วิเคราะห์ งบการเงิน STARK ทำอย่างไร ไม่ให้ตกหลุมพราง - BillionMoney
ในตอนนี้ ข่าวใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย ที่นักลงทุนต้องรู้ ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องการทุจริตของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK

วิเคราะห์ งบการเงิน STARK ทำอย่างไร ไม่ให้ตกหลุมพราง
9 มิ.ย. 2023
STARK มีธุรกิจหลักคือผลิตสายไฟฟ้า มีลูกค้าหลายรายทั้งภาครัฐและเอกชน และยังส่งออกไปขายยังต่างประเทศด้วย
รู้หรือไม่ว่า เมื่อไม่กี่เดือนก่อน STARK มีมูลค่าบริษัทสูงกว่า 30,000 ล้านบาท แถมเคยถูกจัดให้อยู่ในดัชนี SET100 ด้วย
แต่เมื่อถึงกำหนดส่งงบการเงิน ประจำปี 2565 บริษัทกลับไม่ส่งงบการเงิน ในขณะที่ต่อมา คุณวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ได้ออกมายอมรับว่า บริษัทมีการฉ้อโกงทางบัญชีเกิดขึ้น
จึงส่งผลให้เมื่อถึงวันที่หุ้นกลับมาเปิดให้ซื้อขายเป็นการชั่วคราวอีกครั้ง นักลงทุนก็เทขายหุ้น STARK จนในปัจจุบัน มูลค่าบริษัทเหลือเพียง 1,800 ล้านบาท เท่านั้น
หรือก็คือ ผ่านมายังไม่ถึงปี มูลค่าของ STARK หายไปกว่า 94%..
กรณีของ STARK ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษา ที่น่าสนใจไม่น้อย สำหรับนักลงทุนหลายคน เพราะเมื่อเราดูงบการเงินของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา เราก็จะสังเกตได้ถึงความผิดปกติหลายอย่าง
แล้วงบการเงินของ STARK มีความผิดปกติอะไรบ้าง ที่เราต้องรู้ ถึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงในอนาคต ?
BillionMoney จะวิเคราะห์ให้อ่าน แบบง่าย ๆ
ความผิดปกติและความเสี่ยง ที่พบได้ในงบการเงินของ STARK มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ
1.บริษัทมีหนี้สูง
ถ้าหากเราลองมาดูงบการเงินของ STARK ในปัจจุบันจะพบว่า บริษัทมีหนี้สินสำคัญรวมกันกว่า 15,300 ล้านบาท แบ่งเป็น
-หุ้นกู้ 6,700 ล้านบาท
-หนี้เงินกู้ยืมธนาคาร 8,600 ล้านบาท
ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท อยู่ที่ 8,600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับหนี้ที่มีดอกเบี้ย จะคำนวณ D/E ได้ 1.8 เท่า
การที่บริษัทมีหนี้สินที่มาก ก็ทำให้บริษัทต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินที่มากตามไปด้วย เช่น การจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคาร และดอกเบี้ยหุ้นกู้
2.บริษัทมีปัญหาเรื่องวงจรเงินสด
วงจรเงินสด เป็นเครื่องมือที่ใช้วัดสภาพคล่องของการทำธุรกิจ ตั้งแต่วันที่ได้รับวัตถุดิบ มาผลิตเป็นสินค้าหรือบริการ ไปจนถึงวันที่เก็บเงินจากลูกค้า โดยนำมาเทียบกับระยะเวลาจ่ายคืนหนี้ ให้กับเจ้าหนี้การค้า
วงจรเงินสดมีหน่วยในการวัดเป็นวัน และสามารถคำนวณโดยนำ ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ - ระยะเวลาจ่ายหนี้
หากเราลองย้อนไปดูตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา จนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 เราจะพบว่า บริษัท STARK มี
-ระยะเวลาขายสินค้า เพิ่มขึ้นจาก 161 วัน มาเป็น 210 วัน
-ระยะเวลาเก็บหนี้ เพิ่มขึ้นจาก 102 วัน มาเป็น 210 วัน
-ระยะเวลาจ่ายหนี้ เพิ่มขึ้นจาก 198 วัน มาเป็น 310 วัน
ส่งผลให้วงจรเงินสดของ STARK เพิ่มขึ้นจาก 65 วัน มาเป็น 110 วัน
สรุปง่าย ๆ ก็คือ ในช่วงเวลาของการทำธุรกิจที่ผ่านมา วงจรเงินสดของ STARK ยาวนานขึ้น
การที่บริษัทมีวงจรเงินสดยาว หมายความว่า บริษัทมีความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่องในการทำธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น
และอาจจะมีเงินไม่เพียงพอ เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนในการทำธุรกิจ ทำให้บริษัทอาจจะต้องกู้เงินมา เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง
3.กระแสเงินสดอิสระของบริษัท ติดลบติดต่อกันถึง 5 ไตรมาส
กระแสเงินสดอิสระ จะช่วยให้เราตรวจสอบได้ว่า บริษัทแต่ละแห่งนั้น มีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งจริง ๆ หรือมีการตกแต่งทางบัญชี เพื่อหลอกลวงนักลงทุนที่ไม่มีความละเอียดรอบคอบกันแน่
ถ้าเราไปย้อนดูข้อมูลของ STARK เราจะเห็นว่า นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 เป็นต้นมา จนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ STARK ติดลบกันมาอย่างต่อเนื่อง
หมายความว่า ที่ผ่านมาเป็นระยะเวลาถึง 5 ไตรมาส หรือหนึ่งปีเศษ แม้ว่า STARK จะทำธุรกิจ มีรายได้และกำไรที่เติบโตขึ้น แต่บริษัทกลับไม่มีกระแสเงินสดจากการทำธุรกิจ ไหลเข้ามาในบริษัทเลย
นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 STARK มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ติดลบกว่า 1,000 ล้านบาท มาโดยตลอด
แต่ในขณะเดียวกัน STARK เอง ก็จะต้องจ่ายเงินในการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าและบริการเช่นกัน
ทว่าจากการที่ STARK มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบ ก็เลยทำให้ กระแสเงินสดอิสระของบริษัทติดลบตามไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565
-บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน -1,798 ล้านบาท
-มีรายจ่ายเพื่อการลงทุน -182 ล้านบาท
ส่งผลให้ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 STARK มีกระแสเงินสดอิสระ -1,980 ล้านบาท
การที่กระแสเงินสดอิสระติดลบนั้น สามารถบ่งชี้ได้ว่า บริษัทอาจไร้ความสามารถในการเก็บเงินจากลูกค้า และมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในการทำธุรกิจอยู่สูงมาก
คำถามที่ชวนสงสัยต่อนักลงทุนก็คือ ถ้าในเมื่อบริษัท ดูมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องในการทำธุรกิจ แล้วบริษัทเอาเงินจากที่ไหน มาหมุนเวียนในการทำธุรกิจ ?
คำตอบก็คือ เงินกู้ยืม นั่นเอง
โดยที่ผ่านมา STARK มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน และการออกหุ้นกู้ มาอย่างต่อเนื่อง
จากข้อสังเกตทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นตัวบ่งบอกถึงสัญญาณเตือนของความเสี่ยง ให้แก่นักลงทุนได้พอสมควรแล้ว
ดังนั้น บทความนี้ ก็น่าจะเป็นบทเรียนที่ดี สำหรับนักลงทุนทุกคน เพื่อให้รู้เท่าทันสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในงบการเงิน เวลาที่ทำการศึกษา และวิเคราะห์กิจการของบริษัท
อย่างกรณีของ STARK เองที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท แต่กลับถูกพบว่า ทุจริต จนทำให้มูลค่าที่เคยมี และความน่าเชื่อถือที่เคยได้รับ หายไปจนแทบไม่เหลืออะไรเลย..
References
-https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/STARK/financial-statement/company-highlights
-หนังสือ Gone Fishing with Buffett (2012) โดย Sean Seah
-หนังสือ Getting Started in Value Investing (2007) โดย Charles S. Mizrahi
-https://www.youtube.com/watch?v=ZHQhXedaPl4
-https://weblink.set.or.th/dat/news/202305/0832NWS240520230844510669T.pdf
-https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/STARK/financial-statement/company-highlights
-หนังสือ Gone Fishing with Buffett (2012) โดย Sean Seah
-หนังสือ Getting Started in Value Investing (2007) โดย Charles S. Mizrahi
-https://www.youtube.com/watch?v=ZHQhXedaPl4
-https://weblink.set.or.th/dat/news/202305/0832NWS240520230844510669T.pdf