“OPEC ข้าว” โปรเจกต์ใหญ่ของไทย ที่ไปไม่ถึงฝัน - BillionMoney
“ข้าว” เป็นหนึ่งในแหล่งอาหารสำคัญ ไม่เพียงแต่ในแถบทวีปเอเชียเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่เลี้ยงปากท้อง ของผู้คนกว่า 3.5 พันล้านคนทั่วโลก โดยมีประเทศไทย เป็นทั้งหนึ่งในผู้ผลิต และผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก

“OPEC ข้าว” โปรเจกต์ใหญ่ของไทย ที่ไปไม่ถึงฝัน
15 พ.ค. 2023
แต่รู้หรือไม่ว่า ครั้งหนึ่งประเทศไทย เคยมีความพยายาม ที่จะจับมือกับผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อื่น ๆ สร้างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าว เพื่อที่จะสามารถควบคุมราคาข้าวในตลาดโลกได้
โดยความร่วมมือที่คล้าย ๆ กันนี้ในปัจจุบัน ก็คือกลุ่ม OPEC ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมราคาน้ำมันโลก
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ไทยเคยจะสร้าง OPEC ข้าว นั่นเอง
และถ้าหากคุณสงสัย ว่าเพราะอะไร โครงการรวมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าว ถึงไปไม่ถึงฝั่งฝันในวันนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
แนวคิดเรื่องการจับมือกัน ของผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2545 โดยมีกระทรวงพาณิชย์ ณ ขณะนั้น เป็นผู้ผลักดัน
เนื่องจากในช่วงปี 2540 ถึงปี 2541 ราคาข้าวของไทย ตกต่ำเป็นอย่างมาก ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์เชื่อว่า ราคาข้าวที่ตกต่ำนั้น เกิดจากการที่ผู้ส่งออกข้าวในแต่ละประเทศ ต่างก็พากันตัดราคาขายข้าวกัน จนทำให้ต้องกดราคาข้าว ที่รับซื้อมาจากชาวนา
เพราะฉะนั้นแล้ว การรวมกลุ่มกันของผู้ส่งออกข้าวจากแต่ละประเทศ เพื่อกำหนดราคาข้าวนั้น ก็จะทำให้การตัดราคาเพื่อรับซื้อข้าวนี้หายไป ทำให้ราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้น และชาวนาไทยก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย
กระทรวงพาณิชย์ จึงได้จัดการประชุม กับผู้ส่งออกข้าวอีก 4 ประเทศ ได้แก่ จีน, อินเดีย, ปากีสถาน และเวียดนาม เพื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือการค้าข้าว
นอกจากนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์นั้น ได้ประมาณการว่า ถ้าหากจัดตั้งองค์กรนี้ได้สำเร็จ ราคาข้าวของไทย จะเพิ่มขึ้นประมาณ 30% เลยทีเดียว
แต่อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ก็ไม่ได้มีความคืบหน้ามากนัก และประเทศไทย ก็ยังไม่สามารถจัดตั้ง องค์กรสำหรับการค้าข้าวได้สำเร็จ อย่างที่ตั้งใจไว้
หลังจากนั้นในช่วงปี 2551 ที่นายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย ก็ได้มีความพยายาม ในการรวมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าวอีกครั้ง
ซึ่งมีกระทรวงพาณิชย์ ที่ในตอนนั้นมีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นรัฐมนตรี ให้การผลักดัน
ซึ่งกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าวในครั้งนี้จะใช้ชื่อว่า OREC ซึ่งย่อมาจาก Organization of the Rice Exporting Countries เพื่อให้ล้อกับกลุ่ม OPEC ที่เป็นการรวมกลุ่มของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน
โดยประเทศที่ไทยเข้าไปเจรจาให้เป็นสมาชิกนั้น ประกอบไปด้วย กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งถ้าหากเราดูตัวเลขการส่งออก ในปี 2550 จะพบว่า
ประเทศไทย ส่งออกข้าวเป็นอันดับที่ 1 ของโลก มูลค่า 121,877 ล้านบาท
ประเทศเวียดนาม ส่งออกข้าวเป็นอันดับที่ 2 ของโลก มูลค่า 51,569 ล้านบาท
ประเทศเมียนมา ส่งออกข้าวเป็นอันดับที่ 60 ของโลก มูลค่า 88 ล้านบาท
ประเทศกัมพูชา ส่งออกข้าวเป็นอันดับที่ 64 ของโลก มูลค่า 75 ล้านบาท
ประเทศลาว ส่งออกข้าวเป็นอันดับที่ 71 ของโลก มูลค่า 60 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ สำหรับการรวมกลุ่มแบบนี้ มีอยู่ด้วยกัน 3 ปัจจัย ก็คือ
1.ข้าวเป็นสินค้าที่ทดแทนได้ง่าย
แม้ข้าวจะเป็นอาหารที่เลี้ยงปากท้องของประชากรโลกจำนวนมาก อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของประชากรโลก ที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก ก็อยู่เพียงแค่ประมาณ 40% เท่านั้น หรือก็คือ ในโลกใบนี้มีคนที่กินข้าวทุกวันอยู่ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง
เพราะผู้คนในประเทศต่าง ๆ ยังมีการกินพืชชนิดอื่น เช่น หัวมัน และเมล็ดธัญพืชอื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ แม้ในประเทศที่กินข้าวเป็นหลัก ก็ยังกินข้าวคนละประเภทกัน
เช่น ผู้คนในเอเชียใต้ ก็จะกินข้าวบาสมาตี หรือผู้คนในญี่ปุ่นและเกาหลี ก็จะกินข้าวญี่ปุ่น เป็นต้น
ซึ่งเมื่อเทียบกับน้ำมันแล้ว แม้ว่าจะเริ่มมีการนำเชื้อเพลิงทดแทนหรือไฟฟ้า มาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้รถยนต์บ้างแล้ว แต่สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าว ก็ถือว่ายังน้อยมาก
แถมส่วนใหญ่ ยังต้องเป็นการผสมระหว่างน้ำมัน และเชื้อเพลิงทดแทน จึงทำให้น้ำมัน กลายเป็นสินค้าที่หาสิ่งทดแทนได้ยากกว่าข้าวอย่างมาก
2.ไม่มีอำนาจในการควบคุมปริมาณข้าว
ปริมาณน้ำมันที่กลุ่ม OPEC สามารถผลิตได้ในปี 2550 นั้น คิดเป็นประมาณ 37% ของปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ทั่วโลก
ในขณะที่ปริมาณการผลิตข้าวของกลุ่ม OREC ในปีเดียวกันนั้น ถ้าหากคิดรวมกันแล้ว ก็จะอยู่เพียงแค่ 13% จากปริมาณการผลิตข้าวทั่วโลก
สิ่งที่ทำให้สัดส่วนปริมาณการผลิตข้าวของกลุ่ม OREC ดูน้อยนิด เมื่อเทียบกับทั้งโลก ก็เนื่องมาจากการที่หลายประเทศ สามารถปลูกข้าวเป็นจำนวนมากได้เช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะแค่ในกลุ่ม OREC เท่านั้น
ในขณะที่ทุกประเทศ ไม่ได้มีน้ำมันมหาศาล แบบประเทศสมาชิกกลุ่ม OPEC จึงทำให้ประเทศกลุ่ม OPEC มีอำนาจในการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมัน ซึ่งนำไปสู่ความสามารถในการควบคุมราคาน้ำมัน ให้ขึ้นลงได้ในที่สุด
3.สมาชิกกลุ่ม OREC ยังคงมีแรงจูงใจให้ตัดราคา
แม้กลุ่ม OREC จะมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศผู้ส่งออกข้าว ไม่ตัดราคากันในตลาดโลก แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศต่าง ๆ ก็ยังคงมีแรงจูงใจให้ตัดราคากันอยู่ดี
เพราะถ้าหากการรวมกลุ่มกันเพื่อ “ฮั้ว” ราคาข้าวแบบนี้ จะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นจริง ชาวนาในประเทศสมาชิก OREC ต่าง ๆ ก็จะมีแรงจูงใจ ในการผลิตข้าวมากยิ่งขึ้น จนทำให้ปริมาณข้าวที่ผลิตได้มีจำนวนมากจนล้น
สิ่งที่ผู้ส่งออกข้าวแต่ละประเทศจะทำได้ ก็คือการรีบระบายข้าวออกมาในตลาดโลก และยิ่งเวลานานไป ราคาข้าวที่ขายออกมาก็จะยิ่งถูกลง
เพราะข้าวไม่ใช่สินค้าที่สามารถเก็บไว้ได้นานเหมือนกับน้ำมัน ส่งผลให้ถ้าหากเก็บข้าวไว้นาน ก็จะยิ่งทำให้ข้าวเสื่อมสภาพ และราคาตกลงเรื่อย ๆ อีกทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาข้าวด้วย
เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ ก็จะนำไปสู่การที่ประเทศในกลุ่ม OREC ต่างก็ต้องนำข้าวออกมาขาย ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ฮั้วกันไว้ และอาจจะทำให้หลังจากนี้ ประเทศในกลุ่ม OREC ก็ไม่มีใครสนใจที่จะทำตามกฎอีกต่อไป
ซึ่งนอกจากเหตุผลเหล่านี้แล้ว การตั้งกลุ่ม OREC ยังอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร สำหรับประเทศอื่น ๆ จากราคาข้าวที่แพงขึ้น และอาจจะขัดกับกฎหมายทางด้านการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย
จึงทำให้สุดท้ายแล้ว แนวคิดการก่อตั้งกลุ่ม OREC ที่มีผู้นำเป็นประเทศไทย ก็ถูกยกเลิกไป ในเวลาเพียงแค่ 1 อาทิตย์เท่านั้น หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช กล่าวว่าได้มีการเจรจาที่จะจัดตั้งกลุ่ม OREC ขึ้น
และทำให้แนวคิด การรวมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าว ในลักษณะนี้ ก็ไม่เคยถูกนำกลับมาเป็นที่พูดถึง ของรัฐบาลไทยอีกเลย หลังจากนั้น..
References
-https://www.openaccessgovernment.org/sustainable-rice/129439/
-https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/07/YE2002_2_03.pdf
-https://www.thairath.co.th/content/252547
-https://oec.world/en/profile/hs/rice?yearSelector1=2007
-https://www.opec.org/opec_web/static_files_project/media/downloads/publications/AR2007.pdf
-https://www.fao.org/faostat/en/#data/QCL
-https://en.wikipedia.org/wiki/OREC
-https://web.archive.org/web/20080510192451/http://www.theaustralian.news.com.au/story/0,25197,23650351-2703,00.html
-https://www.nytimes.com/2008/05/06/business/worldbusiness/06iht-baht.4.12621295.html
-https://www.openaccessgovernment.org/sustainable-rice/129439/
-https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/07/YE2002_2_03.pdf
-https://www.thairath.co.th/content/252547
-https://oec.world/en/profile/hs/rice?yearSelector1=2007
-https://www.opec.org/opec_web/static_files_project/media/downloads/publications/AR2007.pdf
-https://www.fao.org/faostat/en/#data/QCL
-https://en.wikipedia.org/wiki/OREC
-https://web.archive.org/web/20080510192451/http://www.theaustralian.news.com.au/story/0,25197,23650351-2703,00.html
-https://www.nytimes.com/2008/05/06/business/worldbusiness/06iht-baht.4.12621295.html