“เงินออม” เครื่องจักรเศรษฐกิจ ที่ช่วยสร้าง ชาติสิงคโปร์ ให้ยิ่งใหญ่

“เงินออม” เครื่องจักรเศรษฐกิจ ที่ช่วยสร้าง ชาติสิงคโปร์ ให้ยิ่งใหญ่

15 ก.ย. 2023
“เงินออม” เครื่องจักรเศรษฐกิจ ที่ช่วยสร้าง ชาติสิงคโปร์ ให้ยิ่งใหญ่ | MONEY LAB
ถ้าหากเราพูดถึงปัจจัยความสำเร็จ ที่ทำให้ประเทศสิงคโปร์ เปลี่ยนตัวเองจากประเทศยากจน สู่ประเทศรายได้สูง ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 10 ปี เท่านั้น
หลาย ๆ คนก็คงจะตอบว่า เป็นเพราะทำเลของสิงคโปร์ ที่อยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก จนกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า และการเงินที่สำคัญของภูมิภาค
หรือจะเป็นคุณภาพการศึกษาที่ดี จนสามารถผลิตบุคลากรคุณภาพ ออกมาขับเคลื่อนประเทศได้เป็นจำนวนมาก
และรัฐบาลที่มีความโปร่งใส จนทำให้เงินลงทุนของรัฐบาล เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน อย่างเต็มที่
แต่นอกจากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว จริง ๆ ยังมีอีกหนึ่งสิ่ง ที่ทำให้ประเทศสิงคโปร์ สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ นั่นก็คือ “การเก็บออม” ของคนในชาติ
แล้วการเก็บออมเงิน สำคัญอย่างไร ต่อการสร้างประเทศสิงคโปร์ ให้เจริญได้อย่างทุกวันนี้ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
อย่างที่เราทราบกันดีว่า ชาวสิงคโปร์นั้น มีรายได้ที่สูง แต่ค่าครองชีพในเมืองก็สูงมากเช่นกัน
ถึงอย่างนั้นตัวเลขเงินเก็บของชาวสิงคโปร์ ก็ค่อนข้างสูงมาก เพราะคนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ เก็บเงินได้มากถึง 31% ของรายได้เลยทีเดียว
นั่นจึงส่งผลให้ ตัวเลขการออมระดับชาติสูงไปด้วยเช่นเดียวกัน โดยตัวเลขการออมต่อ GDP ของประเทศสิงคโปร์นั้น ในปัจจุบันสูงถึง 60% ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
ที่ชาวสิงคโปร์ออมเงินได้มากขนาดนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะว่า ชาวสิงคโปร์มีความรู้ทางการเงินสูง หรือเพราะการรับค่านิยมขงจื๊อ ที่เชิดชูการประหยัดอดออม เพียงเท่านั้น
แต่รัฐบาลของสิงคโปร์ ได้ให้ความสำคัญกับการออมเงิน ด้วยการสร้าง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง (Central Provident Fund)” หรือเรียกย่อ ๆ ว่า CPF เพื่อให้ประชาชนเก็บออมเงินด้วย
CPF นั้น มีมาตั้งแต่ปี 1955 หรือสมัยที่สิงคโปร์ ยังเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ โดยกองทุนนี้จะมีลักษณะเหมือนกับ กองทุนประกันสังคม ผสมกันกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
โดยมีหน่วยงานรัฐคือ CPF Board เป็นผู้ดูแลเท่านั้น ส่วนแรงงานชาวสิงคโปร์และนายจ้าง จะเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน
ตั้งแต่เริ่มทำงาน ไปจนถึงอายุ 55 ปี แรงงานชาวสิงคโปร์ จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน 20% ของรายได้ ส่วนนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบให้อีก เป็นเงินเท่ากับ 17% ของรายได้ และอัตราการจ่าย จะลดลงไปเรื่อย ๆ ตามอายุ
นั่นจึงหมายความว่า ตลอดช่วงวัยทำงานของชาวสิงคโปร์ จะมีเงินออมมากถึงประมาณ 37% ของเงินเดือนเลยทีเดียว
ซึ่งในปัจจุบันนี้ มีแรงงานชาวสิงคโปร์กว่า 4.5 ล้านคน ที่ส่งเงินเข้ามาเก็บออมในกองทุนนี้ จนทำให้กองทุน CPF มีสินทรัพย์มากถึง 14.7 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้เงินที่เก็บไป จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ บัญชีธรรมดา, บัญชีพิเศษ และบัญชีรักษาพยาบาล
เงินในบัญชีธรรมดา และบัญชีพิเศษนั้น ชาวสิงคโปร์ สามารถแบ่งเงินไปลงทุนได้อีกด้วย โดยสามารถลงทุนได้ตั้งแต่ซื้อประกัน, พันธบัตร, กองทุน, หุ้นรายตัว ไปจนถึงกองทุนทองคำ เลยทีเดียว
แล้วการสนับสนุนให้คนออมเงิน ช่วยให้ประเทศสิงคโปร์ เติบโตได้อย่างไร ?
สำหรับภาคเศรษฐกิจแล้ว การลงทุนและการออมนั้น สัมพันธ์กันมากกว่าที่เราคิด เพราะเงินออมของเราที่อยู่ในธนาคาร ก็จะถูกบริษัทเอกชนต่าง ๆ มากู้เงิน เพื่อนำไปลงทุนต่อ
ส่วนเงินที่เรานำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ก็จะกลายเป็นเงินทุน ให้รัฐบาลนำไปลงทุน สร้างโครงสร้างพื้นฐาน และลงทุนในโครงการต่าง ๆ
ด้วยเหตุนี้เอง เงินออมของชาวสิงคโปร์ ที่อยู่ในกองทุน CPF ซึ่งกระจายไปลงทุนอยู่ในหุ้นเอกชน ไปจนถึงพันธบัตรรัฐบาลต่าง ๆ
ก็ได้กลายมาเป็นเงินทุน สำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไปจนถึงโครงการต่าง ๆ ของรัฐ ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมไปถึงผลิตบุคลากรเก่ง ๆ ออกมาขับเคลื่อนประเทศ
แถมบริษัทเอกชนต่าง ๆ ก็จะได้รับเงินทุน เข้ามาขยายธุรกิจให้เติบโตต่อไปอีกด้วย และทำให้เศรษฐกิจของสิงคโปร์ เติบโตไปด้วยเช่นกัน
จากตรงนี้เองจะเห็นได้ว่า การเก็บออมเงิน แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ต่างคนต่างทำ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเอง
แต่เงินออมเหล่านี้ กลับกลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัย ที่ช่วยให้ประเทศสิงคโปร์ สามารถเติบโตจนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก
ก็เป็นที่น่าคิดว่า ถ้าหากไม่มีเงินออมเหล่านี้ ที่เข้ามาเป็นเงินทุนให้กับรัฐบาลสิงคโปร์ ในช่วงที่กำลังตั้งไข่แล้ว
ประเทศสิงคโปร์ ก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างเช่นทุกวันนี้ ก็เป็นได้..
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.