต่อตัน
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงที่ผ่านมา ปาล์มน้ำมันจะมีราคาปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็เป็นพืชที่ใช้ปุ๋ยเคมีต่อไร่สูงที่สุดเช่นกัน โดยใน 1 ไร่ จะต้องใช้ปุ๋ยเคมีถึง 162 กิโลกรัมเลยทีเดียว
ดังนั้น เมื่อราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้น เกษตรกรที่ปลูกพืชกลุ่มนี้ ก็จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
ถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า ราคาปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้น เกษตรกรแต่ละรายจะแบกรับภาระที่ไม่เท่ากัน
ขึ้นอยู่กับว่า มีการใช้ปุ๋ยเคมีต่อไร่มากแค่ไหน และราคาผลผลิตที่ขายได้เป็นอย่างไร
แล้วทำไมเราจึงต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีมากมายในทุก ๆ ปี ?
ต้องบอกก่อนว่า การนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทยจะมี 2 ส่วน
ส่วนแรก คือ แม่ปุ๋ย ซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักของพืช เช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และไนโตรเจน
และอีกส่วน คือ ปุ๋ยผสม ที่เป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยสำเร็จรูปจากต่างประเทศ
โดยประเทศไทยมีสัดส่วนการนำเข้าแม่ปุ๋ย ที่นำมาผสมเป็นปุ๋ยเคมีสูตรอื่น ๆ ในประเทศ สูงถึง 63% ของปุ๋ยเคมีที่นำเข้าทั้งหมด ราคาปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้น จึงมีผลมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ
ซึ่งในตอนนี้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียยังคงยืดเยื้อ
และรัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีรายใหญ่ ทำให้ราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกเพิ่มขึ้น
แม้ว่าไทยจะนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซียไม่มากก็ตาม
หากเราลองแยกการนำเข้าแม่ปุ๋ย ตามธาตุอาหารหลักของพืช จะพบว่า
-48% แม่ปุ๋ยไนโตรเจน
-16% แม่ปุ๋ยโพแทสเซียม
-0.02% แม่ปุ๋ยฟอสฟอรัส
จะเห็นได้ว่า เรานำเข้าแม่ปุ๋ยฟอสฟอรัสน้อยมาก เพราะสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ
แต่มีการนำเข้าแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม และแม่ปุ๋ยฟอสฟอรัส เป็นจำนวนมาก
ซึ่งก็มีความพยายามที่จะผลิตแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมภายในประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เพราะมีแหล่งแร่โพแทช ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยตั้งต้นเป็นจำนวนมาก
แต่เนื่องจากมีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้โครงการเหล่านี้ยังต้องชะลอตัวออกไปในบางพื้นที่ การขยายกำลังการผลิตในประเทศจึงเป็นไปอย่างล่าช้า
ส่วนแม่ปุ๋ยไนโตรเจนนั้น สามารถผลิตได้จากกระบวนการกลั่นปิโตรเคมี ซึ่งใช้แก๊สธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลัก
แต่ถึงแม้ประเทศไทยจะมีแหล่งแก๊สธรรมชาติเป็นของตัวเอง
แต่แก๊สธรรมชาติสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์อื่น ที่เพิ่มมูลค่าได้มากกว่า เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี
ทำให้แก๊สธรรมชาติของไทย ถูกนำไปเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ซึ่งให้มูลค่ามากกว่าการนำมาทำปุ๋ยเคมี
ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรไทยจึงต้องรับผลกระทบ จากราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้น
เพราะเรายังต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ ในสัดส่วนที่สูงมากนั่นเอง
ดังนั้น ความท้าทายของเรื่องนี้ คือ การมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมแม่ปุ๋ยเคมีให้ได้ภายในประเทศ
หรือใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีต่อไร่ลง
เพราะในตอนนี้ สภาพดินที่เสื่อมโทรมลง ทำให้แนวโน้มการใช้ปุ๋ยเคมีต่อไร่มากขึ้น
และคนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นเกษตรกรไทย ที่ต้องแบกราคาปุ๋ยเคมีนั่นเอง..
© 2023 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.