ROE ROA ROI ผู้บริหารเก่งแค่ไหน บอกได้ด้วย 3 อัตราส่วนนี้

ROE ROA ROI ผู้บริหารเก่งแค่ไหน บอกได้ด้วย 3 อัตราส่วนนี้

28 ส.ค. 2023
ROE ROA ROI ผู้บริหารเก่งแค่ไหน บอกได้ด้วย 3 อัตราส่วนนี้ | MONEY LAB
หากเราอยากเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ การมีความรู้และความเข้าใจ ในบริษัทที่เราจะลงทุนเป็นอย่างดี ก็คงเป็นเรื่องที่จะหลีกเลี่ยงไปไม่ได้
แน่นอนว่า มีปัจจัยหลายอย่างของบริษัท ที่เราจะต้องตรวจสอบ เพื่อให้เข้าใจก่อนที่เราจะลงทุน
แต่เรื่องที่มีความสำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องความสามารถ และความโปร่งใสของผู้บริหาร
แล้วมีวิธีการใด ที่จะช่วยเรา ในการตรวจสอบความสามารถของผู้บริหารได้ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
มีอัตราส่วนอยู่ 3 อย่าง ที่สามารถมาช่วยเราในการวิเคราะห์ความสามารถของผู้บริหารได้
-ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity) หรือ ROE
คำนวณหาได้จาก
(กำไรสุทธิ / ส่วนของผู้ถือหุ้น) x 100
โดย ROE จะเป็นตัวที่ชี้วัดว่า ผู้บริหารของบริษัทนั้น นำเงินที่ผู้ถือหุ้นมาลงทุน ไปสร้างผลตอบแทน ได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน
หากบริษัทมี ROE สูงมากกว่า 12% อย่างสม่ำเสมอ ก็ถือว่า ผู้บริหารของบริษัทสามารถบริหารเงินในส่วนของผู้ถือหุ้นได้เป็นอย่างดี
-ผลตอบแทนต่อส่วนของทรัพย์สิน (Return on Assets) หรือ ROA
คำนวณหาได้จาก
(กำไรสุทธิ / ทรัพย์สินทั้งหมด) x 100
ROA แสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารของบริษัทสามารถนำทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดไปลงทุน แล้วได้ผลตอบแทนกลับมา มากน้อยเพียงใด
หากบริษัทมี ROA ที่สูงกว่า 7% อย่างสม่ำเสมอ ก็ถือว่าผู้บริหารของบริษัท ทำได้ค่อนข้างดี
-ผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment) หรือ ROI
คำนวณหาได้จาก
(กำไรสุทธิ / เงินลงทุนระยะยาวทั้งหมด) x 100
โดยเงินลงทุนระยะยาวทั้งหมด ก็คือ
ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินระยะยาว
โดย ROI จะเป็นตัวบอกเราว่า ผู้บริหารนำเงินลงทุนระยะยาวของบริษัท ไปลงทุนแล้วสร้างผลตอบแทนได้ดีแค่ไหน
อีกทั้งยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า ผลตอบแทนที่ได้รับกลับมา จากการกู้ยืมเงิน คุ้มค่ากับต้นทุนจากการกู้ยืม ที่บริษัทต้องจ่ายจากการไปกู้เงินมาหรือไม่
หรือสรุปง่าย ๆ ก็คือ
-ROE จะบอกเราว่า ผู้บริหารใช้เงินของผู้ถือหุ้น ได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน
-ROA จะบอกเราว่า ผู้บริหารใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ ได้เก่งแค่ไหน
-ROI จะบอกเราว่า ผู้บริหารนำเงินที่ได้ทั้งจากการระดมทุน และการกู้ยืม ไปลงทุนได้เก่งแค่ไหน
ขอยกตัวอย่างจาก บริษัท A เพื่อให้เข้าใจกันแบบง่าย ๆ
-มีกำไรสุทธิ 830 ล้านบาท
-ทรัพย์สินรวม 4,300 ล้านบาท
-ส่วนของผู้ถือหุ้น 2,700 ล้านบาท
-หนี้สินระยะยาว 65 ล้านบาท
เมื่อนำตัวเลขเหล่านี้ของบริษัท A มาคำนวณ จะได้อัตราส่วนทั้ง 3 ตัว ดังนี้
-ROE เท่ากับ 30%
-ROA เท่ากับ 19%
-ROI เท่ากับ 30%
จากตัวเลขเหล่านี้เอง ถ้าหากให้สรุปง่าย ๆ ก็คือ
ทุก ๆ เงินลงทุน 100 บาท ของนักลงทุน ผู้บริหารบริษัท A ทำให้เงินก้อนนั้น เติบโตกลายเป็น 130 บาท
แถมเงินลงทุนของบริษัท A ก็เติบโตจาก 100 บาท กลายเป็น 130 บาท เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ผู้บริหารของบริษัท A ยังทำให้สินทรัพย์ของบริษัททุก ๆ 100 บาท เติบโตเป็น 119 บาท ได้อีกด้วย
ซึ่งในตรงนี้จะเห็นได้ว่า ROI และ ROE มีค่าเท่ากัน ก็เนื่องมาจาก บริษัท A มีหนี้สินในระยะยาวอยู่น้อยมาก หรือก็คือ บริษัทแทบไม่ได้ไปกู้เงินเพื่อมาใช้ทำธุรกิจเลย
ถึงอย่างนั้น ในบางกรณี เราอาจจะได้เห็นบางบริษัท มี ROE ที่สูง แต่มี ROI และ ROA ที่ต่ำได้ โดยเฉพาะกับบริษัทที่พึ่งพาการกู้ยืมเงิน เพื่อขยายกิจการ
แต่บริษัทที่ ROI และ ROA ต่ำในตอนแรกแบบนี้ ก็อาจไม่ได้แปลว่า เป็นบริษัทที่ไม่ดีเสมอไป
แต่ต้องดูว่าเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว บริษัทมีความสามารถ ที่จะทำให้ทั้ง ROA และ ROI เพิ่มสูงขึ้นมาได้หรือไม่
หากเราพบว่า ทั้ง 2 อัตราส่วนนี้เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ก็หมายความว่า ผู้บริหารของบริษัทมีความสามารถในการใช้เงินที่กู้มาไปขยายธุรกิจ ทำให้บริษัทเติบโตได้เป็นอย่างดี
บริษัทที่ทำได้แบบนี้ ไม่นานก็จะใช้หนี้ได้จนหมด
ส่งผลให้ในระยะยาว ROE, ROA และ ROI จะมีความใกล้เคียงกันมาก
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่าเราคงพอเข้าใจกันดีขึ้นบ้างแล้วว่า ROE, ROA และ ROI นั้น มีความสำคัญและแตกต่างกันอย่างไร
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราส่วนทั้ง 3 ตัวนี้ จะสามารถช่วยเราวัดประสิทธิภาพในการสร้างผลตอบแทนของบริษัท และความสามารถของผู้บริหารได้
แต่เราก็ต้องอย่าลืมตรวจสอบคุณภาพของบริษัทในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น บริษัทมีปัญหาด้านสภาพคล่องหรือไม่, หนี้สินรวมของบริษัทมีเยอะเกินไปไหม และบริษัทมีความเสี่ยงอะไรที่เราต้องระวังบ้าง
ในขณะเดียวกัน เราก็ควรนำอัตราส่วนเหล่านี้ ไปเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย
เพื่อให้เราเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า บริษัทที่เราสนใจจะลงทุนนั้น มีศักยภาพเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับบริษัทอื่น
และที่สำคัญที่สุด อย่าลืมตรวจสอบประวัติและความน่าเชื่อถือของผู้บริหารทุกครั้ง ก่อนที่เราจะนำเงินไปลงทุนด้วย
เพราะความเก่งอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอ แต่เราต้องการผู้บริหารที่ทั้งเก่ง และมีคุณธรรมด้วย..
References
-หนังสือ Lessons from the Legends of Wall Street : How Warren Buffett, Benjamin Graham, Phil Fisher, T. Rowe Price, and John Templeton Can Help You Grow Rich (2000) โดย Nikki Ross
-หนังสือ Warren Buffett Accounting Book: Reading Financial Statements for Value Investing (2014) โดย Stig Brodersen และ Preston Pysh
-หนังสือ Gone Fishing with Buffett: A Young Man Learns Value Investing from a Mysterious Old Man (2012) โดย Sean Seah
-หนังสือ The Warren Buffett Way (1994) โดย Robert G. Hagstrom
-หนังสือ เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน หนทางสู่อิสรภาพทางการเงิน ที่ไม่ว่าใครก็ทำได้ (2013) โดย กวี ชูกิจเกษม
-หนังสือ Value Investing Made Easy: Benjamin Graham's Classic Investment Strategy Explained for Everyone (1996) โดย Janet Lowe
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.