ทำไม ประเทศไทย ถึงกลายเป็น ผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศ อันดับ 2 ของโลก

ทำไม ประเทศไทย ถึงกลายเป็น ผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศ อันดับ 2 ของโลก

27 เม.ย. 2023
ทำไม ประเทศไทย ถึงกลายเป็น ผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศ อันดับ 2 ของโลก - BillionMoney
รู้หรือไม่ว่า เครื่องปรับอากาศ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “แอร์” นั้น ไม่เพียงแต่เป็นสินค้าที่สำคัญ สำหรับชาวไทย โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนแบบนี้เท่านั้น
แต่เครื่องปรับอากาศ ยังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ที่มีมูลค่ามากถึง 243,600 ล้านบาท เมื่อปีที่ผ่านมา
ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีนอีกด้วย
และหากคุณสงสัยว่า เพราะอะไร ถึงทำให้ประเทศไทย ก้าวขึ้นเป็น ผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศอันดับ 2 ของโลก ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
ชาวไทยนั้น ผูกพันกับเครื่องปรับอากาศ มาเป็นเวลานานมากกว่าที่เราคิด โดยชาวไทยได้รู้จักกับเครื่องปรับอากาศเครื่องแรก ในปี 2478 หรือเมื่อเกือบ 90 ปีที่แล้ว
จากการที่เครื่องปรับอากาศ ได้ถูกนำมาติดตั้งที่โรงมหรสพหลวง ศาลาเฉลิมกรุง โดยบริษัทสัญชาติอเมริกันอย่าง Carrier ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายแรกของโลก
ซึ่งในตอนนั้น เครื่องปรับอากาศ ยังไม่ได้แพร่หลายนัก เนื่องจากราคาที่แพงมาก และเครื่องปรับอากาศสำหรับครัวเรือน ยังไม่มีการนำเข้ามาขายในไทย
แต่ต่อมา ก็ได้เริ่มมีการนำเข้า เครื่องปรับอากาศสำหรับครัวเรือนมาขาย โดยบริษัท บี.กริม ได้เริ่มนำเข้าเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ Carrier ในปี 2505
นอกจากนี้ ยังมีการเริ่มผลิตเครื่องปรับอากาศที่ไทย
โดยบริษัท ซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริค ที่เป็นผู้ผลิตรายแรกของไทย ในปี 2503 อีกด้วย
เวลาได้ล่วงเลยมาจนถึงปี 2530 ก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นคือ “ข้อตกลงพลาซา” ที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่น จำเป็นต้องเพิ่มค่าเงินเยนของตัวเอง ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินเยนนั้นแข็งค่าขึ้น
ประกอบกับค่าแรงในประเทศญี่ปุ่นเอง ก็เริ่มแพงขึ้นเรื่อย ๆ
ส่งผลให้ผู้ประกอบการในญี่ปุ่น เริ่มสูญเสียความสามารถในการส่งออกไป จึงได้มองหาประเทศที่จะเข้าไปลงทุนตั้งโรงงาน ซึ่งประเทศไทยเองก็ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุดในขณะนั้น
จึงเป็นเหตุให้มีโรงงานของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ผุดขึ้นมาในไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งโรงงานเหล่านั้นก็มักจะเป็นโรงงานผลิตรถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงเครื่องปรับอากาศด้วยนั่นเอง
หากเราลองไปดู ตัวเลขการส่งออกเครื่องปรับอากาศของประเทศไทยที่ผ่านมา จะพบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ปี 2535 มูลค่าการส่งออก 9,900 ล้านบาท อันดับที่ 6 ของโลก
ปี 2545 มูลค่าการส่งออก 38,035 ล้านบาท อันดับที่ 4 ของโลก
ปี 2555 มูลค่าการส่งออก 139,725 ล้านบาท อันดับที่ 2 ของโลก
ปี 2565 มูลค่าการส่งออก 243,600 ล้านบาท อันดับที่ 2 ของโลก
ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทย ยังสามารถรักษาสถานะ ผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศรายใหญ่ มาจนถึงปัจจุบันนี้ได้นั้น ก็เนื่องมาจาก
1.ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ประเทศไทยนั้น คุ้นเคยกับการผลิตเครื่องปรับอากาศมาเป็นเวลานาน จากการที่บริษัท ซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริค ได้เริ่มผลิตเครื่องปรับอากาศในไทย
ส่งผลให้ประเทศไทย มีแรงงาน และผู้ประกอบการ ที่คุ้นเคยกับการผลิตเครื่องปรับอากาศ รวมไปถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องปรับอากาศอยู่แล้ว แถมยังมีตัวแทนจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ ที่มีประสบการณ์ อย่างบริษัท บี.กริม
ทำให้ประเทศไทยนั้น มีห่วงโซ่อุปทานของการผลิตเครื่องปรับอากาศ นานถึง 30 กว่าปี ก่อนที่บริษัทญี่ปุ่น จะเริ่มเข้ามาลงทุนอย่างจริงจังในไทยเสียอีก
และเมื่อมีการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มเข้ามา ก็ทำให้แรงงานไทย ได้พัฒนาฝีมือขึ้น จากการทำงานในโรงงานของต่างชาติ รวมถึงผู้ประกอบการไทย ก็ได้ปรับตัวมาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน เพื่อป้อนให้กับโรงงานเหล่านั้น ได้ไม่ยาก
โดยจากข้อมูลล่าสุด ในปี 2561 พบว่า ประเทศไทยมีโรงงานประกอบ และโรงงานผลิตชิ้นส่วน ของเครื่องปรับอากาศ มากถึง 224 โรงงาน เลยทีเดียว
2.ต่างชาติลงทุนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนักลงทุนชาวญี่ปุ่นแล้ว ยังมีนักลงทุนชาติอื่น ๆ ที่ได้มาลงทุนสร้างโรงงาน ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน จึงทำให้ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีเครื่องปรับอากาศ หลากหลายยี่ห้อ จากหลากหลายสัญชาติ
แบรนด์ญี่ปุ่น เช่น Daikin, Mitsubishi, Panasonic และ Hitachi
แบรนด์เกาหลีใต้ เช่น Samsung และ LG
แบรนด์จีน เช่น Haier
แบรนด์อเมริกัน เช่น Carrier, Trane และ York
และการที่มีนักลงทุนหลากหลายสัญชาติมาลงทุน ก็ได้ทำให้ผู้ประกอบการชาวไทย ได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีใหม่ ๆ
จนเกิดแบรนด์เครื่องปรับอากาศสัญชาติไทยตามมาอีกด้วย เช่น Saijo Denki, Eminent และ Central Air
3.ตลาดส่งออกยังขยายตัวอยู่
ตลาดส่งออกเครื่องปรับอากาศ ที่ใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, เวียดนาม, อินเดีย และไต้หวัน
ซึ่งประเทศเหล่านี้ ก็เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ และประชากรยังขยายตัว ส่งผลให้ยังมีความต้องการนำเข้าเครื่องปรับอากาศ จากประเทศไทยอยู่เรื่อย ๆ
นอกจากนี้ ด้วยความที่เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านของไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้มีความต้องการนำเข้าเครื่องปรับอากาศ จากประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มเติมขึ้นมาอีกด้วย
โดยจากข้อมูลล่าสุดของ Japan Refrigeration and Air Conditioning Industry Association หรือ JRAIA ได้ประมาณการไว้ว่า
ความต้องการเครื่องปรับอากาศของภูมิภาคอาเซียน มีมากถึงประมาณ 7,500,000 เครื่อง ซึ่งคิดเป็น 42% ของความต้องการเครื่องปรับอากาศ ในทวีปเอเชียเลยทีเดียว
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นนี้เอง ก็ได้ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศในไทย
ก็ได้กลายเป็นผู้ส่งออกความเย็น ให้กับผู้คนทั่วโลก มากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน นั่นเอง..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.