กรณีศึกษา ทำไม CPALL ถึงมีโครงการ ให้พนักงานซื้อหุ้น ของบริษัทตัวเอง | MONEY LAB
ก่อนหน้านี้ มีข่าวน่าสนใจของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ที่ประกาศใช้โครงการสะสมหุ้นสำหรับพนักงาน หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Employee Joint Investment Program หรือ EJIP
กรณีศึกษา ทำไม CPALL ถึงมีโครงการ ให้พนักงานซื้อหุ้น ของบริษัทตัวเอง
29 ส.ค. 2023
ซึ่งโครงการดังกล่าว ก็นับเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งสำหรับพนักงาน เพื่อจูงใจให้อยู่กับบริษัทต่อ และยังดึงดูดให้คนเก่ง ๆ เข้ามาทำงานอีกด้วย
แล้ว EJIP คืออะไร และมีความน่าสนใจอย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
EJIP หรือ โครงการสะสมหุ้นสำหรับพนักงาน โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
จริง ๆ แล้วก็ต้องบอกว่า โดยหลักการแล้ว EJIP ไม่ได้แตกต่างจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสักเท่าไร
โดยเงินที่เราลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมาจาก เงินสมทบจากบริษัทที่เราทำงานอยู่ และเงินเดือนบางส่วนของเราที่ถูกหักไปลงทุนในกองทุน
ซึ่งหลักการของ EJIP ก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงที่ แทนที่เงินจะถูกนำไปลงทุนในกองทุน กลับเป็นการนำเงินไปลงทุน ในหุ้นของบริษัทที่เราทำงานอยู่แทน
อย่างกรณีของ บริษัท CPALL ซึ่งมีรายละเอียดโครงการ EJIP ดังนี้
-พนักงานของบริษัทที่มีสิทธิ์ และสมัครเข้าร่วมโครงการ จะถูกหักเงินเป็นสัดส่วน 5% ของเงินเดือน เพื่อนำมาซื้อหุ้น CPALL
-ทางบริษัทจะช่วยสมทบเงินอีกเป็นจำนวน 80% ของเงินเดือนที่ถูกหักไป
-ทาง CPALL จะว่าจ้างให้บริษัทหลักทรัพย์ หรือ บล. ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการจัดการซื้อหุ้นให้กับพนักงาน
โดยทาง บล. ก็จะนำเงินร่วมลงทุนระหว่างพนักงานและบริษัท ไปซื้อหุ้นของบริษัท ด้วยวิธี Dollar Cost Average (DCA) คือการซื้อหุ้นแบบถัวเฉลี่ยในทุกเดือน จนกว่าโครงการจะสิ้นสุด
เช่น คุณ A ได้รับเงินเดือน 30,000 บาทต่อเดือน และเลือกสมัครเข้าโครงการ EJIP ของ CPALL
-คุณ A จะถูกหักเงินเป็นสัดส่วน 5% ของเงินเดือน เท่ากับ 1,500 บาท
-บริษัท CPALL จะจ่ายเงินสมทบให้กับคุณ A เป็นสัดส่วน 80% ของเงินที่คุณ A ถูกหักออกไป เท่ากับ 1,200 บาท
ดังนั้น เงินจำนวน 2,700 บาทนี้ จะถูกนำไปซื้อหุ้น CPALL สะสมให้กับคุณ A โดยอัตโนมัติ ในทุกเดือน จนกว่าโครงการจะสิ้นสุดลง
แล้ว EJIP มีข้อดีอะไรอีกบ้าง
-สร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน เพราะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการ
-รักษาพนักงานเก่ง ๆ ให้ยังอยู่กับบริษัทต่อไป
-เป็นทางเลือกในการจ่ายผลตอบแทนให้กับพนักงาน นอกจากโบนัส และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
-ไม่มีปัญหาเรื่อง Dilution Effect เพราะบริษัทไม่ได้ออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ให้กับพนักงาน
ปัญหา Dilution Effect จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ บริษัทออกหุ้นเพิ่มทุน หรือแจกวอร์แรนต์ แล้วกำไรต่อหุ้นของบริษัท เพิ่มขึ้นไม่ทันกับจำนวนของหุ้นที่เพิ่มขึ้น จนส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทลดลง
แต่สำหรับกรณีของ EJIP จะไม่มีการออกหุ้นใหม่ แต่เป็นการใช้เงินจากทั้งบริษัทและพนักงาน มาซื้อหุ้นของบริษัทที่มีขายอยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้วนั่นเอง
แน่นอนว่า พอพนักงานมีหุ้นของบริษัท พนักงานก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้นของบริษัท ทำให้พนักงานมีสิทธิ์ได้รับเงินปันผล และมีสิทธิ์ในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นด้วย
นอกจากนี้ หากหุ้นที่ซื้อมีราคาสูงขึ้น พนักงานก็จะได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคาหุ้นด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงเข้าใจกันดีขึ้นแล้วว่า โครงการ EJIP คืออะไร
สำหรับองค์กรที่หวังจะเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว แต่กำลังเจอกับความเสี่ยงที่พนักงานเก่ง ๆ จะหนีจากบริษัทไป การทำโครงการ EJIP ก็ดูจะเป็นท่าที่น่าสนใจไม่น้อย..