Event-Driven กลยุทธ์การทำกำไร จากเหตุการณ์พิเศษ

Event-Driven กลยุทธ์การทำกำไร จากเหตุการณ์พิเศษ

12 เม.ย. 2023
Event-Driven กลยุทธ์การทำกำไร จากเหตุการณ์พิเศษ - BillionMoney
ในโลกของการลงทุนนั้น มักจะมีเหตุการณ์พิเศษ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาบ่อย ๆ แต่กลับส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญ
รู้หรือไม่ว่า เราสามารถสร้างกลยุทธ์การลงทุน เพื่อทำกำไรจากเหตุการณ์พิเศษเหล่านี้ได้เสมอ เรียกว่ากลยุทธ์ “Event-Driven”
กลยุทธ์ Event-Driven คืออะไร
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ แบบง่าย ๆ
กลยุทธ์ Event-Driven เป็นกลยุทธ์การทำกำไรจากเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นมาเป็นครั้งคราว เช่น
-การเข้าซื้อกิจการ
-การปรับโครงสร้างองค์กร
-การปรับเปลี่ยนนโยบายทางบัญชี
เหตุการณ์ที่กล่าวไปข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ยังมีเหตุการณ์พิเศษอื่น ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้อีกมากมาย
กลยุทธ์นี้เป็นที่นิยมมากในหมู่นักลงทุนประเภท Hedge Fund เช่น กองทุน Elliott Investment Management ที่ชอบทำกำไรจากตราสารหนี้ของบริษัท หรือประเทศที่ใกล้ล้มละลาย ที่ให้ผลตอบแทนสูง
กองทุนเหล่านี้จะเข้าไปศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดว่า เจ้าหนี้ที่ใกล้ล้มละลายเหล่านี้ มีความสามารถในการชดใช้หนี้หรือไม่
หากเจ้าหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ กองทุนนี้ก็จะซื้อตราสารหนี้ในราคาต่ำ แล้วเข้าไปมีบทบาทในการติดตามหนี้
อีกตัวอย่างของการทำกำไรโดยใช้กลยุทธ์นี้ ก็คือ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีเหตุการณ์เรื่อง Credit Suisse เสี่ยงที่จะล้มละลาย หลังจากที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เป็นธนาคารซาอุดีอาระเบีย ประกาศว่าจะไม่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแล้ว
เพราะก่อนหน้านี้ Credit Suisse ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก จากการปล่อยกู้ที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง
กองทุน Hedge Fund ที่ชื่อว่า Marathon Asset Management ได้วิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด
แล้วพบว่า ธนาคาร Credit Suisse เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญกับระบบการเงินโลก และเป็นหน้าตาของอุตสาหกรรมการเงินของสวิตเซอร์แลนด์
จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์จะเข้ามาแทรกแซงไม่ให้ธนาคารนี้ล้ม
กองทุนนี้จึงเข้าไปกว้านซื้อหุ้นกู้ของ Credit Suisse ที่ราคาปรับตัวลงมาอย่างหนัก และไม่กี่วันต่อมา ธนาคาร Credit Suisse ก็ประกาศรับซื้อหุ้นกู้คืนทั้งหมดในราคาที่สูงกว่าตลาด
ส่งผลให้ กองทุน Marathon สามารถทำเงินได้กว่าพันล้านบาท หรือคิดเป็นกำไร 20% ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน
หลังจากนั้นไม่นาน หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของ
สวิตเซอร์แลนด์ก็ร้องขอให้ UBS ซื้อกิจการ Credit Suisse เพื่อไม่ให้ Credit Suisse ล้ม
กลับมาที่การลงทุนในประเทศไทย รู้หรือไม่ว่า ที่ผ่านมา ในตลาดหุ้นไทยเองก็มีสถานการณ์พิเศษที่ให้โอกาสเราเข้าไปทำกำไรมากมาย
ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 2020 เครือโรงพยาบาล BDMS ต้องการเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงทำคำเสนอซื้อหุ้นจากนักลงทุนรายย่อย ที่ราคาหุ้นละ 125 บาท
แต่แล้วก็เกิดการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ จากเหตุการณ์โรคระบาด ทาง BDMS จึงตัดสินใจเลื่อนแผนการทำ Tender Offer ออกไปแบบไม่มีกำหนด ในช่วงเย็นของวันที่ 25 มีนาคม
เช้าวันถัดมา เมื่อตลาดหุ้นเปิดทำการ หุ้นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ปรับตัวลดลงมากที่สุดถึง 16% ก่อนที่จะมีแรงซื้อกลับมาบางส่วนในช่วงบ่าย จนราคาหุ้น ณ สิ้นวันปรับตัวลดลงเหลือ 10%
อย่างไรก็ตาม แม้การเลื่อนแผน Tender Offer จะทำให้นักลงทุนที่ก่อนหน้านี้ไล่ซื้อหุ้นในราคาตลาด เพื่อหวังจะทำกำไรจากการขายหุ้นให้ BDMS ที่ราคา 125 บาทต่อหุ้น ต้องพบกับความผิดหวัง และเทขายหุ้นออกมา
แต่ในแง่ของปัจจัยพื้นฐานของบริษัทแล้ว ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แม้จะเจอความเสี่ยงเรื่องการปิดประเทศ แต่ในตอนนั้นราคาหุ้นก็ตอบรับประเด็นนี้ไปมากแล้ว
สุดท้ายราคาหุ้นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ใช้เวลาเพียง 12 วัน ก็สามารถกลับไปซื้อขายที่ราคาใกล้เคียงกับระดับเดิมช่วงก่อนถูกเทขายได้ในที่สุด
หากใครสามารถวิเคราะห์ได้ว่า เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำธุรกิจของบริษัท ก็จะสามารถทำกำไรในหุ้นตัวนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 10% ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน
และนี่ก็เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งของการใช้กลยุทธ์ Event-Driven ในตลาดหุ้นไทยเท่านั้น ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เราสามารถแสวงหาโอกาสในการทำกำไรได้
โดยแก่นสำคัญของกลยุทธ์นี้ก็คือ การค้นหาข้อเท็จจริงของแต่ละเหตุการณ์อย่างละเอียด และวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์พิเศษนั้น มันส่งผลกระทบในระยะสั้น หรือระยะยาวอย่างไร
ถ้าเราวิเคราะห์และค้นหาข้อเท็จจริงแบบนักลงทุนมืออาชีพ โดยไม่มีอคติในการลงทุน ตัดความรู้สึกและอารมณ์ส่วนตัวออกไป เราก็จะสามารถทำกำไรจากความโกลาหลของตลาดได้อย่างแน่นอน..
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.