โมเดลธุรกิจ ยืมเงินคนอื่นมาใช้ก่อน ของ 7-Eleven

โมเดลธุรกิจ ยืมเงินคนอื่นมาใช้ก่อน ของ 7-Eleven

17 ก.ค. 2023
โมเดลธุรกิจ ยืมเงินคนอื่นมาใช้ก่อน ของ 7-Eleven | MONEY LAB เล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน
ปกติแล้ว เมื่อเรากู้ยืมเงินมาใช้ เราก็ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ เป็นผลตอบแทนในการให้กู้
ยิ่งยอดเงินกู้สูง ๆ เราอาจจะต้องหาหลักทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดิน ไปค้ำประกันในการกู้เงินกับเจ้าหนี้
แต่รู้หรือไม่ว่า ร้าน 7-Eleven สามารถยืมเงินคนอื่นนับหมื่นล้านบาทมาใช้ได้ โดยที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ใด ๆ มาค้ำประกัน
แล้ว 7-Eleven เอาเงินคนอื่นมาใช้ได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
ถือเป็นเรื่องปกติที่เราจะต้องจ่ายเงินทันที ที่ซื้อสินค้าจาก 7-Eleven โดยที่ไม่สามารถต่อรอง หรือติดหนี้ไว้ก่อนได้ ซึ่งก็เหมือนกับร้านค้าอื่น ๆ ทั่วไป
แต่รู้หรือไม่ว่า สินค้าที่เราซื้อในร้าน 7-Eleven นั้น ผู้ผลิตสินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งของมาวางขาย จะยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้าทันที เมื่อส่งสินค้ามาวางขาย
ทำให้ 7-Eleven สามารถนำเงินส่วนนี้ มาใช้ในการดำเนินธุรกิจก่อนได้
แล้วทำไม 7-Eleven ถึงทำแบบนี้ได้ ?
จริง ๆ แล้ว 7-Eleven ก็คือร้านค้าปลีกที่ซื้อมา ขายไป ไม่ต่างจากร้านขายของชำทั่วไปมากนัก
แต่สิ่งที่ 7-Eleven มีความได้เปรียบกว่าร้านค้าทั่วไป ก็คือ การมีอำนาจต่อรองที่สูงกว่ามาก
ปกติแล้ว หากเราเปิดร้านขายของชำสักร้าน
เราก็จะต้องเตรียมเงินจำนวนหนึ่ง ไว้ซื้อสินค้าเข้าร้าน เพื่อวางขาย
และเมื่อขายได้แล้ว ถึงจะมีเงินมาหมุน เพื่อไปซื้อสินค้าเข้าร้านมาวางขายอีกรอบ
แต่ 7-Eleven มีสาขาอยู่ทั่วประเทศนับหมื่นสาขา มีลูกค้าเดินเข้าร้านนับล้านคนในแต่ละวัน หมายความว่า หากส่งสินค้าไปวางขายใน 7-Eleven ได้ สินค้าของเราก็มีโอกาสเข้าถึงลูกค้าจำนวนมากได้เช่นกัน
นั่นทำให้ผู้ผลิตสินค้า ยอมที่จะให้ 7-Eleven ติดหนี้ โดยการส่งของไปวางขายก่อน แล้วค่อยรับเงินค่าสินค้าทีหลัง
การที่ 7-Eleven เอาของเข้ามาขาย โดยยังไม่ต้องจ่ายเงิน เท่ากับว่า 7-Eleven จะสามารถนำเงินที่ได้จากการขายสินค้าเหล่านั้น มาหมุนเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ ก่อนที่จะจ่ายเงินค่าสินค้าให้กับผู้ผลิต
โดยจากงบการเงินเฉพาะกิจการ ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของ CPALL ซึ่งเป็นเจ้าของร้าน 7-Eleven พบว่า
CPALL มีเจ้าหนี้การค้า หรือก็คือเงินที่ติดค้างกับคู่ค้า กว่า 43,176 ล้านบาท
โดยมีระยะเวลาที่ต้องจ่ายหนี้ให้กับคู่ค้า หลังจากที่รับสินค้าเข้ามาวางขาย นานประมาณ 56 วัน
แต่หลังจากนำสินค้ามาวางขายแล้ว CPALL ใช้เวลาประมาณ 31 วัน ในการขายสินค้าและรับเงิน
หรือก็คือหลังจากที่ลูกค้าจ่ายเงินค่าสินค้าแล้ว CPALL จะมีเวลา 25 วัน ที่จะนำเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท ไปใช้ทำอะไรก็ได้ ก่อนที่จะต้องนำมาจ่ายชำระหนี้ให้กับคู่ค้า
ทำให้ CPALL มีเงินหมื่นล้านบาทมาหมุนในธุรกิจ หรือลงทุนขยายสาขา โดยที่ไม่ต้องกู้ยืมเงินและเสียดอกเบี้ย แม้แต่บาทเดียว..
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างบริษัท เพื่อเป็นกรณีศึกษาเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นของบริษัทที่กล่าวถึงแต่อย่างใด
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.