
รู้จัก Family Office องค์กรบริหารทรัพย์สิน ของคนรวย
26 ธ.ค. 2022
หากใครเคยดูละครเรื่อง “เลือดข้นคนจาง” หรือซีรีส์เกาหลียอดฮิตอย่าง “Reborn Rich” น่าจะเคยเห็นถึงความขัดแย้งเรื่องการสืบทอดกิจการ และการแบ่งมรดก รวมถึงความขัดแย้งเรื่องอื่น ๆ ในครอบครัวใหญ่ จนส่งผลต่อการบริหารธุรกิจในเครือ
แต่รู้หรือไม่ว่า มีวิธีหนึ่งที่คนรวยหลายคนใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้
โดยวิธีดังกล่าวก็คือ การตั้ง สำนักงานครอบครัว หรือ Family Office ขึ้นมา เพื่อให้มาบริหารจัดการทรัพย์สิน
โดยวิธีดังกล่าวก็คือ การตั้ง สำนักงานครอบครัว หรือ Family Office ขึ้นมา เพื่อให้มาบริหารจัดการทรัพย์สิน
และถ้าหากคุณสงสัยว่า Family Office คืออะไร BillionMoney จะย่อยให้ฟัง ในแบบที่เข้าใจง่าย ๆ
Family Office หรือ สำนักงานครอบครัว เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมา เพื่อบริหารทรัพย์สิน ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย รวมถึงการดูแลเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การจองที่พัก การจัดหาผู้ช่วยส่วนตัว และงานการกุศล เป็นต้น
ทั้งนี้ การจัดตั้ง Family Office แห่งแรก เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ในปี 1868 โดย Thomas Mellon ผู้ก่อตั้ง Mellon Bank
นอกจากนี้ มหาเศรษฐีชื่อดังอย่าง John D. Rockefeller เอง ก็ได้มีการจัดตั้ง Family Office เพื่อบริหารความมั่งคั่งส่วนตัวที่ได้จากธุรกิจน้ำมัน และบริหารมูลนิธิเพื่อการกุศลของตัวเอง
เป้าหมายหลักของการจัดตั้ง Family Office ไม่ใช่การมุ่งเน้นทำกำไรจากการลงทุน แต่เป็นการรักษาความมั่งคั่งของผู้เป็นเจ้าของบริษัท
รวมถึงเป็นการแยกทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าของบริษัท กับทรัพย์สินของบริษัทออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องการนำทรัพยากรของบริษัทไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว จนส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายอื่น หรือฐานะทางการเงินของบริษัท
หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้ว Family Office ต่างจากการให้บริการของธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ของธนาคารอย่างไร ?
ก็ต้องบอกว่า Family Office กับธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ทำหน้าที่เหมือนกันทั้งเรื่องของการวางแผนการลงทุน และการวางแผนส่งต่อมรดก
แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ Family Office จะมีความคล่องตัวในการบริหารมากกว่า เนื่องจากเราสามารถเลือกที่จะบริหารเงินลงทุนได้เอง หรือจะเลือกผู้เชี่ยวชาญมาช่วยบริหารก็ได้ ในขณะที่การใช้บริการธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของธนาคาร ธนาคารจะเลือกผู้บริหารกองทุนให้เรา
นอกจากนี้ การจัดตั้ง Family Office ยังจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่าการใช้บริการบริหารความมั่งคั่งของธนาคารมาก
โดยส่วนใหญ่แล้ว เราควรมีเงินลงทุนอย่างน้อย 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 17,400 ล้านบาท ในการจัดตั้ง Family Office เพื่อให้กำไรจากการลงทุนมากกว่าค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งสำนักงาน
เพราะค่าใช้จ่ายเริ่มแรก จะมีมูลค่าประมาณ 70 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายรายปี จะอยู่ที่ประมาณ 0.4-1.2% ของสินทรัพย์ลงทุนทั้งหมด
แต่สำหรับการใช้บริการบริหารความมั่งคั่งของธนาคาร ถ้าหากเรามีเงินลงทุนเริ่มต้นแค่ 50 ล้านบาท ก็สามารถใช้บริการได้แล้ว
ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า ผู้ที่สามารถสร้าง Family Office ขึ้นมาได้ จะต้องเป็นเศรษฐีที่มีความมั่งคั่งระดับหมื่นล้านบาทขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม เจ้าของธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กก็สามารถนำแนวคิดเรื่องการแยกทรัพย์สินส่วนตัว กับทรัพย์สินของกิจการไปปรับใช้ได้
ทั้งนี้ ตามปกติแล้ว Family Office มักจะถูกจัดตั้งในประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีต่ำ หรือไม่เก็บภาษีเลย ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ Tax Haven
เมื่อถึงเวลาโอนทรัพย์สินให้เป็นมรดก หรือได้กำไรจากการลงทุนก็จะได้ไม่ต้องเสียภาษี
อย่างไรก็ตาม การมี Family Office อย่างเดียวก็อาจไม่เพียงพอต่อการส่งต่อมรดกให้ราบรื่น และหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในครอบครัว ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
สิ่งที่จำเป็นต้องมีอีกอย่าง ก็คือ “ธรรมนูญครอบครัว”
ธรรมนูญครอบครัว เป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เพื่อกำหนดบทบาท หน้าที่ และสิทธิประโยชน์ ที่สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวจะได้รับจากธุรกิจของครอบครัว
ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางธุรกิจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และมักเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สำหรับคนในครอบครัว จากที่เราได้เห็นมาในซีรีส์ และละครหลายเรื่อง
ดังนั้น การสร้างธรรมนูญครอบครัว จึงเป็นการวางโครงสร้างในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างมีระเบียบแบบแผน
นอกจากนี้การกำหนดบทบาทที่ชัดเจนให้กับสมาชิกในครอบครัว จะทำให้สมาชิกทุกคนในครอบครัว ได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม และป้องกันไม่ให้มีสมาชิกคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ตัวอย่างของตระกูลธุรกิจใหญ่ในไทย ที่มีการสร้างธรรมนูญครอบครัวก็คือ ตระกูลจิราธิวัฒน์
โดยตระกูลจิราธิวัฒน์ เริ่มมีการสร้างธรรมนูญครอบครัวมาตั้งแต่ปี 1997 และใช้เวลานานถึง 4 ปีกว่าจะเสร็จ
ซึ่งธรรมนูญครอบครัวนี้ก็ได้กลายมาเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ตระกูลจิราธิวัฒน์ สามารถบริหารบริษัทในเครือได้อย่างไม่มีปัญหา แม้จะส่งต่อการบริหารกิจการให้ทายาทมาหลายรุ่นแล้ว..
References:
-https://www.investopedia.com/terms/f/family-offices.asp
-https://www.idolplanner.com/family-charter?utm_source=google%20search&utm_medium=search%20ads&utm_campaign=Family%20Charter%20search%20ads&utm_term=Family%20Charter%20search%20ads&utm_content=Family%20Charter%20search%20ads&gclid=CjwKCAiAkfucBhBBEiwAFjbkr9UrvZvfDPTc5iWO1zhcrHCIkYrpz4uuXx4bZRrwvyPpnsCH6a1gYhoCrpcQAvD_BwE
-https://marketeeronline.co/archives/12445
-หนังสือ Wise Wealth โดย Joachim Schwass, Hakan Hillerstrom, Holger Kuck และ Colleen Lief
-https://www.investopedia.com/terms/f/family-offices.asp
-https://www.idolplanner.com/family-charter?utm_source=google%20search&utm_medium=search%20ads&utm_campaign=Family%20Charter%20search%20ads&utm_term=Family%20Charter%20search%20ads&utm_content=Family%20Charter%20search%20ads&gclid=CjwKCAiAkfucBhBBEiwAFjbkr9UrvZvfDPTc5iWO1zhcrHCIkYrpz4uuXx4bZRrwvyPpnsCH6a1gYhoCrpcQAvD_BwE
-https://marketeeronline.co/archives/12445
-หนังสือ Wise Wealth โดย Joachim Schwass, Hakan Hillerstrom, Holger Kuck และ Colleen Lief