“Doom Loop” เรื่องแย่อย่างหนึ่ง มักนำไปสู่ เรื่องแย่ ๆ อีกมากมาย

“Doom Loop” เรื่องแย่อย่างหนึ่ง มักนำไปสู่ เรื่องแย่ ๆ อีกมากมาย

6 มี.ค. 2023
“Doom Loop” เรื่องแย่อย่างหนึ่ง มักนำไปสู่ เรื่องแย่ ๆ อีกมากมาย - BillionMoney
เราเคยพบเจอไหมว่า เวลาเกิดเหตุการณ์แย่เรื่องหนึ่งขึ้น หลายครั้ง มักจะมีเรื่องแย่อื่นตามมาอีกมากมาย
รู้ไหมว่า ในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้น ปรากฏการณ์แบบนี้ มีคำอธิบายเรียกกันว่า “Doom Loop”
แล้วเหตุการณ์อะไรบ้าง ที่เป็นตัวอย่างของ Doom Loop
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
Doom Loop นั้น ถูกใช้อธิบายสถานการณ์ที่ มีปัจจัยเชิงลบอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดปัจจัยเชิงลบอื่นตามมา จนสถานการณ์แย่ลง กลายเป็นวังวนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ
เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น เราลองมาดูเหตุการณ์นี้กัน
เงินดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยที่นักลงทุนต้องการถือครอง โดยเฉพาะในช่วงที่มีความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจโลก
ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐมีบทบาทสำคัญในการค้าโลก
เมื่อความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศอื่น
ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของประเทศเหล่านั้น เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การค้าขายระหว่างประเทศนั้นลดลง จนนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
และเมื่อนักลงทุนเกิดความกังวลในภาวะเศรษฐกิจถดถอย จะหันไปถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศอื่น อ่อนค่าลงไปอีก ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศลดลง ซึ่งจะวนเป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
โดยปรากฏการณ์นี้ เรียกกันว่า Dollar Doom Loop นั่นเอง
อีกหนึ่งในปรากฏการณ์ที่ถูกมองว่าเป็น Doom Loop อย่างชัดเจนก็คือ วิกฤติหนี้สาธารณะกรีซ ในปี 2522
โดยวิกฤตินี้ก่อตัวขึ้น หลังจากที่กรีซนั้น เผชิญกับการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก
จากระดับที่ต่ำกว่า 5% ของ GDP ในปี 2542 มาอยู่ที่ระดับ 15% ของ GDP ในปี 2552
ทำให้เกิดเรื่องแย่ ๆ ตามมาหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่
-การขาดดุลงบประมาณที่สูง ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือหลายแห่ง ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ภาครัฐของกรีซ ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของกรีซเพิ่มสูงขึ้น
-ซึ่งก็ทำให้นักลงทุนยิ่งรู้สึกกลัว และตัดสินใจขายตราสารหนี้เหล่านั้นทิ้งไป
-ส่งผลให้ธนาคารหลายแห่งในประเทศ ที่ถือครองตราสารหนี้ภาครัฐ ต้องขาดทุนอย่างหนัก จากราคาตราสารหนี้ที่ปรับลดลงอย่างรุนแรง
-จนธนาคารหลายแห่งต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาล ยิ่งทำให้ภาระหนี้ของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น
-พอเรื่องเป็นแบบนี้ นักลงทุนจึงยิ่งกลัวว่ารัฐบาลกรีซและประเทศในยุโรปที่มีหนี้จำนวนมาก จะไม่สามารถหาเงินมาใช้คืนให้แก่เจ้าหนี้ได้ จึงพากันขายตราสารหนี้ภาครัฐออกมา
-นอกจากนี้ การที่ธนาคารหลายแห่งขาดทุนมหาศาลจากมูลค่าที่ลดลงของพอร์ตตราสารหนี้ของธนาคาร ทำให้สภาพคล่องของธนาคารมีน้อยลง ส่งผลให้ปล่อยกู้ได้น้อยลง ซึ่งทำให้เศรษฐกิจตกต่ำไปด้วย
-เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ก็ทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้น้อยลง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกู้เงินมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมรายได้ภาษีที่หายไป
-แต่ด้วยภาระหนี้ที่มากอยู่แล้ว ก็ทำให้อันดับความน่าเชื่อถือลดลง
ดังนั้น ต้นทุนในการออกตราสารหนี้ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
วนลูปกันไปแบบนี้..
นักเศรษฐศาสตร์ จึงเรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “The Doom Loop of a Sovereign and a Banking Crisis”
และนี่คือเรื่องราวของ Doom Loop ที่เมื่อไรก็ตาม หากเกิดเรื่องแย่ ๆ ขึ้นอย่างหนึ่งแล้ว มักจะนำไปสู่เรื่องแย่ ๆ อื่นตามมานั่นเอง..
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.