กรณีศึกษา ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ เกิดจากอะไร

กรณีศึกษา ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ เกิดจากอะไร

24 พ.ค. 2023
กรณีศึกษา ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ เกิดจากอะไร - BillionMoney
หากเราเป็นนักลงทุน หรือเป็นคนทำธุรกิจ เราก็น่าจะพอรู้กันมาบ้างว่า สินทรัพย์ของกิจการในงบดุลนั้น จะมีที่มาจาก 2 ส่วน คือ
-หนี้สิน ที่บริษัทไปกู้ยืมเงินมาใช้ทำธุรกิจ
-ส่วนของผู้ถือหุ้น หรือเงินส่วนของเจ้าของ ที่ลงทุนไปในธุรกิจ
โดยมีสมการคือ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น
ตัวอย่างเช่น บริษัท A
-มีสินทรัพย์รวม 100 ล้านบาท
-มีหนี้สินรวม 50 ล้านบาท
-มีส่วนของผู้ถือหุ้น 50 ล้านบาท
หรือก็คือ สินทรัพย์ มูลค่า 100 ล้านบาท ที่บริษัท A ใช้ในการทำธุรกิจ มีที่มาจาก การที่เจ้าของลงทุนเอง 50 ล้านบาท และไปกู้เงินมาเพื่อลงทุนอีก 50 ล้านบาทนั่นเอง
แต่รู้หรือไม่ว่า ในบางครั้ง ส่วนของผู้ถือหุ้น ก็สามารถติดลบได้เหมือนกัน หรือก็คือ กิจการมีหนี้สินรวมสูงกว่าสินทรัพย์รวม
แล้วปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้ ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ
BillionMoney จะมาอธิบายให้เข้าใจ แบบง่าย ๆ
ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ หลัก ๆ แล้วมาจาก 2 สาเหตุ
1.บริษัทมีการขาดทุนสะสม เป็นจำนวนมาก
ในกรณีแรกนี้ เกิดขึ้นเมื่อ บริษัททำธุรกิจแล้วขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง จนการขาดทุนไปกัดกินกำไรสะสมของบริษัทจนหมด เกิดเป็นการขาดทุนสะสมขึ้น
ตัวอย่างเช่น ในกรณีของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ที่ผ่านมา บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนอยู่ตลอด
โดยผลประกอบการที่ขาดทุน ซึ่งเกิดขึ้นในงบกำไรขาดทุน จะไปหักลดในส่วนของกำไรสะสม ที่อยู่ในส่วนของผู้ถือหุ้นในหมวดงบดุลของบริษัท
ทำให้การที่บริษัท THAI มีการขาดทุนสะสมเกิดขึ้น ส่งผลต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ลดลง จนเกิดการติดลบนั่นเอง
ซึ่งหากเราไปดูที่งบดุลของบริษัท THAI ในปี 2565
-มีสินทรัพย์รวม 208,444 ล้านบาท
-มีหนี้สินรวม 266,947 ล้านบาท
-มีส่วนของเจ้าของ -58,502 ล้านบาท
ส่วนของเจ้าของที่ติดลบ ก็มีสาเหตุมาจากการขาดทุนสะสมทั้งหมด -91,317 ล้านบาท
2.บริษัทมีการซื้อหุ้นคืน ในปริมาณมาก
กรณีนี้เกิดขึ้น เมื่อบริษัทมีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีกำไรสะสม เกิดเป็นเงินสดส่วนเกินจำนวนมาก
ในบางครั้ง บริษัทอาจมีเงินสดเก็บสะสมไว้เป็นจำนวนมาก จนไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรดี ทำให้เลือกที่จะนำเงินออกมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น
แต่วิธีการในการสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มขึ้นแก่ผู้ถือหุ้นนั้น ก็ไม่ได้มีแค่วิธีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเท่านั้น
แต่ยังทำได้อีกวิธี คือการซื้อหุ้นคืนนั่นเอง
แล้วการซื้อหุ้นคืน จะส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทอย่างไร ?
ลองมาดูตัวอย่างของบริษัท B
-ผลกำไรสุทธิเท่ากับ 1,500 ล้านบาท
-จำนวนหุ้น ที่ซื้อขายกันทั้งหมดในตลาด มี 100 ล้านหุ้น
-ทำให้บริษัท B มีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 15 บาท
หากหุ้นของบริษัท B กำลังซื้อขายกันอยู่ที่ P/E 10 เท่า หมายความว่า หุ้นของบริษัท B มีราคา 150 บาทต่อหุ้น
แต่ถ้าบริษัท B เลือกซื้อหุ้นคืนในจำนวน 20 ล้านหุ้น ทำให้เหลือหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในตลาดทั้งหมดแค่ 80 ล้านหุ้น
ทั้งหมดนี้ จะส่งผลต่อกำไรต่อหุ้นของบริษัทด้วย โดยกำไรต่อหุ้นของบริษัท B จะเพิ่มไปเป็น 18.75 บาทต่อหุ้น
หากหุ้นของบริษัท B ยังคงซื้อขายกันอยู่ในระดับ P/E 10 เท่าเหมือนเดิม ก็จะทำให้ราคาหุ้นของบริษัท B เพิ่มขึ้นไปเป็น 187.5 บาทต่อหุ้น
พูดง่าย ๆ ก็คือ หากบริษัท B ทำการซื้อหุ้นคืน มูลค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นของบริษัท B ถืออยู่ ก็จะเพิ่มขึ้นนั่นเอง
จากตัวอย่างนี้ ถ้าราคาหุ้นเพิ่มจาก 150 บาทต่อหุ้น ไปเป็น 187.5 บาทต่อหุ้น ผู้ถือหุ้นเดิมก็จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 25%
บริษัทระดับโลกอย่าง Starbucks และ Berkshire Hathaway ของคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็เลือกใช้วิธีนี้ในการเพิ่มมูลค่าหุ้นของบริษัท มาโดยตลอด
แต่ก็ต้องบอกก่อนว่า บริษัทเหล่านี้มักจะทำการซื้อหุ้นคืน ก็ต่อเมื่อ หุ้นที่กำลังซื้อขายกันอยู่ในตลาด มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง
การซื้อหุ้นคืนนี้เอง มักจะเป็นท่าที่บริษัทที่มีผลประกอบการที่ดีใช้กัน ในการเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท
โดยจะนำกำไรส่วนเกินที่มี มาซื้อหุ้นคืนในปริมาณมาก เมื่อซื้อหุ้นคืนแล้ว หากบริษัทไม่นำหุ้นที่ซื้อคืนออกมาขายในตลาดอีกรอบ บริษัทก็จะต้องลดทุนจดทะเบียนลง
ถ้าบริษัทลดทุนจดทะเบียนลงเป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบนั่นเอง
แต่ก็ต้องอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ต่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบหนัก แต่ถ้าในระยะยาว ผลประกอบการของบริษัทยังคงดีอยู่ คือทำธุรกิจแล้วมีกำไรอย่างต่อเนื่อง ไม่นาน ส่วนของผู้ถือหุ้นก็จะกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง
ซึ่งข้อดีของวิธีการนี้ก็คือ บริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นให้กับผู้ถือหุ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินปันผล
เพราะหากเลือกจ่ายเงินปันผล ก็อาจจะทำให้บริษัทต้องเสียภาษีมากขึ้น แต่ถ้าเลือกใช้วิธีซื้อหุ้นคืน บริษัทก็อาจจะเสียภาษีน้อยกว่า
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงพอเข้าใจกันแล้วว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ติดลบในงบดุลนั้น เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
บางครั้ง เราอาจจะเห็นว่าส่วนของผู้ถือหุ้นกำลังติดลบอยู่ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า บริษัทกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่แย่
ดังนั้นเราควรตรวจสอบผลประกอบการของบริษัทในเชิงลึกเสียก่อน
ถ้าผลประกอบการของบริษัทมีแต่การขาดทุนต่อเนื่องมาตลอด จนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ก็สามารถพูดได้ว่า บริษัทกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
แต่หากเป็นไปในกรณีที่ว่า รายได้และกำไรของบริษัทเติบโตดีมาตลอด, ไม่มีปัญหาสภาพคล่อง และกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนของผู้ถือหุ้นเกิดการติดลบขึ้นมา
ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า บริษัทกำลังสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น โดยการซื้อหุ้นคืนก็ได้..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.