ในโลกของการลงทุน เรามักจะเคยได้ยินคำว่า
“High Risk, High Return” หรือยิ่งเสี่ยงสูงก็ยิ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนมากขึ้นตามไปด้วย

สรุป เรื่องที่ควรรู้ ก่อนลงทุน ตราสารหนี้ขยะ
27 ธ.ค. 2022
ซึ่งแนวคิดนี้ก็สามารถนำมาอธิบายลักษณะของ ตราสารหนี้ขยะ หรือ Junk Bond
และถ้าสงสัยว่า ตราสารหนี้ขยะ คืออะไร
BillionMoney จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
BillionMoney จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
โดยทั่วไปนั้น เราสามารถแบ่งตราสารหนี้ตามการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
-กลุ่ม Investment Grade หรือ กลุ่มตราสารหนี้ที่อยู่ในระดับที่น่าลงทุน โดยมีเรตติงตั้งแต่ระดับ AAA ซึ่งเป็นอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุด ไล่ลงมาจนถึงระดับ BBB- ซึ่งเป็นอันดับความน่าเชื่อถือปานกลาง มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ในเกณฑ์ปานกลาง
-กลุ่ม Non-Investment Grade หรือ กลุ่มตราสารหนี้ที่เรตติงต่ำกว่าระดับที่น่าลงทุน คือ ตั้งแต่ระดับ BB+ ลงไป จนถึงระดับ D ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่มีอันดับการเก็งกำไร หรือ ตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง ซึ่งบางครั้งก็ถูกเรียกว่า Junk Bond หรือ ตราสารหนี้ขยะ นั่นเอง
ตราสารหนี้ขยะ เกิดขึ้นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริการาวปี 1970 ซึ่งในช่วงเวลานั้นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กส่วนใหญ่ ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้
บริษัทเหล่านี้ไม่มีประวัติการดำเนินงานที่ยาวนาน หรืออยู่ระหว่างช่วงที่ผลการดำเนินงานออกมายังไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไร แต่ต้องการเงินทุน จึงทำให้ต้องระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ที่จูงใจด้วยการจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จนเป็นจุดเริ่มต้นของตราสารหนี้ดังกล่าว
โดยในปี 2021 มูลค่าการออกตราสารหนี้ขยะทั่วโลกรวมกันนั้น สูงถึง 12.3 ล้านล้านบาท
แล้วข้อดีของการลงทุนในตราสารหนี้ขยะมีอะไรบ้าง ?
-ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ
ข้อนี้น่าจะเป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้นักลงทุนบางส่วนที่พร้อมรับความเสี่ยง ชื่นชอบที่จะลงทุนในตราสารหนี้ขยะ
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้ตราสารหนี้ที่ออกมารุ่นหลัง มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตราสารหนี้ที่ออกมาก่อนหน้า
ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน ที่ปรับขึ้นมาตลอดในปีนี้ ได้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของตราสารหนี้ขยะ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.4% เมื่อช่วงต้นปี มาอยู่ที่ 7.3% เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ถือว่าให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
-มีโอกาสที่ราคาตราสารหนี้จะปรับเพิ่มขึ้น จากการปรับสถานะเครดิตเรตติงของผู้ออกตราสารหนี้
ตามทฤษฎีการเงินนั้น ถ้าอัตราดอกเบี้ยลดลง ราคาตราสารหนี้มักจะปรับเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ในสถานการณ์ที่บริษัท ที่ออกตราสารหนี้ขยะ ได้รับการปรับเพิ่มสถานะเครดิตเรตติง ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถออกตราสารหนี้ขยะ ที่มีดอกเบี้ยที่ถูกลงได้นั้น
ผู้ที่ลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าว ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ก็มีโอกาสที่จะทำกำไร จากราคาตราสารหนี้ ที่ปรับเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
-ได้รับการชำระเงินก่อนผู้ถือหุ้น เมื่อบริษัทเข้าสู่กระบวนการการชำระบัญชีทรัพย์สิน
ไม่ว่าเราจะลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้ของบริษัท เมื่อใดก็ตามที่บริษัทมีปัญหาทางการเงิน จนไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อีกต่อไป ทั้งผู้ถือหุ้นกู้ หรือผู้ถือหุ้นสามัญ ต่างก็ได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทเข้าสู่กระบวนการการชำระบัญชีทรัพย์สิน ผู้ถือตราสารหนี้ขยะก็ยังได้รับการชำระเงินก่อนผู้ถือหุ้นสามัญอยู่ดี
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ตราสารหนี้ขยะเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่าหุ้นสามัญ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตราสารหนี้ขยะก็ยังมีข้อเสียอยู่หลายข้อ ได้แก่
-ความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นตราสารจะไม่ได้รับชำระหนี้
High Risk, High Return คือคำที่สามารถอธิบายลักษณะการลงทุนในตราสารหนี้ขยะได้เป็นอย่างดี
แม้ตราสารหนี้ลักษณะนี้จะให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตราสารหนี้ระดับลงทุน แต่ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ขยะก็มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระหนี้ ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
-ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
จากเหตุผลข้อแรก ก็ได้ทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อย หลีกเลี่ยงที่จะลงทุนในตราสารหนี้ขยะ ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนอยู่ อาจขายต่อตราสารหนี้ขยะได้ยากกว่าตราสารหนี้ทั่วไป
ในบางกรณีที่ต้องการขายภายในระยะเวลาอันสั้น ผู้ขายอาจต้องลดราคาของตราสารหนี้ขยะให้มากเพียงพอ เพื่อจูงใจให้คนซื้อต่อ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ขายอาจขาดทุนเป็นจำนวนมากได้เช่นกัน
-ความเสี่ยงด้านราคา เนื่องจากการปรับลดสถานะเครดิตเรตติงของบริษัท
จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ถ้าอัตราดอกเบี้ยลดลง ราคาตราสารหนี้ก็มักจะปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นในทางกลับกัน เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแล้ว ราคาตราสารหนี้ก็อาจจะปรับตัวลง
เมื่อใดก็ตามที่บริษัทผู้ออกตราสารหนี้ มีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดสถานะเครดิตเรตติงลง เนื่องจากผลประกอบการหรือสถานะทางการเงินมีแนวโน้มย่ำแย่ลง ราคาตราสารหนี้ขยะของบริษัทนั้น ก็อาจลดลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ การที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แม้จะทำให้ตราสารหนี้ขยะที่ออกใหม่ มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงจนดึงดูดให้นักลงทุนที่ชื่นชอบความเสี่ยงเข้ามาลงทุนกันมากขึ้น
แต่ต้องไม่ลืมว่า อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกตราสารหนี้ขยะ เสนอมานั้น ก็คือ ต้นทุนทางการเงินของบริษัท
ดังนั้น หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ต้นทุนทางการเงินของบริษัทที่ออกตราสารหนี้ขยะ ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ในอนาคตได้เช่นกัน
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงรู้แล้วว่า ตราสารหนี้ขยะคืออะไร และมีข้อดี หรือข้อเสียอย่างไรบ้าง
โดยข้อมูลดังกล่าวน่าจะมีประโยชน์ สำหรับคนที่กำลังสนใจจะลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าว ไม่มากก็น้อย..
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Credit_rating
-https://www.reuters.com/article/global-markets-bonds-idUSKCN2NC170
-https://www.bangkokbank.com/-/media/files/personal/save-and-invest/mutual-funds/fund-information/b-hy/b-hy_about.pdf?la=en&hash=7263FB5A44907F01C9CA004994FA9DBF8CB102DE
-https://www.marketwatch.com/story/junk-bonds-may-be-a-good-play-for-returns-that-are-competitive-with-stocks-but-less-volatile-11667473704
-https://en.wikipedia.org/wiki/Credit_rating
-https://www.reuters.com/article/global-markets-bonds-idUSKCN2NC170
-https://www.bangkokbank.com/-/media/files/personal/save-and-invest/mutual-funds/fund-information/b-hy/b-hy_about.pdf?la=en&hash=7263FB5A44907F01C9CA004994FA9DBF8CB102DE
-https://www.marketwatch.com/story/junk-bonds-may-be-a-good-play-for-returns-that-are-competitive-with-stocks-but-less-volatile-11667473704